โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ

วันที่ 28-05-2014 | อ่าน : 25059



 โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ
Neutropenic Diet





 
          ผู้ป่วยมะเร็งที่ทำการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือผู้ป่วยมะเร็งระบบเลือดที่ต้องปลูกถ่ายไขกระดูก จะพบปัญหาหนึ่งร่วมด้วยเสมอ คือ ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ เมื่อระดับ neutrophil ต่ำกว่า 500 cell/mm3 บางครั้งอาจเรียกภาวะนี้ว่า neutropenia ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาส บางครั้งรับประทานอาหารไม่สะอาด ยังไม่ผ่านความร้อนดีพอ ก็เกิดการติดเชื้อทำให้ท้องเสีย ถ่ายท้อง ในผู้ป่วยมะเร็งมักมีภาวะทุพโภชนาการหรือขาดสารอาหารอยู่แล้ว หากยังมาท้องเสียร่วมด้วย ทำให้เกิดอาการอ่อนแรง เพลีย ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถรับเคมีบำบัดหรือทำการรักษาได้จนจบ ยิ่งไปกว่านั้นอาจเสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารต้องให้ความระมัดระวังรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันควรหลีกเลี่ยงสถานที่ผู้คนพลุกพล่าน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน
 
หลักการจัดอาหารแบคทีเรียต่ำ หรือ Neutropenic Diet 
          หลักการง่ายที่สุด คือ พยายามให้อาหารทุกชนิดผ่านความร้อนที่เพียงพอก่อนการรับประทาน และไม่เก็บอาหารที่อยู่ในช่วง danger zone temperature คือ อุณหภูมิ 5-60 องศาเซลเซียส เวลาปรุงอาหารให้ใช้อุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส จะเห็นได้ว่าอุณหภูมิที่กำหนดนี้ไม่แนะนำอาหารแช่เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เพราะในช่วงอุณหภูมิดังกล่าวก็ยังพบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคพวก Listeria monocytogenes ทำให้เกิดโรค Listeriosis หรืออาจทำให้เกิดการแท้งในสตรีมีครรภ์ได้ ดังนั้นการจัดอาหารในกลุ่มนี้จึงให้ใช้อุณหภูมิสูงพอที่จะฆ่าเชื้อได้เป็นหลัก และไม่ควรรับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วตั้งทิ้งไว้เกิน 2-4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้จุลินทรีย์กลับมาเจริญเติบโตได้
หลักการจัดอาหาร
          -  นมต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบบพลาสเจอไรซ์ หรือสเตอร์ริไรซ์ 
          -  ผักผลไม้ งดการบริโภคผักผลไม้สด สลัดผักสด ควรใช้ผักที่ผ่านความร้อนแล้ว หรือผักที่อัดกระป๋อง
          -  ขนมปังและเบเกอร์รี่ สามารถรับประทานได้ แต่งดรับประทานพวกที่มีการใช้ไส้คัสตาร์ด หรือมายองเนส
          -  ธัญพืช ต้องผ่านการอบความร้อนก่อนรับประทาน
          -  ผลไม้ สามารถรับประทานผลไม้บรรจุกระป๋อง ผลไม้ที่มีเปลือกต้องปอกเปลือกก่อนบริโภค ต้องมั่นใจในภาชนะหรือกระบวนการปอกว่าไม่มีการปนเปื้อน
          -  เนื้อสัตว์ ต้องผ่านความร้อนจนสุกทั่วทั้งชิ้น พวกไส้กรอกรมควันหรือเบคอนควรหลีกเลี่ยง
          -  ของหวานจำพวกเค้ก พุดดิ้ง ไอศกรีม ที่อยู่ในภาชนะที่ปิดสนิทดีและสามารถรับประทานได้ครั้งเดียวหมดสามารถรับประทานได้
          -  ซุปที่ผ่านความร้อนส่วนใหญ่รับประทานได้ทั้งหมด ยกเว้นมิโสะซุป (ซุปเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น) ควรงดเว้น
          -  วัตถุปรุงแต่งรสอาหารสามารถใช้ได้ เช่น พวกซีอิ๊ว เป็นต้น แต่ต้องระวังกระบวนการปรุงอาหารที่ปรุงด้วยความร้อน เช่น พวกผัด ทอด นึ่ง เป็นต้น หลังจากใช้เสร็จควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทมิดชิด และเก็บในตู้เย็น ไม่แนะนำให้ใช้พริกไทย กระเทียม ที่ใช้โรยหน้าอาหารโดยไม่ได้ผ่านความร้อนก่อน
          -  เครื่องดื่มและน้ำดื่มให้ใช้น้ำที่ผ่านการกรองด้วยระบบ Reverse osmosis หรือกรรมวิธีที่แน่ใจว่าไม่มีสิ่งปนเปื้อน ส่วนพวกน้ำผลไม้กระป๋องที่ผ่านกระบวนการพลาสเจอร์ไรซ์แล้วสามารถดื่มได้
 
