อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด

วันที่ 25-05-2010 | อ่าน : 86445


อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด
 


 

        มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยอีกชนิดหนึ่งในประเทศไทย สาเหตุยังไม่แน่ชัดแต่พบว่าการสูบบุหรี่ การทำงานใกล้เหมืองแร่ที่มีเส้นใยแอสเบสตอส การสูดดมควันจากการเผาไหม้ หรือโรคปอดโดยเฉพาะวัณโรค ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดทั้งสิ้น โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการไอ เสมหะมีเลือดปน หายใจเหนื่อยอ่อนเพลีย น้ำหนักลด การรักษามีได้หลายวิธีมีทั้งการได้รับเคมีบำบัด ฉายแสง และการทำ Photodynamic therapy โดยการฉีดสารเคมีเข้าเส้นเลือด สารนั้นจะอยู่ที่เซลล์มะเร็งแล้วใช้เลเซอร์ฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งปอดจะแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ชนิดแรก คือ Non small cell cancer เซลล์มะเร็งชนิดนี้จะพบได้บ่อยเซลล์จะโตช้า ชนิดที่สอง Small cell carcinoma พบน้อยแต่เซลล์ชนิดนี้จะแพร่กระจายได้เร็ว

    ปอดเป็นอวัยวะที่เกี่ยวข้องในการหายใจ ถือเป็นส่zวนสำคัญมากของร่างกาย การหายใจแต่ละครั้งต้องใช้พลังงานในการหายใจ ซึ่งพลังงานเหล่านั้นก็มาจากอาหารนั่นเอง หากได้รับพลังงานไม่เหมาะสมทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะอ่อนล้า และทำให้ร่างกายอ่อนแอ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง ดังนั้น หลักโภชนาการที่ถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าไปเสริมการรักษาได้

การจัดอาหาร

ข้าวแป้ง
      ควรได้รับพลังงานจากข้าวแป้งเป็นหลัก ในกรณีที่เบื่ออาหารประเภทข้าวแป้ง สามารถเลือกใช้ขนมปังทดแทนได้ หากได้รับพวกข้าวไม่ขัดสีจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายอย่างมาก อาจคิดเป็นสัดส่วนโดยรับประทานคาร์โบไฮเดรต 60% ของพลังงานที่ต้องการในแต่ละวัน หากมีภาวะการหายใจลำบากร่วมด้วย ควรดูแลท่าทางในการรับประทานให้เหมาะสม คือ อยู่ในท่านั่งห้อยขา หลังตรง สบายๆ เพื่อให้อาหารเข้าสู่กระเพาะได้ง่าย อีกทั้งควรเตรียมลักษณะของคาร์โบไฮเดรตที่ไม่มีเนื้อสัมผัสหยาบเกินไป อาทิ ข้าวต้ม หรือน้ำหวานผสมให้ดื่ม หากผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ปกติแล้ว ก็สามารถรับประทานอาหารหมู่ข้าวแป้งได้เกือบทุกประเภท

เนื้อสัตว์
      สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด ยังไม่พบข้อห้ามในการจำกัดเนื้อสัตว์ในกลุ่มมะเร็งดังกล่าว  แต่อย่างไรก็ดีไขมันคงเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ดังนั้นควรงดเนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก เช่น สะโพกไก่ หมู หรือปลาที่ไม่เกล็ดบางชนิด เช่นปลาสวาย วิตามินดีที่มีในเนื้อสัตว์พวกปลาเล็กปลาน้อย รวมไปถึงในน้ำนม สามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดหลังการผ่าตัดสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ควรเลือกนมชนิดพร่องหรือขาดมันเนยเป็นหลัก

ไขมัน
     ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มาจากน้ำมันทอดซ้ำ และการใช้น้ำมันในการปรุงประกอบที่มากเกินไป ควรรับประทานไขมันแต่เพียงพอดี ประมาณ 5 ช้อนชา ต่อวัน น้ำมันที่ใช้ปรุงประกอบอาหารควรจะเลือกใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำมันมะกอก และน้ำมันรำข้าว

ผัก
    รับประทานผักได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผักในตระกูล คะน้า กะหล่ำปลี และบร็อคโคลี  ซึ่งมีงานวิจัยว่าเป็นผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งปอด และหากได้รับสารเบต้าแคโรทีนในปริมาณที่พอเหมาะ สามารถช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งปอดได้ แนะนำการรับประทานแครอทวันละ 2-3 หัวขนาดกลาง ไม่แนะนำการรับประทานเบต้าแคโรทีนในรูปแบบสังเคราะห์ทางเคมีเป็นเม็ดหรือแคปซูล แต่อย่างไรก็ดีการรับประทานผักควรเลือกซื้อผักปลอดสารพิษเป็นหลัก

ผลไม้
    ผลไม้ที่มีสีส้ม แดง จะให้สารฟลาโวนอยด์ flavonoid ซึ่งสารชนิดนี้มีผลในการต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งผลไม้ยังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นสารอาหารที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดต้องการอีกด้วย
 



 

ขอรับเอกสารเพิ่มเติมอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้