พิชิตมะเร็งด้วยนวัตกรรม

วันที่ 17-11-2015 | อ่าน : 4097


พิชิตมะเร็งด้วยนวัตกรรม (Innovations in CANCER Treatment)

วันอาทิตย์ที่  15 พฤศจิกายน 2558

ณ ห้องสยามกุฏราชกุมาร อาคารเฉลิมพระบารมี ซอยศูนย์วิจัย กรุงเทพฯ 

 
       ในงาน พิชิตมะเร็งด้วยนวัตกรรม (Innovations in CANCER Treatment) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งจัดโดย ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับนวัตกรรมการรักษามะเร็ง หนึ่งในหัวข้อที่ถูกพูดถึง คือ การแพทย์ส่วนบุคคลสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง โดย รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ประจำหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลว่า “มะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อนนักวิจัยต้องเข้าใจลึกซึ้งถึงพันธุศาสตร์ของมะเร็ง ด้วยความรู้เหล่านี้การขจัดมะเร็งด้วยวิธีเดิมอันได้แก่ ฉายรังสี ผ่าตัด และเคมีบำบัด ได้ค่อยๆ นำเทคโนโลยีแบบมุ่งเป้ามาใช้ โดยการรักษาแบบมุ่งเป้าเริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ปลาย 1990 จนถึงต้นยุค 2000 อาทิ การใช้ยาเพื่อยับยั้งหลอดเลือดเลี้ยงมะเร็ง แต่ต่อมานักวิจัยพบว่า การฉายรังสีและเคมีบำบัดแบบมุ่งเพียงเป้าหมายเดียว ไม่ได้เหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกคน เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีปัจจัยแวดล้อมของโรคมะเร็งต่างกัน พูดอีกอย่างคือ ผู้ป่วยแต่ละคนมีหลายเป้าหมายที่ต้องจัดการ”

       แนวคิดในการวิเคราะห์เนื้องอกของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อกำหนดการให้ยาที่ทำงานได้ดีที่สุด จึงเป็นการแพทย์ส่วนบุคคลที่มีความเป็นไปได้ในการพิชิตมะเร็ง นอกจากนี้ วงการแพทย์ยังยกระดับความจำเพาะให้เป็นการรักษาที่มีศักยภาพพร้อมกับการลดผลข้างเคียงที่เป็นพิษให้น้อยลง โดยเมื่อเป็นมะเร็ง การแพทย์ส่วนบุคคลสามารถใช้รูปแบบที่หลากหลายเพื่อจัดการกับมะเร็ง ได้แก่ ทดสอบเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยเพื่อหาการรักษาที่เหมาะสม ทดสอบทางพันธุศาสตร์เพื่อตัดสินใจว่าผู้ป่วยสามารถใช้ยาที่จำเพาะเจาะจงได้หรือไม่ นอกจากนี้ สามารถจัดการก่อนเป็นมะเร็งในกลุ่มเสี่ยง โดยทดสอบทางพันธุศาสตร์เพื่อตรวจสอบว่า มีโอกาสการกลายพันธุ์ของเซลล์แล้วพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้หรือไม่ 

       เมื่อสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ชัดเจนว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนองต่อยาอย่างไร ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรับยาที่เหมาะสมมากขึ้น ประสิทธิภาพการรักษาก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่าย ย่นระยะเวลาในการดูแลสุขภาพ รวมถึงลดอาการข้างเคียงจากยา 

       ด้าน ดร.กมล  ไชยสิทธิ์ นักโภชนบำบัด ที่ปรึกษาโภชนบำบัดมะเร็งในหลายโรงพยาบาล กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์ทางโภชนาการก้าวล้ำยุคไปมาก ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุด คือ การค้นพบว่า มีสารหลายอย่างในอาหารที่สามารถป้องกันมะเร็งได้ และพบแล้วว่าอะไรที่จะเข้าไปกระตุ้นมะเร็ง อาทิ น้ำตาลเป็นอาหารเลี้ยงมะเร็ง การอักเสบกระตุ้นมะเร็งให้ดุร้ายขึ้น ผู้ป่วยจึงควรงดอาหารที่กระตุ้นการอักเสบ ได้แก่ ไขมัน ทรานซ์ซึ่งมักใช้ในอาหารฟาสฟู้ด เนื้อแดง อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เป็นต้น โดยควรบริโภคอาหารต้านการอักเสบ ได้แก่ กรดไขมันโอเมก้า 3 อาทิ น้ำมันปลา ปลาทู ธัญพืช เป็นต้น

       ในงานยังมีการถ่ายทอดประสบการณํรักษามะเร็งจาก คุณวีรพงษ์  เกษดำรงพาณิชย์ ซึ่งเป็นมะเร็งตับมาแล้ว 6 ปี โดยการรักษาหลายรูปแบบตั้งแต่ การจี้ด้วยคลื่นความถี่สูง การให้เคมีบำบัดและอุดกั้นเส้นเลือด การใช้สมุนไพรจีน และการผ่าตัดเปลี่ยนตับ ปัจจุบันมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ยังคงดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของมะเร็งตับ ทางด้านคุณภรณีรัตน์ ผดุงวรศาสตร์ ผู้ซึ่งต้องสูญเสียพี่ชาย 2 คน จากมะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อน สวนตัวเองก็เป็นมะเร็งเต้านม เกิดซ้ำที่ต่อมน้ำเหลือง มาแล้ว 15 ปี แม้ปัจจุบันจะตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งแล้ว แต่ก็ไม่เคยละทิ้งการดูแลสุขภาพ ทั้งคุณวีรพงษ์ และคุณภรณีรัตน์ ได้ปวารณาตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งและผู้รักสุขภาพ
 
       


 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ภาพกิจกรรม
ผู้พิชิตมะเร็ง
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้