อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับ

วันที่ 25-05-2010 | อ่าน : 145199


อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับ

 


 

        มะเร็งตับมักจะตรวจเจอในระยะที่เป็นมากแล้ว สาเหตุการเกิดมีหลายสาเหตุ โดยทั่วไปปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่  การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี การได้รับสารเคมีบางชนิด หรือการได้รับสารอัลฟาท๊อกซิน (Aflatoxin) จากเชื้อราที่พบในถั่วเมล็ดแห้ง ซึ่งการรักษามีทั้งการให้เคมีบำบัด การฉายแสงและผ่าตัด อย่างไรก็ดี ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาว่าสภาวะร่างกายของผู้ป่วยเหมาะสมกับการรักษาแบบใด ผู้ป่วยควรพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะมะเร็งตับสามารถแพร่กระจายได้ง่ายตับเป็นอวัยวะสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสารอาหาร สารเคมี ยาและสารต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย และยังมีหน้าที่สำคัญในการผลิตน้ำดีเพื่อใช้ในการย่อยไขมัน ดังนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับจำเป็นต้องได้รับความใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เพราะอาการของโรคอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อาการที่พบบ่อย คือ ท้องอืด เนื่องจากตับเป็นอวัยวะในการผลิตน้ำดีเพื่อทำการช่วยย่อยไขมัน และตับอยู่ใกล้ชิดกับบริเวณลำไส้จึงอาจส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหารได้ง่าย นอกจากอาการทางระบบย่อยอาหารแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการรับรสอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสมองและระบบประสาท ดังนั้นอาหารจึงเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่อย่างมีความสุข

การจัดอาหาร

ข้าวแป้ง 
     สารอาหารชนิดนี้สามารถรับประทานได้ตามปกติ โดยควรได้รับคาร์โบไฮเดรต 55-60% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรืออาจจะเพิ่มได้บ้างในผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซุลินแทรกซ้อน  แต่ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย ไม่ควรบริโภคธัญพืชในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารทำงานมากขึ้นและเกิดอาการแน่นท้องมากขึ้นได้ หากผู้ป่วยรับคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าวหากได้น้อยมาก อาจจะให้ผู้ป่วยได้รับในรูปแบบของน้ำหวานเพิ่ม  เพื่อที่จะป้องกันการเกิดภาวะทุพโภชนาการทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แล้วร่างกายดึงโปรตีนมาใช้ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งหากเกิดภาวะดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย และอาจเกิดโรคแทรกซ้อน

โปรตีน
     ช่วงแรกของการเกิดโรคผู้ป่วยควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพื่อให้ร่างกายมีโปรตีนเพียงพอที่จะไปซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งโปรตีนที่นักโภชนบำบัดแนะนำ ได้แก่ โปรตีนจากเนื้อปลา ไข่ไก่ เป็นต้นในผู้ป่วยมะเร็งตับหากมีอาการบวมน้ำที่มีสาเหตุมาจากการมีโปรตีนอัลบูมิน (albumin) ต่ำ ควรได้รับการเสริมอาหารประเภทโปรตีนโดยเฉพาะไข่ลวกที่เอาเฉพาะส่วนไข่ขาวมาใช้ เพราะในไข่ขาวจะมีโปรตีนอัลบูมินอยู่สูง คุณสมบัติของโปรตีนนี้จะช่วยอุ้มน้ำ ดังนั้นจึงสามารถทำให้อาการบวมน้ำดีขึ้นได้  อาจรับประทานไข่ขาวลวกวันละ 2 ฟอง เพื่อเพิ่มอัลบูมินแก่ร่างกาย ในบางกรณีผู้ป่วยมีภาวะ Hepatic encephalopathy ร่วมด้วย คือ มีอาการทางระบบประสาทที่เป็นสาเหตุมาจากตับ ได้แก่ มึนงง เบลอ การควบคุมตนเองผิดปกติอาจถึงขั้นชักได้ การรับประทานโปรตีนจะได้รับในปริมาณมากไม่ได้ ควรต้องได้รับการดูแลและควบคุมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโปรตีนที่ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนชนิดวงแหวน ได้แก่ phenylalanine ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ เป็นต้น ดังนั้นเนื้อสัตว์หรืออาหารที่เป็นแหล่งของโปรตีนอื่น ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนักกำหนดอาหารอย่างใกล้ชิด เพราะหากได้รับสารอาหารโปรตีนไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตามมิใช่ว่าผู้เป็นมะเร็งตับจะมีอาการดังกล่าวทุกราย ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับคำวินิจฉัยที่ถูกต้องเพื่อการดูแลตนเองที่ถูกต้อง

