การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยโรคมะเร็ง

วันที่ 09-04-2014 | อ่าน : 16527


 การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
 
 
การรักษามะเร็งวิธีหลักไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัดหรือฉายรังสี มีความมุ่งหวังที่จะทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เซลล์ปกติจะได้รับความเสียหายด้วย เมื่อเซลล์ปกติถูกทำลายอาจเกิดอาการข้างเคียง อาการที่พบบ่อยคือ อาการในช่องปากซึ่งพบได้ทั้งในผู้ป่วยเคมีบำบัด รวมถึงผู้ป่วยที่ฉายรังสีบริเวณใบหน้าและลำคอ อาการที่เกิดขึ้น อาทิ เยื่อบุช่องปากอักเสบ มีอาการบวมแดง มีแผลในช่องปาก ทำให้มีความเจ็บปวด แสบร้อน ปากแห้ง การรับรสและการรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลง มีโอกาสติดเชื้อในช่องปากและทั้งระบบของร่างกาย จึงควรต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ โดยควรดูแลตั้งแต่ก่อนเกิดปัญหาเพื่อป้องกัน
 
          หัวใจหลักในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากภายหลังการรักษา  ได้แก่
               1. พยายามรักษาความสะอาดในช่องปาก
               2. ใช้ฟลูออไรด์สม่ำเสมอ
               3. การค้นพบปัญหาแต่เนิ่นๆ
 
เทคนิคการแปรงฟัน
          ควรใช้แปรงขนนุ่ม  และแปรงโดยวิธีโมดิฟายแบส (Modified Bass Technique) วิธีการคือ วางแปรงรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน  โดยปลายขนแปรงชี้ลงไปทางเหงือกหลังจากนั้นขยับแปรงในแนวนอนสั้นๆ ไป  ระหว่างการฉายรังสีรักษาไม่ควรใช้ยาสีฟันเนื่องจากอาจทำให้ระคายเคืองได้ (อีกทางเลือกที่สามารถใช้แทนยาสีฟัน) ข้อแนะนำ  คือ  ควรแปรงด้วยความนุ่มนวลและระมัดระวัง  เนื่องจากอาจทำให้เหงือกบริเวณนั้นบาดเจ็บได้  และแปรงสีฟันที่ใช้ควรเป็นแปรงสีฟันขนนุ่ม
 
น้ำยาบ้วนปากสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

          ผู้ป่วยมะเร็งจำเป็นต้องบ้วนปากบ่อยเพื่อรักษาสุขภาพช่องปาก แต่ไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากทั่วไปเพราะอาจทำให้ปวดแสบปวดร้อนได้ น้ำยาบ้วนปากที่แนะนำให้ใช้สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ได้แก่
          - คลอเฮ็กซิดีน (Chlorhexidine) : เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแต่มีผลข้างเคียง คือ อาจทำให้การรับรสเปลี่ยน และต้องแปรงฟัน
          - โซเดียมไบคาร์โบเนต (Sodium Bicarbonate) หรือเบกกิ้งโซดา : โดยผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา ต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว

 สำหรับ Listerine และ Plark ไม่ควรใช้เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนได้
กรณีที่มีการผ่าตัดร่วมด้วย  การใช้น้ำยาบ้วนปากพวก Sodium Bicarbonate จะช่วยให้อนามัยช่องปากดีขึ้นและหลังจากแผลหายดีแล้วก็สามารถที่จะแปรงบริเวณลิ้นและเนื้อเยื่อช่องปากได้
 การดูแลสุขภาพช่องปากกรณีผู้ป่วยไม่มีแผลในช่องปาก

          1. แปรงฟันอย่างถูกวิธี โดยใช้แปรงที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม โดยใช้เทคนิคบาสส์ (Bass technique) คือ วางแปรงบริเวณรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน (ทำมุม 45 องศา) หลังจากนั้นขยับแปรงในแนวนอนสั้นๆ เริ่มที่โคนฟันก่อน และใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์          2. ระหว่างการฉายรังสีไม่ควรใช้ยาสีฟันเนื่องจากอาจทำให้ระคายเคืองได้ ทางเลือกที่สามารถใช้แทนยาสีฟัน คือ โซเดียมไบคาร์บอเนต ควรแปรงด้วยความนุ่มนวลและระมัดระวัง เนื่องจากอาจทำให้เหงือกบริเวณนั้นบาดเจ็บได้   
          3. บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ หลังแปรงฟัน หลังอาหารทุกมื้อและก่อนนอน ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสม
          4. ถ้ามีฟันปลอม ควรถอดทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร และถอดฟันปลอมออกทุก 8 ชั่วโมงต่อวัน
          5. ทาริมฝีปากด้วยวาสลีน
          6. แนะนำการรับประทานอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ปลา นม ไข่ อาหารที่อ่อนนุ่ม กลืนสะดวก ไม่เผ็ด
          7. ดื่มน้ำมากกว่า 2 ลิตรต่อวัน

