ตรวจแป๊บสเมียร์ระวังภัยมะเร็งปากมดลูก

วันที่ 29-07-2013 | อ่าน : 38920


 
 ตรวจแป๊บสเมียร์ระวังภัยมะเร็งปากมดลูก
 

 

มะเร็งปากมดลูก  เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของสตรีไทย มีอุบัติการณ์ปรับตามมาตรฐานอายุ (age standardized rate) เท่ากับ 19.5 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี เป็นโรคที่มีการดำเนินโรคช้าใช้เวลานาน มีการตรวจคัดกรองโรคที่ง่ายแพร่หลายและการรักษาได้ผลดี แต่ก็ยังมีสตรีไทยต้องเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้ทุกปี ด้วยอัตรา 10.8 ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี เนื่องจากโรคไม่ได้ถูกตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกที่เซลล์เริ่มเปลี่ยนแปลง หรือระยะก่อนเป็นมะเร็ง  เราควรให้ความสำคัญของ ภาวะก่อนมะเร็งปากมดลูก ในแง่ของการป้องกันการเกิด การค้นหาโรค การรักษารวมถึงการเฝ้าติดตามก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก
      

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก

          เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่า สาเหตุของภาวะก่อนมะเร็งปากมดลูกและพัฒนากลายเป็น มะเร็งปากมดลูก คือเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) เป็นเชื้อไวรัสชนิด double-stranded DNA ที่มีขนาดเส้นผ่าศนย์กลาง 55 นาโนเมตร ทนความแห้งแล้งได้ดี และสามารถเกาะติดที่ผิวหนังโดยที่ไม่มีอาการ (asymptomatic ) และทำให้เกิดพยาธิสภาพได้บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ตามความสามารถในการก่อมะเร็ง ( carcinogenic potential ) ได้แก่
 

          1. กลุ่มความเสี่ยงต่ำ ( low risk HPV ) คือเชื้อไวรัส HPV ที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ บริเวณอวัยวะสืบพันธ์ภายนอกและ ภายใน หรือ ทำให้เกิดภาวะก่อนมะเร็งชนิด mild dysplasia หรือ low grade squamous intraepithelial lesion (LSIL) เชื้อไวรัสในกลุ่มนี้ได้แก่ สายพันธ์ 6,11, 42-44, 53-55, 62 และ 70
 

          2. กลุ่มความเสี่ยงสูง ( high risk HPV ) คือเชื้อไวรัส HPV ที่ทำให้เกิดพยาธิสภาพบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ภายนอก ภายใน และ ทวารหนัก ได้ตั้งแต่ ภาวะก่อนมะเร็งชนิด mild dysplasia (LSIL) จนถึงภาวะก่อนมะเร็งชนิด moderate dysplasia, severe dysplasia และ carcinoma in situ หรือรวมเรียกว่า high grade squamous intraepithelial lesion ( HSIL) และมะเร็งระยะลุกลาม ( invasive cancer)


การค้นหาไวรัส HPV ทำได้โดยการตรวจแป๊บสเมียร์ (Pap smear test)
 

เริ่มต้นตรวจแป๊บสเมียร์เมื่อใด  ภายหลังมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด (vaginal intercourse) 3 ปี หรืออายุ 21 ปี


ตรวจแป๊บสเมียร์มีกี่แบบ

       -  แป๊ปเสมียร์ (Conventional Pap Smear) เป็นการตรวจหามะเร็งปากมดลูกแบบเดิม แพทย์ผู้ตรวจจะใช้อุปกรณ์ทำจากแผ่นไม้บางๆ ที่ปราศจากเชื้อ ขูดเยื่อบุผิวบนปากมดลูกและเก็บสารน้ำในช่องคลอดแล้วป้ายลงบนแผ่นสไลด์แก้ว ส่งไปย้อมสีและส่องชันสูตรด้วยกล้องจุลทรรศน์ มีข้อเสียคือ หากผู้รับการตรวจมีการอักเสบภายใน  มีมูกขาวมาก มีเลือดออก อาจทำให้เชื้อถูกบดบังและตรวจไม่พบได้

 

