การดูแลแก้ไขอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย

วันที่ 03-09-2014 | อ่าน : 525337


 การดูแลแก้ไขอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย

 
 
โรคท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อย เป็นอาการผิดปกติของท้องหรือลำไส้ มักมีอาการบริเวณตรงกลางของท้องด้านบน อยู่ระหว่างใต้ลิ้นปี่และเหนือสะดือ ตัวอย่างอาการของโรคท้องอืด ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้อง มีการบีบรัดของลำไส้ ท้องหลามตึงๆ อืดๆ มีลม หรือก๊าซในกระเพาะอาหาร เรอเหม็นเปรี้ยว และอาจมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ และบางรายอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน อิ่มเร็วร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอาการร่วมกันก็ได้ 
 
สาเหตุของท้องอืด
 
จะแก้ไขได้ต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องอืดแต่ละบุคคลก่อน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคท้องอืดเกิดจากอาหารหรือพฤติกรรมการกิน เป็นสำคัญ รองลงมาคือโรคของระบบทางเดินอาหาร ยาบางชนิด แอลกอฮอล์ กาเฟอีน บุหรี่ เป็นต้น 
 
ท้องอืดจากการกินอาหาร
1. ชนิดของอาหารและเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ 
 
อาหารที่ย่อยไม่หมดโดยเฉพาะอาหารพวกแป้งที่มีใยอาหารจะไม่ถูกย่อย เมื่อผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่เชื้อแบคทีเรียจะย่อยสลายทำให้เกิดก๊าซ นอกจากนั้นน้ำตาลที่อยู่ในนมหากร่างกายไม่ย่อยก็ทำให้เกิดก๊าซมากเช่นกัน ในบางชนิดของอาหารมีผลต่อท้องอืดโดยตรง ได้แก่ 

- อาหารพวก กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ถั่ว บร็อคโคลี หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต มันฝรั่ง เนื่องจากอาหารเหล่านี้มีใยอาหาร และแป้งมากทำให้ลำไส้เล็กดูดไม่หมด อาหารเหลือไปยังลำไส้ใหญ่เกิดการหมักทำให้เกิดก๊าซ 
- อาหารที่มีใยอาหารมาก เช่น เมล็ดธัญพืช ข้าวโอ๊ต ผักและผลไม้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด แต่หลังจาก 3 สัปดาห์ บางคนจะปรับตัวได้ แต่บางคนอาการท้องอืดและมีก๊าซก็จะเป็นตลอด 
- นม ลำไส้บางคนขาดเอ็นไซม์ในการย่อยนม เมื่อดื่มนมจะทำให้ท้องอืด 
- อาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิ ช็อกโกแลต เนย 
อาหารรสจัด ไม่ว่าจะเปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด 
- อาหารที่ย่อยได้ยาก เช่น เนื้อสัตว์ กากใยอาหารบางชนิด

2. พฤติกรรม อุปนิสัย หรือลักษณะการกินอาหาร

 พฤติกรรม หรืออุปนิสัย ลักษณะการกินอาหาร ก็มีส่วนทำให้เกิดท้องอืดได้ เช่น เร่งรีบกินอาหาร เคี้ยวไม่ละเอียด กินอาหารผิดเวลา กินอาหารจนอิ่มมากเกินไป หรือการล้มตัวลงนอนหลังจากกินอาหารเสร็จใหม่ๆ ล้วนเป็นลักษณะการกินอาหารที่ไม่ดี ทำให้เกิดท้องอืดได้ 
 
- การกินลม หมายถึง การกลืนลมเข้าไปทางปากและไหลลงไปในท้อง ทำให้กระเพาะอาหารมีก๊าซจำนวนมากเกิดท้องอืดได้ ตัวอย่างการกินหรือกลืนลม ได้แก่ การพูดมาก (ลมเข้าปาก) การเคี้ยวหมากฝรั่ง การดูดลูกอม การดูดของเหลวหรือน้ำผ่านหลอดเล็กๆ การดื่มน้ำจากขวดปากแคบ เป็นต้น 
 