 การดูแลสุขภาพช่องปากกรณีผู้ป่วยที่มีแผลในช่องปาก
หากมีปัญหาช่องปากแล้วการดูแลแก้ไขก็อาจแตกต่างกันตามระดับความรุนแรง โดยแบ่งได้เป็นหลายระดับ ดังนี้

          1. เยื่อบุช่องปากเริ่มมีสีแดงบวม เป็นแผลเริ่มมีอาการเจ็บในช่องปากเล็กน้อย
          2. เยื่อบุช่องปากมีสีแดงมีแผลและปวด แต่สามารถรับประทานอาหารธรรมดาหรืออาหารอ่อนได้ 
          3. เยื่อบุช่องปากมีสีแดงบวมมีแผล และปวดมีแผล รับประทานอาหารเหลวได้
          4. เยื่อบุช่องปากอักเสบรุนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ต้องให้อาหารทางสายยางหรือทางหลอดเลือดดำแทน

·        การดูแลกรณีที่ช่องปากอักเสบระดับ 1-2 ผู้ป่วยมีอาการปวดบรรเทาลงแล้ว สามารถรับประทานอาหารได้
    1. ยังใช้การดูแลเหมือนการดูแลช่องปากปกติตามข้างต้น แต่เพิ่มการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุก 2 ชั่วโมง และ รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว
    2. อมน้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการปวดในช่องปากทุก 2 ชั่วโมง นานครั้งละ 5 นาที
 
·        การดูแลกรณีที่ช่องปากอักเสบระดับ 3-4 ผู้ป่วยบรรเทาอาการปวด สามารถรับประทานอาหารได้
    1. ใช้ผ้าสะอาดนุ่มชุบน้ำเกลือพันนิ้วมือเช็ดปากแทนการแปรงฟัน ห้ามใช้ไหมขัดฟัน บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุก 1-2 ชั่วโมง และทาริมฝีปากด้วยวาสลีน
    2. อมน้ำแข็ง เพื่อบรรเทาอาการปวดในช่องปากทุก 2 ชั่วโมง
    3. ใช้ 2% Xylocaine viscious อมกลั้วปากและคอก่อนรับประทานอาหารเพื่อลดความปวด และให้ยาต้านเชื้อราและต้านจุลินทรีย์ ตามคำแนะนำของแพทย์
 
การดูแลฟันปลอม

          สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้ฟันปลอม หลังจากได้รับรังสีในปริมาณหนึ่งจะเกิดการละลายของกระดูก ส่งผลฟันปลอมหลวม ก่อให้เกิดความรำคาญ และเกิดการเสียดสีระหว่างฟันปลอมและเนื้อเยื่อช่องปากทำให้เกิดแผลบาดเจ็บและติดเชื้อได้ และยังทำให้การรับประทานอาหารยากลำบากมากขึ้น

 ผลจากการได้รับการรักษามะเร็งต่อฟันปลอม
 
          1. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

          กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดและใส่ฟันปลอมอยู่จะพบว่า อาจเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อช่องปากและเกิดการติดเชื้อได้ จึงมีจำเป็นต้องถอดฟันปลอมไว้จนกว่าอาการในช่องปากจะดีขึ้น

          2. การรักษาด้วยรังสี

          ผู้ป่วยรังสีรักษาต้องถอดฟันปลอมออกในช่วงระหว่างทำการรักษา และทิ้งไว้อย่างน้อย 3 อาทิตย์ หลังจากฉายรังสีเสร็จ จึงจะเริ่มใส่ฟันปลอมได้อีกครั้ง หากระยะเวลาการรักษาด้วยรังสียาวนานมาก อาจต้องทิ้งฟันปลอมไว้ประมาณ 6-12 เดือน หลังจากฉายรังสีจึงจะเริ่มใส่อีกครั้ง เนื่องจากการฉายรังสีทำให้เหงือกเกิดอาการอักเสบหรือเป็นแผลได้

         อย่างไรก็ตาม ฟันปลอมที่ถอดทิ้งไว้ควรทำความสะอาดก่อนแล้วจึงเก็บในกล่อง แช่น้ำสะอาดไว้ กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ ในช่องปากอาจใส่ฟันปลอมได้ แต่ควรใส่เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น และถอดแช่น้ำไว้เวลากลางคืน ควรทำความสะอาดฟันปลอมด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนและสบู่ เพื่อกำจัดคราบสกปรกและล้างด้วยน้ำสะอาด
 
ใช้ฟูลออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ
          ควรใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการระคายเคืองหรือมีแผลในช่องปาก  โดยเฉพาะผุ้ป่วยรังสีรักษาโดยมีข้อแนะนำดังนี้
          1. ใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟูลออไรด์
          2. การใช้ Professional topical fuloride อย่างน้อย 1 ครั้งในระหว่างการรักษาและหลังสิ้นสุดการรักษาควรทำต่อเนื่องประมาณ 2-3 อาทิตย์ต่อ 1 ครั้ง
 
หากผู้ป่วยมีความผิดปกติหรือเจ็บปวดในช่องปากควรปรึกษาทันตแพทย์โดยด่วนเพื่อลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น
 
 “การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี ช่วยลดการติดเชื้อและการอักเสบ สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง”

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้