อาการกลืนลำบากมักเกิดจากมะเร็งของอวัยวะภายในลำคอ ถึงแม้ได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยอาจจะยังมีอาการนี้อยู่บางรายก้อนมะเร็งอาจยุบไม่หมดเนื่องจากเป็นก้อนเนื้อชนิดที่ดื้อต่อการรักษา
ปัญหาสำคัญที่ตามมาหลังการกลืนลำบาก คือ น้ำหนักลด จนถึงการขาดสารอาหาร ดังนั้นญาติควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารบ่อยๆ โดยอาหารควรมีคุณค่าและให้พลังงานสูง เช่น ไข่ นมและเนื้อสัตว์ แต่ลักษณะของอาหารควรได้รับการปรุงแต่งให้อ่อนนุ่ม มีสภาพไม่เหนียว เคี้ยวกลืนไม่ยาก เพื่อลดการเคี้ยวให้น้อยที่สุด อาจเป็นอาหารเหลวที่ไม่หนืดเหนียว เพราะความหนืดเหนียวของอาหารอาจทำให้อาหารติดตามลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม เหงือก ก่อให้เกิดความเจ็บปวดได้
อุณหภูมิของอาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไป มีผลต่อการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด และทำลายเซลล์งอกใหม่ จึงจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในช่วง 20-45 องศาเซลเซียส รสเปรี้ยว เผ็ด เค็ม หวาน ถือเป็นสารเคมีที่ให้รสชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด จึงจำเป็นต้องควบคุมรสชาติไม่ให้จัดเกินไป
ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับน้ำดื่มอย่างเพียงพอ วันละ 2-3 ลิตร ในกรณีที่ไม่มีข้อห้าม เนื่องจากการได้รับน้ำดื่มอย่างเพียงพอ จะเป็นการช่วยเพิ่มความชุมชื้นของช่องปากได้ดี และลดความตึงของเยื่อบุ ทำให้ผู้ป่วยสุขสบายช่องปากมากขึ้น
ในระหว่างให้อาหารควรระวังเรื่องการสำลักเข้าปอด เพราะอาหารจะเคลื่อนผ่านหลอดอาหารได้ช้า การกลืนเร็วหรือรับประทานคำโตเกินไปจะทำให้สำลักลงปอดได้ และเกิดอาการอักเสบของปอดตามมา
*** ถ้าอาการกลืนลำบากเป็นมากขึ้น ต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษาทราบเพื่อได้พิจารณาหาทางแก้ไข เช่น ผ่าตัดใส่ท่อเพื่อให้อาหารเข้าทางกระเพาะหรือให้อาหารทางเส้นเลือดดำ เป็นต้น
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง