รู้ลึกรู้จริง...พิชิตมะเร็งเต้านมให้ได้ผล
วันที่ 21-06-2013 | อ่าน : 31637
รู้ลึก รู้จริง พิชิตมะเร็งเต้านมให้ได้ผล
โดย รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ
หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มะเร็งเต้านมไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เกิดจากทำตัวเอง มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากยีน แบบดาราฮอลลีวู้ด แองเจลีน่า โจลี่ ที่เมื่อไม่นานมานี้ ได้ตัดสินใจผ่าตัดซึ่งใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง เพื่อตัดเต้านมและตัดรังไข่ทิ้งทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากว่า เธอมียีนที่ทำให้เป็นมะเร็งเต้านม ยืนยันว่าเธอยังไม่เป็นมะเร็งเต้านม แต่ตัดเพื่อป้องกันการเป็นมะเร็งเต้านม ถือเป็นตัวอย่างเป็นต้นแบบของผู้หญิงทั้งโลก
เราจะน็อคเอ้าต์มะเร็งได้ มีเคล็ดลับ 4 ข้อ ได้แก่
(1) ความหวัง ถ้าปราศจากความหวังแล้ว การจะทำอะไรก็ยาก
(2) รอด ต้องหาวิธีทำอย่างไรให้รอดชีวิต
(3) กำลัง ต้องมีทั้งกำลังกาย กำลังใจ
(4) ศรัทธา ต้องมีความศรัทธาเชื่อมั่นในตัวเอง คนรอบข้าง และบุคลากรทางการรักษา
อุบัติการณ์มะเร็งเต้านม
ในฝรั่งผิวขาว พบมะเร็งเต้านมประมาณ 92 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ส่วนประเทศไทยเทียบกับฝรั่งแล้วยังพบมะเร็งเต้านมน้อยกว่ามาก โดยพบประมาณ 22 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเริ่มมีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามาก เริ่มรับประทานอาหารอย่างฝรั่ง กินอาหารจานด่วน ผัก ผลไม้ไม่รับประทาน กินอาหารไขมันสูง ไม่ออกกำลังกาย มีความเครียดสูง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พวกนี้เป็นปัจจัยของการเป็นมะเร็ง หลายชนิดรวมทั้งมะเร็งเต้านม
แม้ประเทศไทยพบมะเร็งเต้านมน้อยว่าประเทศอื่น แต่มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย ติดต่อกันมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว ชนะมะเร็งปากมดลูกซึ่งเดิมเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมะเร็งเต้านมเรายังไม่ได้ป้องกันปัจจัยเสี่ยง
อัตราเสียชีวิตของมะเร็งเต้านม
สิ่งที่น่าสนใจ คือ เกิดโรค 22 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคนในไทย แต่ปรากฏว่าอัตราการเสียชีวิตแค่ประมาณ 10 คน ต่อแสนคน ประมาณแค่ร้อยละ 30 หรือ แค่ 1 ใน 3 เท่านั้น เพราะเรามีนวัตกรรมในการรักษาโรค
เต้านมคืออะไร?
หน้าที่หลักของเต้านม คือ ผลิตน้ำนมเลี้ยงลูก ส่วนใหญ่ของเต้านมเป็นไขมัน ส่วนสำคัญที่เป็นมะเร็งเต้านมจะอยู่บริเวณท่อน้ำนม กับ กลีบน้ำนม (ต่อมน้ำนม) ซึ่งต่อมน้ำนมนี้ทำหน้าที่สร้างน้ำนมแล้วส่งไปตามท่อน้ำนม แล้วออกไปทางหัวนม เมื่อไหร่ก็ตามถ้ามีการกลายพันธุ์ของเซลล์ของท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ก็จะทำให้เกิดมะเร็งได้
เวลาเป็นมะเร็งก็หน้าตาไม่เหมือนกัน โดยถ้าเกิดขึ้นที่บริเวณต่อมน้ำนม จะเป็นมะเร็งที่เรียกว่าล็อบบูล่าคาร์ซิโนม่า (Lobular carcinoma) ซึ่งมะเร็งชนิดนี้มักจะเป็น 2 ข้าง ตอบสนองดีต่อฮอร์โมนบำบัดแต่ใช้เคมีบำบัดไม่ค่อยได้ผล อีกชนิดหนึ่งที่พบมากกว่า คือ มะเร็งที่เกิดจากท่อน้ำนม เราเรียกว่า ดัคตอลคาร์ซิโนม่า (Ductal carcinoma) ใช้ยาได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็น เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด ยารักษาตามเป้าหมาย
มะเร็งมีการเติบโตเป็นขั้นตอน ผู้ป่วยควรจะรู้ว่าเป็นมะเร็งอะไรและเป็นระยะไหน การรักษาแต่ละระยะไม่เหมือนกัน เพราะว่าการดำเนินโรคไม่เหมือนกัน
มะเร็งเต้านมกับพันธุกรรม?
ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเกิดขึ้นจากพันธุกรรม ยีนสำคัญที่เกี่ยวข้องมี 2 ตัว คือ ยีนบีอาร์ซีเอ 1 (BRCA1) และยีนบีอาร์ซีเอ 2 (BRCA2) ยีนเป็นตัวกำหนดรหัสว่ามนุษย์จะเป็นอย่างไร ถ้ารหัสถ่ายทอดผิดปกติก็อาจจะเป็นเซลล์ร้ายกลายเป็นมะเร็งได้ อาทิ แองเจลีน่าโจลี่มีการกลายพันธุ์ของยีนบีอาร์ซีเอ 1 ที่โครโมโซมคู่ที่ 17 ยีนบีอาร์ซีเอ 2 ที่โครโมโซมคู่ที่ 13 โอกาสที่เธอจะเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 87 และจะเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึงร้อยละ 50 ทำให้เธอต้องตัดทิ้งทั้งหมดเพื่อป้องกันทั้งที่ยังไม่ได้เป็น
ทีนี้บางคนอาจจะสงสัยว่า เราอยู่ในโลกใบนี้เราก็เจอสารก่อมะเร็งมากมายทำไมไม่เป็นมะเร็ง บางคนทำไมไม่สูบบุหรี่เป็นมะเร็ง บางคนสูบมาตลอดชีวิตก็ไม่เป็น เหตุผลอันหนึ่งที่อธิบายได้คือ เรามียีนผู้พิทักษ์ (Guardian gene) โดยยีนบีอาร์ซีเอ 1 และบีอาร์ซีเอ 2 เป็นยีนผู้พิทักษ์ ช่วยซ่อมแซมดีเอ็นเอที่กลายพันธุ์ เมื่อซ่อมได้ก็ไม่เป็นมะเร็ง ในทางกลับกัน ถ้าซ่อมไม่ได้ หรือซ่อมผิด หรือยีนนี้หายไป เราก็เป็นมะเร็งได้
การจะรู้ได้ว่าเป็นมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากยีนบีอาร์ซีเอ 1 และ 2 ดูทั้งหมด 6 อย่าง ได้แก่
1. อายุน้อย การเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย ประมาณ 20-30 ปี อาจจะเป็นมะเร็งที่เกิดจากมรดกมะเร็ง คือ พ่อแม่ให้ยีนที่ผิดปกติมา
2. มะเร็งรังไข่ในครอบครัว ยิ่งถ้ามีทั้งเต้านมและรังไข่ หรือมีหลายคนในครอบครัว โอกาสที่มะเร็งจะเกิดขึ้นจากมรดกมะเร็งยิ่งมีมากขึ้น
3. มะเร็งเต้านมทั้ง 2 เต้า
4. ยิวเชื้อสายแอชเคนาซี ซึ่งจะมียีนบีอาร์ซีเอ 1 บีอาร์ซีเอ 2 กลายพันธุ์มาก เป็นสัญลักษณ์ประจำตระกูลของยิวเชื้อสายนี้
5. มะเร็งเต้านมในผู้ชาย ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านม บวกกับประวัติครอบครัวเป็น อาจมียีนบีอาร์ซีเอ 1 บีอาร์ซีเอ 2 กลายพันธุ์ก็ได้ ซึ่งใน 100 คน ที่เป็นมะเร็งเต้านม จะเป็นผู้ชาย 1 คน
6. มะเร็งเต้านมชนิดไตรโลปะ (Triple negative breast cancer) เป็นมะเร็งไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมน และไม่ใช่ยีนมะเร็งชนิดเฮอร์ทู (Her-2)
