มะเร็งต่อมน้ำลาย (Salivary Gland Cancer)

วันที่ 04-12-2013 | อ่าน : 73333


 มะเร็งต่อมน้ำลาย

          มะเร็งต่อมน้ำลาย ถึงแม้จะเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้ค่อนข้างน้อยมาก แต่ก็เป็นมะเร็งอีกชนิดที่อันตรายมากเช่นกัน มะเร็งต่อมน้ำลาย เกิดขึ้นที่ต่อมน้ำลาย ซึ่งต่อมน้ำลายจะอยู่ในบริเวณปากและลำคอ มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการย่อยอาหาร และยังป้องกันการเสื่อมสภาพของฟันด้วย

          โดยทั่วไปต่อมน้ำลายแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือต่อมน้ำลายหลักและต่อมเล็กต่อมน้อยที่กระจายอยู่ในช่องปาก ต่อมน้ำลายหลักมีอยู่ 3 คู่ 3 ตำแหน่งคือ ต่อมน้ำลายหน้าหู เป็นต่อมน้ำลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร เป็นต่อมน้ำลายขนาดกลาง และสุดท้ายต่อมน้ำลายใต้ลิ้น เป็นต่อมน้ำลายหลักที่มีขนาดเล็กที่สุด ต่อมน้ำลายนอกจากมีหน้าที่ผลิตน้ำลาย ซึ่งย่อยอาหารพวกแป้งและน้ำตาลเป็นหลักแล้ว ในน้ำลายยังมีสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ที่ช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคภายนอกที่ผ่านเข้ามาในช่องปากและลำคออีกด้วย

 

         
                                
                               ต่อมน้ำลายหน้าหู(Parotid gland) ซึ่งเป็นต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุด มีโอกาสเป็นมะเร็ง 25% 
                               ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร (Submandibular gland) มีโอกาสเป็นมะเร็ง 50%
                               ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual gland) มีโอกาสเป็นมะเร็งมากที่สุดคือประมาณ 75% 
 
อาการ
           อาการของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำลายส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์คือ มีก้อนผิดปกติบริเวณต่อมน้ำลายซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บบริเวณก้อน ไม่ว่าจะคลำได้เองโดยบังเอิญหรือมีคนทักหรือจากการตรวจร่างกายประจำปี โดยต่อมน้ำลายที่มีขนาดเล็กจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่าต่อมน้ำลายที่มีขนาดใหญ่ ส่วนอาการอื่น ๆ ที่จะปรากฏภายนอก คือ         
            1. มีก้อนเนื้อหรืออาการบวมบริเวณ ขากรรไกร ในคอ หรือในปาก
            2. มีอาการชาบริเวณใบหน้ามีอาการชาหรือเจ็บปวดบริเวณใบหน้า
            3. ไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อ บริเวณหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
            4. มีอาการปวดบริเวณต่อมน้ำลาย
            5. มีปัญหาเรื่องการกลืนหรือการอ้าปาก กลืนอาหารลำบาก
            6. ไม่สามารถอ้าปากกว้างได้
            7. หน้าข้างซ้าย และข้างขวามีขนาดไม่เท่ากัน
            8. กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง
           
ระยะของโรค
            มะเร็งต่อมน้ำลายเป็นมะเร็งที่ไม่ค่อยมีการแพร่กระจายตามกระแสโลหิต (แต่ถ้ามีมักจะกระจายไปที่ปอด) ส่วนใหญ่จะเป็นการลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง และไปต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ มะเร็งต่อมน้ำลาย แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
                - ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังลุกลามอยู่เฉพาะในต่อมน้ำลาย
                - ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งขนาดโตขึ้น แต่ยังลุกลามอยู่เฉพาะในต่อมน้ำลาย
                - ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง และ/หรือลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองที่คอ แต่ขนาดต่อมน้ำเหลือยังเล็กอยู่
                - ระยะที่ 4 โรคลุกลามและยึดติดกับอวัยวะข้างเคียง และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่คอ และต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโต หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองหลายต่อม และ/หรือ มีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด
ความรุนแรงของมะเร็งต่อมน้ำลาย
                - ระยะของโรค ระยะยิ่งสูงขึ้น ความรุนแรงก็มากขึ้น
                - ชนิดของเซลล์มะเร็ง
                - การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ถ้ามีการแบ่งตัวสูง ความรุนแรงของโรคก็สูงขึ้น
                - การที่สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้หมด จะควบคุมโรคได้ดีกว่าการผ่าตัดไม่ได้หรือผ่าตัดออกได้เพียงบางส่วน
 