ท้องอืดจากโรคของระบบทางเดินอาหาร
 
1. โรคของระบบทางเดินอาหารหลายชนิดก็ทำให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย เช่น แผลกระเพาะอาหาร กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร (Gastro-esophageal Reflux Disease GERD) กระเพาะอาหารอักเสบ มะเร็งกระเพาะอาหาร นิ่วถุงน้ำดี เป็นต้น 
 
2. โรคที่ลำไส้มีการอุดตันทำให้ก๊าซไม่สามารถไปลำไส้ใหญ่ เช่น ไส้เลื่อนที่อุดตัน ผังผืดในท้องรัดลำไส้เป็นต้น ผู้ที่มีโรคดังกล่าวจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน 
 
3. ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ลำไส้แปรปวน อาหารที่มันหรือมีกากมาก 
 
4. ผู้ป่วยที่มีลำไส้ไวต่อการกระตุ้น แม้ว่าก๊าซในลำไส้อาจจะไม่มากแต่ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นท้อง 
 
ท้องอืดจากยาบางชนิด แอลกอฮอล์ คาเฟอีน และบุหรี่
ยาที่เป็นสาเหตุโรคท้องอืดพบได้บ่อย คือ ยาลดการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Antiinflammatory Drugs-NSAIDs) หรือ เรียกตามชื่อย่อว่าเอ็นเสด เป็นยาที่มีฤทธิ์แก้อักเสบชนิดที่ไม่มีการติดเชื้อซึ่งมักใช้บรรเทาอาการอักเสบข้อ อักเสบกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และไข้ ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น แอสไพริน ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซีแคม นาโพรซิน อินโดเมทาซิน เป็นต้น 
 
ยากลุ่มดังกล่าวข้างต้นมีคุณสมบัติเป็นกรด ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยและถ้าใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนานๆ ก็อาจทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ควรกินหลังอาหารทันทีและใช้เมื่อจำเป็นหรือเมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้ติดต่อกันโดยไม่จำเป็นเพราะมีผลเสียรุนแรง 
 
 
นอกจากยาที่ทำให้ท้องอืดได้แล้ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม โซดา เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (กาแฟ ชา) และบุหรี่ ก็ทำให้ท้องอืด และอาหารไม่ย่อยได้ 
 
 
 
 
การดูแลแก้ไขอาการท้องอืด 

1. แก้ไขด้วยการหลีกเลี่ยงสาเหตุ
 
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ด้วยการรักษาสุขลักษณะ การกินอาหารที่ดี เริ่มตั้งแต่การเลือกชนิดของอาหารที่ไม่มีปัญหาเรื่องท้องอืด อุปนิสัยการกินอาหาร และหลีกเลี่ยงการกินลม ดังนี้
 
 
- รับประทานอาหารให้ตรงเวลา 
 
 
- ควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใย เพราะสารเส้นใยจะช่วยซับเอากากอาหารให้ผ่านออกนอกร่างกายโดยเร็ว ทำให้ไม่มีอาหารคั่งค้างในลำไส้ และปลอดจากอาการท้องผูก สารเส้นใยที่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือ สารฟรุกโตโอลิโกแซ็คคาไรค์ ซึ่งเป็นน้ำตาลเชิงซ้อน น้ำตาลนี้ร่างกายใช้ไม่ได้แต่จะเป็นอาหารของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรีย ซึ่งเป็นแบคทีเรียตัวดีในลำไส้ใหญ่ เมื่อแบคทีเรียกินน้ำตาลเชิงซ้อนมันจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น และยับยั้งแบคทีเรียตัวร้ายไม่ให้สร้างก๊าซในท้อง ซึ่งสารฟรุกโตโอลิโกแซ็คคาไรค์พบได้ในธรรมชาติ เช่น หัวหอมใหญ่ กระเทียม มะเขือเทศ กล้วยหอม แก้วมังกร เป็นต้น 
 
 
- หลีกเลี่ยงอาหาร มีไขมันสูงย่อยยาก นม เนย และประเภทโปรตีนสูง เช่น นมวัว ชีส นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เครื่องดื่มช็อคโกแล็ต เครื่องดื่มประเภทข้าวมอลต์ผสมนม พิซซ่า ขนมเค้ก โดนัท ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู อาหารทอด ผัดมันๆ และกะทิ เพราะอาหารกลุ่มนี้จะใช้เวลาผ่านกระเพาะอาหารไปช้ามาก บางครั้งนานถึง 6-8 ชั่วโมง จึงอาจจะทำให้ท้องอืดได้ง่าย
 