 

 

ไขมัน
     ผู้ป่วยควรระวังการบริโภคไขมันเป็นพิเศษเพราะเมื่อมะเร็งเกิดขึ้นที่ตับทำให้การสร้างน้ำดีอาจจะมีน้อยลงหากรับประทานไขมันในปริมาณสูงเข้าไป ไขมันจะย่อยยากหรือไม่สามารถย่อยได้ ทำให้เกิดภาวะถ่ายเป็นหยดไขมัน (steatorrhea) แน่นท้อง ท้องอืด จากการที่มีไขมันคั่งค้าง จุลินทรีย์ในลำไส้จะเปลี่ยนไขมันเป็นแก๊ส ทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร จึงเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด แน่นท้อง ในบางกรณีแพทย์และนักกำหนดอาหารมักจะกำหนดไขมันสายปานกลาง หรือ MCT (medium chain triglyceride) ให้ผู้ป่วยทดแทนไขมันปกติ เพราะไขมันชนิดนี้ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้เลยโดยไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงที่ตับก่อน โดยแพทย์หรือนักกำหนดอาหารจะเป็นผู้สั่งให้รับประทานในรูปแบบอาหารทางการแพทย์
 

ผัก

     ผักใบเขียวทุกชนิดสามารถรับประทานได้ แต่หากมีอาการท้องอืดมาก ควรเลือกผักที่ไม่มีเส้นใยมากนัก และหลีกเลี่ยงผักที่ให้กลิ่นฉุน เช่น ต้นหอม คึ่นไช่ คะน้า เป็นต้น เพราะอาหารประเภทดังกล่าวจะประกอบไปด้วยสารกำมะถัน  ก่อให้เกิดแก๊สในลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการท้องอืดมากขึ้นกว่าเดิม

ผลไม้
     ควรเลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่มีเนื้อแข็งหรือมีเส้นใยมากจนเกิน เช่น ฝรั่ง แอปเปิ้ล การรับประทานผลไม้ถ้าหากรับประทานในรูปแบบสดลำบากอาจจะได้รับในรูปแบบน้ำผลไม้  แต่ไม่ควรดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ก่อนรับประทานอาหารในมื้อปกติ เพราะจะทำให้ท้องอืดเสียก่อน และทำให้ได้พลังงานน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
 
     ผู้ป่วยมะเร็งตับบางครั้งอาจมีการย่อยอาหารยาก แน่นท้อง ท้องอืดได้ง่าย ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารในปริมาณเท่ากับคนปกติ ดังนั้นในการกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าว ควรกระจายมื้ออาหารจากปกติ 3 มื้อ เป็น  5-6 มื้อ เช่น จากเดิมรับประทานอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ก็เพิ่มเป็น เช้า ว่างเช้า กลางวัน ว่างบ่าย เย็น ก่อนนอน นอกจากผู้ป่วยมะเร็งตับต้องได้รับอาหารให้พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย  แล้วยังต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อน เพราะหากได้รับสิ่งปนเปื้อนจะทำให้ตับต้องทำงานในการกำจัดสารพิษมากขึ้น  อีกทั้งผู้ป่วยมะเร็งตับจะมีการเปลี่ยนแปลงของสภาวะร่างกายเกิดขึ้นบ่อย ดังนั้นควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด และได้รับคำแนะนำทางด้านโภชนาการจากนักกำหนดอาหารเพื่อการดูแลตนเองที่ถูกต้อง 
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้