การดูแลและแก้ไขอาการท้องเสียในผู้ป่วยมะเร็ง

วันที่ 04-07-2014 | อ่าน : 19616


การดูแลและแก้ไขอาการท้องเสีย



ท้องเสียเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ  เช่น  ติดเชื้อแบคทีเรีย  ไวรัส  ลำไส้อักเสบจากการฉายรังสี  การดูดซึมอาหารผิดปกติ  ผลข้างเคียงของยาปฏิชีวนะเนื้องอกที่ลำไส้ใหญ่หรือวิตกกังวล

     ในกรณีที่ทราบสาเหตุก็ให้การรักษาเป็นการเฉพาะในแต่ละราย  เช่น ต้องรับประทานยา  และปฏิบัติตามที่แพทย์สั่งโดยเคร่งครัด  พร้อมกับต้องดูแลด้านอาหารร่วมด้วย

การดูแลเมื่อมีอาการท้องเสีย

    
- ดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนที่มีกากน้อย โปรตีนและแคลอรีสูง งดอาหารที่ระคายเคืองหรือกระตุ้นทางเดินอาหาร  ได้แก่ อาหารทอด อาหารมัน ผลไม้สด ผลไม้แห้ง (ยกเว้นน้ำองุ่น, น้ำแอปเปิ้ล) ผักดิบ เครื่องเทศ  อาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส (อาทิ หัวหอม กะหล่ำปลี ถั่ว) อาหารที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ บุหรี่ งดนม และผลิตภัณฑ์จากนม
     - ดูแลความสุขสบายของผู้ป่วย ผิวหนังบริเวณทวารหนักไม่ให้เป็นแผล โดยทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่น สบู่อ่อนๆ ล้างแล้วซับให้แห้งทุกครั้งหลังถ่าย ทำ Hot sitz bath เพื่อช่วยให้สบายขึ้น
     - ดูแลให้ผู้ป่วยได้น้ำทดแทน ได้แก่ น้ำซุป น้ำองุ่น น้ำชาจางๆ หรืออาจผสมน้ำเกลือแร่เพื่อใช้เองที่บ้าน  โดยใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดแม่โขง (750 ซีซี) ในเกลือแกง 1/2 ช้อนชาและน้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ ผสมไว้ดื่มภายใน 24 ชั่วโมง
     - ถ้าท้องเสียมากโดยไม่เคยเป็นมาก่อนและมีไข้ร่วมด้วย เพ้อ พูดไม่รู้เรื่อง ซึม ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

ยาที่ใช้แก้อาการท้องเสีย

    
- ยาที่มีผลทำให้อุจจาระเป็นก้อน ได้แก่ สารประเภทกากใยและเพิ่มปริมาณอุจจาระ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับยาถ่าย
     - Cholestyramine  มีฤทธิ์ดูดซับน้ำดีและพิษจากเชื้อแบคทีเรีย ใช้แก้ท้องเสียที่เกิดจากน้ำดี
     - Bismuth subsalicylate มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้แก้ท้องเสียที่ไม่รุนแรงมาก และใช้ป้องกันอาการท้องเสียเวลาเดินทาง
     - Kaolin pectin และ Activated charcoal  มีผลดูดซับสารพิษต่าง ๆ
     - ยาประเภทฝิ่น ได้แก่  Diphenoxylate,  Loperamide มีผลเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหาร และลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ ข้อเสียของยากลุ่มนี้ คือ อาจทำให้ติดยาและง่วงซึมได้  ห้ามใช้ยานี้ในโรคท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อ
     - ผงน้ำตาลเกลือแร่  เป็นน้ำเกลือผสมกลูโคส ใช้เพื่อทดแทนเกลือแร่และน้ำที่ต้องสูญเสียไปเมื่อท้องเสีย  มักจะให้ทุกครั้งที่มีอาการท้องเสียไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด
 

 


อาหารเมื่อผู้ป่วยมีปัญหาท้องเสีย

     ไม่ว่าผู้ป่วยจะเกิดอาการท้องเสียด้วยสาเหตุใดก็ตาม ควรได้รับการดูแลทางด้านอาหารที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการที่เป็นอยู่ทรุดหนักลงกว่าเดิม นำไปสู่ภาวะขาดวิตามินและเกลือแร่รวมไปถึงสารน้ำ อันเป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานขึ้น หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต การรับประทานอาหารอาจยึดหลักอาหารสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ (Neutropenic diet) และในที่นี้จะกล่าวถึงอาหารแต่ละกลุ่มสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ดังนี้

ข้าวแป้ง
     ผู้ป่วยสามารถรับประทานข้าวได้ตามปกติ แต่อาจเปลี่ยนมารับประทานข้าวขาวแทนข้าวกล้องเพื่อลดปริมาณใยอาหาร เนื่องจากใยอาหารจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ แต่ในภาวะที่ท้องเสียร่างกายไม่ต้องการให้ลำไส้เคลื่อนตัวมากจนเกินไป ดังนั้นจึงเว้นอาหารประเภทเส้นใยสูงไว้ชั่วระยะหนึ่ง ในส่วนของก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง (ไม่ใช้ขนมปังโฮลวีท) สามารถเลือกรับประทานได้ตามปกติ

เนื้อสัตว์
     เนื้อสัตว์ทุกชนิดสามารถรับประทานได้ แต่หลีกเลี่ยงการนำมาปรุงอาหารรสจัดเกินไป เช่น ยำ ต้มยำ เพราะกรดซิตริกหรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวและมีความเผ็ด ก็สามารถกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ได้

ไขมัน
     สามารถรับประทานได้ตามปริมาณไขมันที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน แต่ควรหลีกเลี่ยงกรดไขมันอิ่มตัว ได้แก่ พวกน้ำมันปาล์มและน้ำมันที่มาจากเนื้อสัตว์ รวมถึงอาหารประเภทแกงกะทิ เพราะไขมันดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายผู้ป่วยมะเร็ง

ผักและผลไม้
     ควรหลีกเลี่ยงผักและผลไม้สดที่ยังไม่ผ่านความร้อน และก่อนการนำมาปรุงประกอบอาหารควรล้างผักให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสผักสดด้วยมือเปล่า ผลไม้ที่มีเปลือกหนาเวลาบริโภคเนื้อส่วนที่บริโภคไม่ควรสัมผัสโดยตรงกับมือผู้ปรุงอาหาร อาทิ ส้มโอ แตงโม พึงระวังไม่จัดอาหารประเภทผลไม้สดให้ผู้ป่วยที่ท้องเสียมากเกินไป เพราะอาจเป็นการเพิ่มเส้นใยอาหารให้ผู้ป่วยมากขึ้น น้ำผลไม้ทุกชนิดควรงดเว้นโดยเฉพาะน้ำลูกพรุน เพราะจะทำให้ถ่ายท้องมากยิ่งขึ้น หากจะรับประทานน้ำผลไม้ควรเป็นน้ำที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์แล้ว และไม่แนะนำให้รับประทานในช่วงที่อาการท้องเสียยังไม่ทุเลา  

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้