กินอย่างไรในผู้ป่วยมะเร็ง

วันที่ 25-12-2013 | อ่าน : 22644


 กินอย่างไรในผู้ป่วยมะเร็ง
 
 
โดย  ดร.กมล  ไชยสิทธิ์
 
       นอกจากให้หมอดูแลแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งสามารถดูแลตัวเองได้เรื่องการกิน โดยสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากในผู้ป่วยมะเร็ง คือ การกินให้เพียงพอ พบว่า เมื่อผู้ป่วยกินอาหารน้อยลงด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ ร่างกายจะเกิดความชิน เช่นเดียวกับคนอดอาหารเพื่อต้องการลดน้ำหนัก ร่างกายจะปรับตัวกินได้น้อยลง เมื่อชินความอยากอาหารจะลดลงภายใน 2-3 วัน จากนั้นจะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนมากขึ้นในผู้ที่กำลังรับเคมีบำบัด เม็ดเลือดต่ำลง รักษาต่อไม่ได้ ที่สำคัญการไม่กินอาหารทำให้เม็ดเลือดแดงขาดออกซิเจนไปเลี้ยง ร่างกายขาดออกซิเจน เมื่อเซลล์มะเร็งได้รับออกซิเจนน้อยจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ทำให้เซลล์มะเร็งดื้อยายิ่งขึ้น
 
       คาร์โบไฮเดรต แนะนำให้กินไม่ต่ำกว่า 100 กรัมต่อวัน ถ้าต่ำกว่านี้พบว่ามวลกล้ามเนื้อผู้ป่วยจะถูกสลายไป กล้ามเนื้อจะลีบ ปริมาณ 100 กรัม คือ ข้าวประมาณมื้อละทัพพีครึ่ง 3 มื้อเป็นอย่างน้อย ข้าวกล้องหรือข้าวขาวก็ได้ ข้าวเหนียวกินได้แต่ไม่บ่อย หากไม่อยากกินข้าวก็กระจายออกวันหนึ่งกิน 5 มื้อ มื้อหนึ่งกินครั้งล่ะครึ่งทัพพี หากคลื่นไส้อาเจียนไม่อยากอาหารเลย อาจเปลี่ยนเป็นกินขนมปังกรอบ (แครกเกอร์) แบบไม่มีน้ำตาล เพียง 4 ชิ้น เท่ากับข้าว 2 ทัพพี ให้พลังงาน 160 กิโลแคลอรี กินได้ปริมาณน้อยแต่ได้พลังงานมากแบบนี้ใช้ได้

       เนื้อสัตว์ การไม่กินเนื้อสัตว์เลยทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำมาก ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันตกช่วยร่างกายจัดการมะเร็งไม่ได้ ยาต้านมะเร็งทุกตัวมีผลกดภูมิคุ้มกันทั้งสิ้น ดังนั้นต้องเสริมด้วยโภชนาการ โดยควรบริโภคเนื้อสัตว์ประมาณ 9-12 ช้อนกินข้าวต่อวัน กินปลาได้แต่ต้องหลากหลาย เลือกแหล่งที่ไม่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก โดยปลาที่เติบโตใกล้ชายฝั่งมักจะปนเปื้อนสารโลหะหนัก ควรประกอบอาหารด้วยวิธีนึ่งหลีกเลี่ยงการทอดน้ำมันร้อนจัด เพราะการทอดทำให้เนื้อปลาสูญเสียโอเมก้า 3 เนื้อสัตว์อื่นกินได้แต่ต้องระวังเนื้อสัตว์ที่มีไขมันแฝง เช่น เนื้อไก่ให้กินเนื้ออก หรือสันใน ไม่กินปีก หนัง หรือน่อง หลีกเลี่ยงเนื้อแดงเพราะแสดงว่าโดนน้ำดีเกิดสารอนุมูลอิสระมากกว่า
       การที่เป็นมะเร็งแล้วก็ไม่กินเนื้อสัตว์เลยนั้นไม่ถูกต้อง แค่เรากินเนื้อสัตว์ให้เป็นควบคุมปริมาณให้ได้ ก็จะไม่กระทบต่อการเป็นมะเร็งมาก 
 
       ไขมัน ที่เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็ง คือ น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดียว (MUFA : Monounsaturated Fatty Acid) ซึ่งมีโอกาสเกิดเป็นอนุมูลอิสระได้น้อยกว่ากรดไขมันแบบอื่น น้ำมันประกอบอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดียวสูง ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว เป็นต้น น้ำมันที่ไม่ดีต่อร่างกายเลย คือ น้ำมันทรานส์ อาทิ เนยขาว มาการีน มักพบมากในเฟร้นซ์ฟราย ป๊อบคอร์น บริโภคน้ำมันทรานส์บ่อย ทำให้มะเร็งโตเร็วมาก ภูมิคุ้มกันตกฮวบ เม็ดเลือดขาวไม่ค่อยขึ้น 
 
     นอกจากเลือกชนิดน้ำมันแล้ว วิธีประกอบอาหารก็สำคัญ น้ำมันมะกอกไม่แนะนำให้นำมาทอดอาหารน้ำมันท่วม เพราะจะเกิดควันมาก ควรเปลี่ยนเป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวมากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดอนุมูลอิสระ อาทิ น้ำมันปาล์ม 
 
       ผัก ควรกินวันละ 3-5 ส่วน 1 ส่วนของผัก น้ำหนักประมาณ 70 กรัม อาทิ มะเขือเทศผลใหญ่ 1 ผล กะหล่ำหั่นเป็นพู 1 พู เป็นต้น ควรเน้นสีของผักให้หลายสี โดยผักในกลุ่มของดอกกะหล่ำและบร็อคโคลีมีผลต่อการควบคุมเซลล์มะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดี ผักที่มีธาตุเหล็กสูง อาทิ ถั่วแดง ผักโขม ผักใบเขียวเข้มต่างๆ ผักที่มีเส้นใยสูง อาทิ พืชตระกูลถั่ว การปรุงผักต้องใช้ความร้อนไม่นานและน้ำไม่มากเพื่อรักษาสารอาหาร
 
       ผลไม้ ควรเลือกกินผลไม้ไม่หวานจัด ผลไม้ (รวมถึงผัก) ที่มีเส้นใยสูงช่วยในระบบย่อยอาหาร แต่ควรดื่มน้ำมากๆ ในผู้ป่วยเพิ่งได้รับการผ่าตัด ผู้ป่วยท้องเสีย ควรพิจารณางดผลไม้ (รวมถึงผักและอาหาร) ที่ให้เส้นใยสูงก่อน
 
       อนึ่งผักผลไม้หลายชนิดมีสารต้านมะเร็งสูง แต่พบว่ามีการสารตกค้างพวกยาฆ่าแมลงมากเช่นเดียวกัน แนะนำวิธีล้างเพื่อลดสารตกค้างได้มากที่สุด คือ ใช้ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมัง แช่ผักผลไม้ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดหลายครั้งๆ 
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้