วิธีการรักษา
          การรักษามะเร็งต่อมน้ำลาย มี 2 วิธี คือ การผ่าตัดและการฉายรังสี ภายหลังการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกแล้ว แพทย์จะมีการตรวจก้อนเนื้อทางพยาธิวิทยา เพื่อดูข้อบ่งชี้ว่าจะต้องให้รังสีรักษาด้วยหรือไม่
 
          การผ่าตัด เป็นการรักษาหลัก ยกเว้นในกรณีที่ก้อนเนื้อนั้น มีขนาดใหญ่มากหรือตำแหน่งของก้อนเนื้อนั้น อยู่ชิดกับกระดูกขากรรไกร แพทย์ผู้รักษาจึงจะใช้วิธีการฉายรังสี  
          - การผ่าตัดเนื้องอกบริเวณต่อมน้ำลายหน้าหู จำเป็นต้องลงแผลค่อนข้างยาว เนื่องจากมีความจำเป็นต้องเข้าไปหาเส้นประสาทที่มาเลี้ยงใบหน้าและเก็บไว้ให้กับผู้ป่วย หากเกิดอันตรายกับเส้นประสาทเส้นนี้จะทำให้กล้ามเนื้อที่แสดงอารมณ์ของใบหน้าทำงานผิดปกติ เช่น ปิดตาไม่สนิท ปากเบี้ยวเวลายิ้มหรือทำปากจู๋ ซึ่งอาจเป็นชั่วคราว (ประมาณ 1-2 เดือน) หรือเป็นแบบถาวร ในกรณีที่ช้ำมากหรือถูกตัดขาดเป็นต้น 
          - หากเป็นเนื้องอกของต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร แนะนำให้ตัดออกเช่นเดียวกัน โดยจะลงแผลบริเวณใต้ขากรรไกร ความยาวประมาณ 4-5 ซม. แล้วเข้าไปตัดเนื้องอกออก บริเวณนี้จะมีเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงมุมปาก รวมทั้งเส้นประสาทรับความรู้สึกที่ลิ้น ซึ่งต้องทำการผ่าตัดด้วยความระมัดระวังหลังการผ่าตัด แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา หากเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม แต่หากโชคไม่ดีเป็นเนื้องอกชนิดร้ายหรือเป็นมะเร็ง การรักษาขั้นตอนต่อไป จะขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง บางชนิดอาจไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม ใช้ติดตามการรักษาก็เพียงพอ บางชนิดจำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อนำต่อมน้ำลายที่เหลือออกให้หมดหรืออาจจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลือง บริเวณลำคอออกทั้งหมดด้วย นอกจากนี้แล้ว อาจจำเป็นต้องให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยการให้รังสีรักษาหรือให้เคมีบำบัดเพิ่มเติมอีกด้วp
 
            การฉายรังสี  ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในระยะที่ร้ายแรงหรือมะเร็งมีการลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ นอกต่อมน้ำลาย อาจมีการฉายรังสีหลังผ่าตัด และถ้าก้อนเนื้อไม่สามารถผ่าตัดออกไปได้ การฉายรังสีเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะสามารถรักษามะเร็งต่อมน้ำลายได้
การฉายรังสี มีข้อบ่งชี้ดังนี้
                - ชนิดของเซลล์มะเร็งที่รุนแรง
                - มะเร็งที่ลุกลามไปเนื้อเยื่อข้างเคียง
                - มะเร็งลามไปต่อมน้ำเหลือง
                - มะเร็งกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด
                - มะเร็งลุกลามไปที่ผ่าตัดออกไม่หมด  

 
            การให้เคมีบำบัด จะใช้สำหรับรายที่มีการแพร่กระจายของโรคหรือตามความเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้