 
- หลีกเลี่ยงการรีบเร่งกินอาหารหรือเคี้ยวไม่ละเอียด ด้วยการกินช้าๆ พร้อมทั้งเคี้ยวและคลุกเคล้าอาหารให้เข้ากันดี ก่อนกลืนอาหาร 
 
 
- ไม่ควรกินอาหารจนอิ่มมากเกินไป ควรลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง และแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ แต่กินบ่อยๆ แทน 
 
 
- หลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ ไม่ควรนอนราบทันทีเพราะ การนอนราบ ส่งผลให้ระดับของกระเพาะอาหารและหลอดอาหารจะอยู่ในระนาบเดียวกันและอาจทำให้กรดไหลจากกระเพาะอาหารย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหารได้ เกิดการระคายเคือง และหลอดอาหารอักเสบได้
 
 
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ น้ำอัดลม โซดา เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน (กาแฟ ชา) 
 
 
- หลีกเลี่ยงการกินหรือกลืนลมลงท้อง เช่น การพูดมากๆ การกลืนน้ำลายบ่อยๆ การเคี้ยวหมากฝรั่ง การดูดลูกอมหรือ อมยิ้ม การดูดนม ของเหลว หรือน้ำผ่านหลอด การดื่มน้ำจากขวดปากแคบ ด้วยการดื่มน้ำจากแก้วแทนการใช้หลอดดูด 
 
 
- หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์
 
 
- ควรรักษาสุขภาวะที่ดี ด้วยการออกกำลังกาย ผ่อนคลายความตึงเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ

2. แก้ไขด้วยยา
     ยาขับลม แก้ท้องอืด 
 
 
ยาที่ใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีมากมาย เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาธาตุน้ำขาว ยาขับลม ไดเมทิโคน ไซเมทิโคน ก๊าซเนป ยาลดกรด โซดามิ้นต์ เมโทรโคล พาไมด์ ดอมเพอริโดน เป็นต้น ยาเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ได้ผลดี ก่อนรับประทานควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
 
 

     สมุนไพรไทย 
 
 
- กระชาย : ใช้เหง้าหรือราก (นมกระชาย) สดหรือแห้งนำมาฝานเป็นแผ่นบางๆ 1 หยิบมือ ต้มเอาน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น หรือเวลามีอาการ
 
 
- กะทือ : ใช้เหง้าสด ขนาดเท่า 2 หัวแม่มือ นำมาปิ้งไฟ ฝนกับน้ำปูนใสครึ่งแก้วดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
 
 
- กระเทียม : ใช้กลีบจากหัวนำมาปอกเปลือก รับประทานดิบๆ ครั้งละ 5 กลีบ เวลามีอาการ
 
 
- กระวาน : ใช้ลูกนำมาบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนครึ่งถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
 
 
- กะเพรา : ใช้ใบสดหรือแห้ง 1 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ  
 
 
- กานพลู : ใช้ดอก 3-5 ดอก ต้มหรือทุบแช่เดือด ให้เด็กดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟเล็กๆ 
 
 
- ข่า : ใช้เหง้าแก่สดหรือแห้ง ขนาดเท่าหัวแม่มือทุบให้แตกต้มน้ำดื่มครั้งละ 1-2 ถ้วย ดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
 
 
- ขิง : ใช้เหง้าแก่สดหรือแห้ง ขนาดเท่าหัวแม่มือทุบให้แตกต้มน้ำดื่มครั้งละ 1-2 ถ้วย ดื่มก่อนอาหาร เช้ากลางวันเย็นหรือเวลามีอาการ
 
 
- ดีปลี : ใช้ผล 10 ผล หรือเถา 1 กำมือ ต้มดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น
 
 
- ตะไคร้ : ใช้ลำต้นแก่ สด หรือแห้ง 1 กำมือ ทุบให้แกต้มน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น
 
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้