ฝึกนกพิราบ ให้เป็นหมอวิเคราะห์โรคมะเร็ง

วันที่ 16-12-2015 | อ่าน : 5151


 

ฝึกพิราบให้เป็นหมอวิเคราะห์มะเร็ง


 
     นกพิราบถูกนำมาใช้ประโยชน์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมาย หรือแม้แต่การนำชิ้นส่วนของนกหลายชนิด ตั้งแต่จงอยปาก ขน หรือตับ ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคมาตั้งแต่ยุคโบร่ำโบราณ มีบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของหลายวัฒนธรรมตั้งแต่เมโสโปเตเมีย อียิปต์โบราณ เรื่อยไปจนถึงจีนในยุคเก่าแก่ แม้แต่ในโลกยุคที่มีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีอย่างเช่นในปัจจุบัน ทีมวิจัยทางการแพทย์จากสหรัฐอเมริกาก็ยังเชื่อว่านก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
นกพิราบสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้เช่นเดียวกัน
 
     ในรายงานผลการศึกษาวิจัยจากการทดลองซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ของทีมวิจัยทางการแพทย์จากคณะพยาธิวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เดวิส นำโดยนายแพทย์ ริชาร์ด เอ็ม. เลเวนสัน ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาประจำคณะ แสดงให้เห็นว่านกพิราบสามารถฝึกให้ใช้ความสามารถในการสังเกตและจดจำภาพ เพื่อจำแนกภาพของเนื้องอกธรรมดาๆ ออกจากเนื้องอกเป็นเป็นเนื้อร้ายหรือโรคมะเร็งได้ โดยมีความแม่นยำอยู่ในระดับสูง
 
     การศึกษาวิจัยดังกล่าวเริ่มต้นด้วยกระบวนการฝึกฝนนกพิราบจำนวน 16 ตัว ให้จดจำและจำแนกภาพของชิ้นเนื้อตัวอย่างที่ตัดออกมาเพื่อตรวจวิเคราะห์และมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งเต้านมนกพิราบถูกฝึกให้เลือกคำตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ผ่านการใช้จงอยปากจิกปุ่มบนหน้าจอทัชสกรีนที่แสดงภาพของชิ้นเนื้อดังกล่าวนั้นทุกครั้งที่นกเลือกคำตอบที่ถูกต้องของแต่ละภาพจะได้รับรางวัลเป็นอาหารเม็ดสำหรับนกพิราบขนาด45 มิลลิกรัม
     หลังผ่านการฝึกดังกล่าวระยะหนึ่ง ทีมวิจัยพบว่านกพิราบที่ฝึกสามารถจำแนกชิ้นเนื้อที่มีโอกาสพัฒนาเป็นเนื้อร้ายและโรคมะเร็งเต้านมซึ่งแสดงผ่านหน้าจอได้ถูกต้องสูงถึง85เปอร์เซ็นต์ และหากลดรายละเอียดในการจำแนกลงเป็นการจำแนกก้อนเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง กับก้อนเนื้องอกที่เป็นมะเร็งทั่วๆ ไป (หมายถึงเป็นมะเร็งชนิดใดก็ได้ จากภาพขยายด้วยวิธีการใดก็ได้ อาทิ เมมโมแกรม, เอกซเรย์หรือเอ็มอาร์ไอสแกน) ทีมวิจัยพบว่าความแม่นยำของการจำแนกเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าทึ่งเป็น 99 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว
     ความแม่นยำในการจำแนกเนื้อร้ายดังกล่าวนั้น เทียบเท่ากับความแม่นยำในการจำแนกของแพทย์นักพยาธิวิทยาโดยเฉลี่ยนั่นเอง
 
     ผลจากการทดลองดังกล่าวทำให้ได้ข้อสรุปว่า ขีดความสามารถของนกพิราบไม่ได้เกิดขึ้นจากความจำเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับกระบวนการวิเคราะห์ภาพที่มันเห็นในสมองเล็กๆ ของมันอีกด้วย
 
     ตัวอย่างเช่นการวินิจฉัยภาพเมมโมแกรม (สำหรับการตรวจหามะเร็งเต้านม) ซึ่งไม่เหมือนภาพที่ได้จากวิธีการวินิจฉัยโรคอื่นๆ (เอกซเรย์, เอ็มอาร์ไอสแกน) นกพิราบไม่สามารถจำแนกส่วนที่เกิดความหนาแน่นผิดปกติของเนื้อเยื่อแบบที่มันจำแนกจากภาพเอกซเรย์หรือเอ็มอาร์ไอได้แต่มันยังสามารถวินิจฉัยเมมโมแกรมของมะเร็งเต้านมได้โดยอาศัยการจำลักษณะผิดปกติของการสะสมของแคลเซียมในเนื้อเยื่อจุดใดจุดหนึ่งซึ่งมักบ่งชี้ถึงมะเร็งเต้านมได้ทำให้การจำแนกของมันยังคงมีความแม่นยำสูงได้แบบเดียวกันกับการจำแนกจากภาพถ่ายเพื่อการวินิจฉัยโรคทั่วไป
 
     นายแพทย์เลเวนสันชี้ว่าเป็นไปได้ที่นกพิราบเหล่านี้มีความสามารถในการประเมินรายละเอียดของภาพที่ได้จากเทคนิคใหม่ๆได้ รวมทั้งสามารถวิเคราะห์ภาพที่ได้จากวิธีการในการประมวลและแสดงผลภาพหลากหลายอย่าง ผลประโยชน์ที่ได้ก็คือทำให้มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมงหรือหลายวันในการนำเอารายละเอียดของแต่ละภาพมาเปรียบเทียบกับเพื่อวินิจฉัย
 
     ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถเหลือเชื่อในการประมวลผลและวิเคราะห์ภาพของสมองนกพิราบอีกครั้งก่อนหน้านี้มีงานวิจัยหลายชิ้นในช่วง50 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่านกพิราบสามารถจดจำและจำแนกภาพของตัวหนังสือที่เห็นได้, จำแนกความแตกต่างระหว่างวัตถุอย่างเช่น แมว รถยนต์ และเก้าอี้ได้ สามารถแม้กระทั่งจำแนกความต่างระหว่างภาพจิตรกรรมของโมเนต์กับปิกัสโซได้
 
     มันยังสามารถจดจำภาพได้ถึงเกือบ2,000ภาพ และยังจำแนกความแตกต่างของการแสดงออกทางใบหน้าของคนได้อีกต่างหาก
 
ที่มา: http://www.matichon.co.th
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้