วันที่ 26-08-2013 | อ่าน : 9105
ตับอ่อน เป็นอวัยวะที่ง่ายต่อการอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง เนื่องจากการผลิตสารอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคเบาหวาน และอาจพัฒนาไปเป็นเนื้องอกหรือมะเร็ง ความผิดปกติของตับอ่อนเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ การถ่ายทอดทางพันธุกรรม การใช้ยา การดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงโรคอ้วน ความผิดปกติของตับอ่อนดังกล่าว อาจจะรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิตได้
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติที่ตับอ่อน อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดท้องเล็กน้อยจนถึงขั้นปวดอย่างรุนแรง มีความผิดปกติของลำไส้ ทั้งนี้อาการขึ้นอยู่กับความผิดปกติที่ตับอ่อนนั้นเป็นอย่างไร การรักษาโรคในตับอ่อนอาจมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขตามอาการ หรือขจัดปัจจัยแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดอาการ เช่น งดแอลกอฮอล์ งดยาที่เป็นสาเหตุ หรือการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ รวมถึงใช้โภชนบำบัด
ผักผลไม้และธัญพืช
อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ จำพวกผักผลไม้และธัญพืช ทั้งนี้สมาคมโภชนาการแห่งสหรัฐอเมริกาได้แนะว่า ควรบริโภคผักสดและผลไม้วันละ 2-3 ถ้วย และธัญพืชประมาณ 1 ออนซ์ (ประมาณ 28 กรัม ต่อวัน) อาจจะเพิ่มผักผลไม้จำพวก บลูเบอร์รี่ มะเขือเทศ ผักปวยเล้ง ฟักทอง และผลไม้ตระกูลส้ม ในมื้ออาหารหรือเป็นของว่างระหว่างวัน และควรเลือกบริโภคข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท และรำข้าว ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง
เนื้อสัตว์ นม และไขมัน
อาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตับอ่อน จึงควรจำกัดการบริโภคไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่าร้อยละ10 ของปริมาณแคลลอรีที่บริโภคต่อวัน หรือตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ควรทดแทนอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทอดโดยเฉพาะหนังไก่ทอด ด้วยเนื้อปลาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และนมไขมันต่ำ
หลีกเลี่ยงการประกอบอาหารด้วยเนย หรือน้ำมันหมู ควรใช้น้ำมันมะกอกแทน ที่สำคัญควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อดูปริมาณไขมันอิ่มตัว และควรเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ และน้ำตาลน้อย
การเสริมโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน
ตับอ่อนมีส่วนเกี่ยวข้องในการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร การเป็นมะเร็งที่ตับอ่อนย่อมส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อภาวะโภชนาการของผู้ป่วย ร่างกายของผู้ป่วยต้องการปริมาณแคลลอรี่และโปรตีนจำนวนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายย่ำแย่ เพื่อนำสารอาหารไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเสริมภูมิคุ้มกัน ทางที่ดีที่สุดคือ รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักโภชนาการเพื่อวางแผนส่งเสริมโภชนาการในผู้ป่วย และควรปฏิบัติดังนี้
- เตรียมอาหารมื้อย่อย ทุกๆ 1 -2 ชั่วโมง แทนที่จะเป็น 3 มื้อหลัก เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการปวด คลื่นไส้ หรือปัญหาการย่อย ทำให้ยากที่จะเคี้ยวหรือกลืนอาหารในปริมาณมากต่อมื้อ ควรมีอาหารว่าง อาทิ นมปั่น เครื่องดื่มเสริมอาหาร ขนมปังแครกเกอร์กับชีส หรือพวกขนมมัฟฟิน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานและสารอาหารครบถ้วน
- ให้เอนไซม์เพื่อช่วยในการย่อยของผู้ป่วย โดยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลการให้เอนไซม์อย่างใกล้ชิด เอนไซม์จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังการรับประทานอาหาร
- ให้ผู้ป่วยรับอาหารอ่อนๆ หากเกิดอาการคลื่นไส้ ควรให้ผู้ป่วยจิบของเหลวตลอดวันเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ ห้ามผู้ป่วยนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรเว้นช่วงประมาณ 1 ชั่วโมง
- ควบคุมปริมาณอินซูลินและการตรวจสอบน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากตับอ่อนไม่สามารถผลิตสารอินซูรินได้เพียงพอ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- เพิ่มโปรตีนและแคลอรี่ในอาหารที่ผู้ป่วยรับประทาน เพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำหนัก อาทิ เพิ่มชีส ถั่ว ผลไม้แห้ง หรืออาหารเช้าจำพวกซีเรียล ที่ประกอบด้วยน้ำนมใส่ผลไม้แห้ง ผลไม้เปลือกแข็ง หรือข้าวอบ
เคล็ดลับและคำเตือน
- ต้องรู้ว่าอาหารชนิดไหนที่ผู้ป่วยชอบและไม่ชอบ เพราะอาหารที่ชอบจะสามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้บ่อยขึ้น
- ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงเรื่องอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง และถ้าหากว่าผู้ป่วยไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว ในบางกรณีผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องให้อาหารทางสายยาง เพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอต่อร่างกาย
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้