อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

วันที่ 25-05-2010 | อ่าน : 128993


อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
 


 

         มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในสตรี โดยสาเหตุที่เกิดมีหลากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม อาหารที่มีไขมันสูง  ฮอร์โมน ความอ้วนและกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น โดยสตรีควรทำการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนเพื่อสำรวจความผิดปกติ ในปัจจุบันทางการแพทย์เชื่อว่ามะเร็งเต้านมไม่ใช่โรคเฉพาะที่ แต่เป็นโรคทั้งระบบของร่างกาย ดังนั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดจึงไม่เพียงพอ อาจต้องได้รับเคมีบำบัด และยาต้านฮอร์โมนร่วมด้วย โดยการผ่าตัดจะมีทั้งแบบผ่าตัดเลาะเต้านมออกทั้งหมด และผ่าตัดบางส่วนในกรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ แต่หลังผ่าตัดอาจต้องรับการฉายแสงเพื่อควบคุมส่วนที่เหลือ

      ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่มักจะต้องได้รับการรักษาทั้งเคมีบำบัดและการฉายรังสี ดังนั้นผลข้างเคียงจึงมีมาก นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยที่มะเร็งเต้านมมักจะกลับมาเป็นซ้ำ เช่น เป็นข้างขวารักษาจนไม่พบมะเร็งแล้วแต่ต่อมาพบการกลับมาเป็นข้างซ้ายอีก เพราะฉะนั้นหากดูแลตนเองไม่ดีทั้งเรื่องของอาหารและการปฏิบัติตัว ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดมาเป็นซ้ำอีกได้สูง การดูแลน้ำหนักตัวถือเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม เนื่องจากเซลล์ไขมันสามารถส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจนได้

การจัดอาหาร

ข้าวแป้ง
      รับประทานข้าวแป้งโดยได้รับคาร์โบไฮเดรต 50-55% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการทั้งหมดต่อวัน ควรรับประทานข้าวแป้งเป็นอาหารหลักทั้ง 3 มื้อ ในผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยควรได้รับข้าวอย่างน้อยมื้อละ 2-3 ทัพพี พบว่าการได้รับธัญพืช โดยเฉพาะธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น ช่วยให้ร่างกายได้รับโฟเลทซึ่งสามารถให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งได้


 

เนื้อสัตว์
     เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงควรหลีกเลี่ยง อีกทั้งเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปิ้งย่างจนเกิดเขม่าควันควรหลีกเลี่ยง  รวมไปถึงเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้การรับประทานเต้าหู้หรือน้ำนมถั่วเหลืองวันละ 1  แก้วสามารถให้ผลดีต่อการป้องกันการเกิดมะเร็งและลดอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่รับประทานในปริมาณมากเกิน เพราะการได้รับถั่วเหลืองในปริมาณมากเกิน ก็สามารถส่งผลให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตขึ้นจากฤทธิ์ที่คล้ายคลึงกับฮอร์โมนเพศหญิงของถั่วเหลืองได้

ไขมัน
     ควรได้รับไขมันวันละ 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน และไม่รับประทานไขมันอิ่มตัว รวมไปถึงอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันแฝง เช่น เบเกอร์รี่ ไอศกรีม เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการได้รับพลังงานมากเกินทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมการเกิดโรคมะเร็งได้ สำหรับไขมันชนิดไม่อิ่มตัว โอเมก้า-3 จะมีผลในการลดการเสี่ยงการเกิดมะเร็ง แต่บางงานวิจัยก็ไม่มีผล ดังนั้นการรับประทานไขมันจึงควรรับประทานแต่พอดี

ผัก
     ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมหากได้รับผักเป็นปริมาณมาก จะดีกว่าการได้รับผลไม้ในปริมาณมาก เพราะในผลไม้จะมีน้ำตาลสูงทำให้เกิดไขมันสะสมได้ โดยหากรับประทานพวกผักใบเขียวจะไม่จำกัดจำนวนในการรับประทาน แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มที่ได้รับยาต้านฮอร์โมนกลุ่ม Tamoxifen ควรได้รับแครอทและดอกกะหล่ำเพิ่มบ้าง เพื่อลดอาการร้อนๆ หนาวๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างได้รับยา

ผลไม้
     เลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่มีรสหวานจัด และควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ผลไม้ที่มีสีแดงสดและมีสีออกแดงหรือสีส้ม ที่สามารถรับประทานได้ทั้งเปลือกเพราะให้สาร flavonoid ลดการเกิดมะเร็งได้

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้