       -  ตินเพร็พ (ThinPrep) เป็นวิธีการตรวจหามะเร็งปากมดลูกแบบใหม่ แพทย์ผู้ตรวจจะใช้อุปกรณ์เฉพาะเก็บตัวอย่าง ป้ายเยื่อบุผิวจากบริเวณปากมดลูกเช่นเดิม แต่นำเซลล์ตัวอย่างที่เก็บมาได้ แช่ในขวดน้ำยาเพื่อรักษาเซลล์  แล้วนำเข้าเครื่องอัตโนมัติในการเตรียมเซลล์บนสไลด์แก้ว มีการกำจัดสิ่งปนเปื้อนของมูก เซลล์เม็ดเลือด หรือลดการซ้อนทับกันของเซลล์ที่หนาแน่นเกินไป ทำให้เพิ่มโอกาสในการตรวจพบความผิดปกติได้ดียิ่งขึ้น

       -  Liquid based เป็นวิธีการตรวจหามะเร็งปากมดลูกแบบใหม่ วิธีการเก็บตัวอย่างและส่งตรวจตามมาตรฐานและวิธีเดียวกับ TrinPrep


ความถี่ในการตรวจ

       -  ตรวจทุกปี กรณี conventional Pap smear ปกติ
       -  ทุก 2 ปี กรณี liquid-based Pap smear (Thin Prep หรือ Liqui Pap) ปกติ
       -  ทุก 3 ปี กรณี liquid-based Pap smear ปกติและการตรวจหา high-risk HPV ให้ผลลบ
       -  หลังอายุ 30 ปี ถ้าผลตรวจ Pap smear ปกติติดต่อกัน 3 ปี อาจตรวจทุก 2-3 ปีก็ได้ กรณีที่ความเสี่ยงต่ำ

       กรณีที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ได้ฮอร์โมน DES ขณะตั้งครรภ์ ได้รับยากดภูมิคุ้มกันภายหลังปลูกถ่ายอวัยวะ ได้เคมีบําบัด หรือ ได้รับยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลายาวนาน แนะนำให้ตรวจทุกปี


หยุดตรวจ Pap smear เมื่อใด

       -  อายุมากกว่า 70 ปี
       -  ผลตรวจ Pap smear ปกติติดต่อกัน 3 ปี ในช่วง 10 ปีสุดท้าย
       -  ไม่พบผลตรวจ Pap smear ผิดปกติ ในช่วง 10 ปี สุดท้าย
       -  มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV

การตรวจ Pap smear ภายหลังตัดมดลูก

       -  กรณีที่ยังเหลือปากมดลูก (subtotal hysterectomy) แนะนำตรวจต่อไป
       -  การตัดมดลูกเนื่องจากมะเร็งทางนรีเวช (gynecologic cancer)
       -  การตัดมดลูกเนื่องจาก CIN 2 หรือ CIN 3
       -  กรณีที่มดลูกที่ตัด ไม่มีประวัติชัดเจนว่า มีภาวะ CIN 2 หรือ CIN 3 หรือไม่

การแปลผลที่มีใช้ในปัจจุบัน


       นับแต่ Dr.George Papanicolaou เริ่มมีการใช้  Pap smear มาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พบว่าลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกชนิดลุกลาม และลดอัตราเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ลดลงมาก การแปลผลของแป๊บสเมียร์ แบ่งเป็น 5 คลาส (class) ดังนี้
 

คลาส 1 (Class I)  ผลเป็นลบ : เซลล์ปกติ

คลาส 2 (Class II) ผลเป็นลบ : ไม่มีสัญญาณของความรุนแรง แต่มีบางเซลล์ผิดปกติ

คลาส 3 (Class III) ผลน่าสงสัย : ประกอบด้วยเซลล์ที่ผิดปกติ แต่ยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง

คลาส 4 (Class IV) ผลเป็นบวก : แยกแยะเซลล์ที่ผิดปกติได้

คลาส 5 (Class V) ผลเป็นบวก : มีเซลล์ที่ผิดปกติจำนวนมาก หรือเป็นกลุ่มของเซลล์ผิดปกติ


          โดยถือว่าถ้าผลแป๊บสเมียร์ ตั้งแต่คลาส 3 (class III) ขึ้นไป ถือว่าผิดปกติจากการคัดกรอง ถ้าเป็นคลาส 2 (class II) ผู้ป่วยจะได้รับการนัดติดตามด้วยการทําแป๊บสเมียร์ อีก 6 เดือนโดยประมาณ และถ้าแปรผลว่าเป็นคลาส 3 (class III) ผู้ป่วยจะได้รับการนัดตรวจด้วย กล้องส่องปากมดลูก (colposcopic examination)

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้