การตรวจยีนช่วยทำนายการเกิดมะเร็งได้แม่นยำที่สุด ซึ่งในประเทศไทยตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็ตรวจได้แล้ว เราอาจสู้มะเร็งโดยไปกำหนดยีนไม่ได้ เพราะว่ายีนเป็นรหัสพันธุกรรมที่รับมาจากพ่อแม่ แล้วอาจมีการกลายพันธุ์ระหว่างที่เราดำรงชีวิตอยู่ มะเร็งทุกชนิดเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของยีน 100% การตรวจจะช่วยบอกเราได้ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เช่น คนทั่วไปมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 11% แต่พอเจอยีนบาร์ซีเอ 1 โอกาสจะเป็นมะเร็งก็กระโดดขึ้นไป 6 เท่า เสี่ยงเป็น 65% และยีนบีอาร์ซีเอ 2 เสี่ยงประมาณ 45% อีกทั้งอายุเฉลี่ยการเป็นมะเร็งก็น้อยลง จาก 60 ปีกว่าปี ก็เหลือ 40 กว่าปี เป็นต้น
สาวสองพันปีเสี่ยงมะเร็งสูง
มีการศึกษาในอเมริกาลงในนิวอิงแลนด์เจนนัลเมดดีซีน ซึ่งเป็นนิตยสารการแพทย์อันดับหนึ่งของโลก ศึกษาเอ็กซเรย์แมมโมแกรมดูความหนาแน่นของเนื้อเต้านม พบว่า ถ้าเนื้อเต้านมของคนที่ประจำเดือนหมดนานหนาแน่นกว่าคนวัยเดียวกัน 3 เท่า โอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ยิ่งอายุมากขึ้นเต้านมยังหนาแน่นขึ้น อายุ 75 ปี ยังไม่แก่ สาวสองพันปีเต้านมยังสวยเต่งตึงมีเนื้อเป็นสีขาวสวยงาม ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า โดยความหนาแน่นของเต้านมที่มากแสดงว่าต่อมน้ำนมกับท่อน้ำนมเหลือมาก โอกาสเป็นเชื้อให้กับการเป็นมะเร็งสูงขึ้น
สัญญาณเตือนภัยของมะเร็งเต้านม
ร้อยละ 85 ของคนไทย มาหาหมอเพราะคลำก้อนได้ การคลำก้อนได้เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นมะเร็งเต้านม การตรวจเต้านมเดือนละครั้งช่วยป้องกันหรือวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้ แล้วควรตรวจด้วยแพทย์ปีละครั้ง
ถ้าตรวจเจอก้อนเจอลักษณะแดงๆ เหมือนเต้านมอักเสบ เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดร้ายแรง หรือมะเร็งเต้านมชนิดอักเสบ ต้องรีบให้เคมีบำบัด ผ่าตัด ฉายแสง ต้องทำทุกอย่างเพราะว่ามีความร้ายแรงมาก ถ้าไม่รักษาครบถ้วนโอกาสอยู่ถึง 5 ปี แทบจะไม่มี หรืออาจจะคลำก้อนได้ที่ไหปลาร้าหรือรักแร้ หรือบางทีมีน้ำเลือดน้ำหนองออกมาจากเต้านม นี่ล้วนเป็นสัญญาณเตือนภัยของมะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นการดูเต้านมสำคัญมาก ควรตรวจเดือนละครั้ง
นอกจากการตรวจด้วยตัวเองควรมีการตรวจด้วยแมมโมแกรม โดยเอาเต้านมมาบีบบนล่างซ้ายขวา สมัยนี้เริ่มเป็นดิจิตอลแมมโมแกรม บีบแล้วต้องมีความเจ็บเล็กน้อยไม่เจ็บแสดงว่าบีบไม่เต็มที่ ต้องบีบให้เต็มที่จึงจะเห็นชัด ควรตรวจเมื่ออายุ 40-50 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจ 1-2 ปีครั้ง แต่ถ้ามีความเสี่ยงมีประวัติในครอบครัวอาจจะต้องตรวจเร็วขึ้น