ข้อควรระวังในการปรุงประกอบอาหาร
          1. ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการสัมผัสอาหาร
          2. ล้างภาชนะและทำความสะอาดบริเวณประกอบอาหารให้สะอาดอยู่เสมอ ควรเลือกใช้สารทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในการทำความสะอาดบริเวณประกอบอาหาร
          3. ในระหว่างการประกอบอาหารผู้ปรุงอาหารควรระวังการสัมผัสเส้นผม การขยี้จมูก หรือสัมผัสปาก และควรถอดแหวนและกำไรข้อมือออกก่อนการปรุงอาหารเพราะอาจมีเชื้อโรคแอบแฝงอยู่ในสิ่งของดังกล่าว
          4. จานและภาชนะหลังล้างทำความสะอาดควรลวกด้วยน้ำร้อนหรือเข้าเครื่องอบแห้ง
          5. ล้างทำความสะอาดตู้เย็นด้วยสบู่และน้ำสะอาด เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นออกจากตู้เย็น อาหารที่เก็บไว้เกิน 3-4 วันควรนำออกจากตู้เย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเนื้อสัตว์ น้ำสลัด นม และไข่ ควรตรวจสอบอยู่เสมอหากเก็บไว้เกินกว่า 4 วัน ควรกำจัดออก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนในอาหารชนิดอื่น
          6. หากพบว่าอาหารที่เตรียมพร้อมสำหรับการบริโภค สัมผัสกับวัตถุดิบอื่นที่ไม่ผ่านความร้อนให้ทิ้งอาหารเหล่านั้นเสีย
          7. ในขณะเดินจับจ่ายอาหารที่ห้างสรรพสินค้า ควรเลือกซื้ออาหารที่เน่าเสียง่ายเป็นอันดับสุดท้าย และรีบกลับบ้านมาปรุงประกอบหรือนำเข้าตู้เย็นทันที
          8. ไม่เลือกอาหารกระป๋องที่ลักษณะของกระป๋องไม่สมบูรณ์ เช่น มีรอบบุบ หรือเบี้ยว เป็นต้น
 
 
สรุป 
          หลักการจัดอาหารแบคทีเรียต่ำ คือ การคำนึงถึงพลังงานที่ได้รับให้สมดุลเช่นเดียวกับอาหารครบมาตรฐานอื่นๆ (adequate diet) เพียงแต่ระวังในกระบวนการปรุงประกอบและการเลือกชนิดอาหาร ต้องแน่ใจว่าผ่านความร้อน หรือการทำลายเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ ซึ่งสามารถทำอันตรายหรือก่อโรคแก่ผู้ป่วยในภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สมบูรณ์เพียงพอ พึงตระหนักเสมอว่า neutropenic diet ก็คืออาหารปกติที่มีพลังงานเหมาะสมสำหรับบุคคลนั้น เพียงแต่เลือกชนิดและการปรุงประกอบอาหารที่ผ่านความร้อน และลดปัจจัยเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ นั่นเอง
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้