นอกจากนั้น มีเทคโนโลยีใหม่โดยตรวจยีนเพื่อทำนายความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ประเทศไทยเรามีแล้วเรียกว่า ออนโคไทพ์ ดีเอ๊กซ์ (Oncotype DX) คือ เอาก้อนเนื้อมาตรวจหายีน 21 ยีน เพื่อดูความเสี่ยงว่าโอกาสการเป็นมะเร็งมีมากน้อยแค่ไหน
ระยะของมะเร็งเต้านม มี 5 ระยะ ตั้งแต่ 0,1,2,3,4 แต่ละระยะรักษาไม่เหมือนกัน ต้องได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง วินิจฉัยผิดก็จะรักษาผิด เช่น มะเร็งระยะ 0 ผ่าแล้วไม่ต้องรื้อต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ แต่ระยะ 1,2,3 ต้องรื้อต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกด้วย หากเป็นมะเร็งระยะ 1-3 แต่ไปผ่าตัดแบบระยะ 0 ไม่รื้อต่อมน้ำเหลืองออก ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่
มะเร็งเต้านมมีทั้งหมดอย่างน้อย 3 ชนิด มี 5 ระยะ
1. ชนิดตอบสนองต่อฮอร์โมนบำบัด
2. ชนิดเฮอร์ทู (Her 2 positive)
3. ชนิดไตรโลปะ (Triple negative)
การรักษามะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นมะเร็งเต้านม ต้องรู้ก่อนว่า
(1) พยาธิสภาพเป็นแบบไหน เกิดขึ้นจากต่อมหรือเกิดขึ้นจากท่อน้ำนม
(2) เป็นระยะไหน
(3) ความเสี่ยงมากแค่ไหน ก้อนโตก้อนเล็กเข้าต่อมน้ำเหลืองหรือเปล่า เข้าไปในสายน้ำเหลืองหรือเส้นเลือดหรือเปล่า หรือตรวจดีเอ็นเอเพื่อประเมินความเสี่ยง
(4) เป็นมะเร็งเต้านมสายพันธุ์อะไร
มะเร็งเต้านมมีอย่างน้อย 3 สายพันธุ์
(1) ชนิดตอบสองต่อฮอร์โมนบำบัด พบประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย เป็นมะเร็งที่เจริญเติบโตด้วยฮอร์โมน ซึ่งเราสามารถที่จะรักษาด้วยยาฮอร์โมนบำบัด เป็นชนิดที่รักษาง่ายที่สุด มักจะเจอในคนสูงอายุ
(2) ชนิดเฮอร์ทู โดยเฮอร์ทูเป็นยีนตัวก่อมะเร็ง ถ้ามียีนเฮอร์ทูอยู่ ผู้ป่วยอายุสั้น โรคแพร่กระจายเร็ว ชอบขึ้นสมอง แต่ในข่าวร้ายก็มีข่าวดี เพราะมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทูตอบสนองดีต่อยาต้านเฮอร์ทู ปัจจุบันนี้มียานี้ในท้องตลาดแล้ว 4 ชนิด มีอยู่ในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด กำลังจะขึ้นทะเบียนอีก 2 ชนิด ยาต้านเฮอร์ทูทำให้ผลการรักษาดีกว่า โดยคนไข้สามารถตรวจยีนมะเร็งเฮอร์ทูได้จากชิ้นเนื้อ หรือเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถตรวจโปรตีนของยีนเฮอร์ทูในเลือดได้ด้วย
(3) ชนิดไตรโลปะ คือ มะเร็งที่ไม่พบว่าตอบสนองต่อฮอร์โมน หรือมียีนมะเร็งเลย นับเป็นชนิดที่ร้ายแรงที่สุด เพราะไม่มีเป้าหมายในการรักษา ถ้าไม่มีเป้าหมายก็ต้องรักษาแบบเหวี่ยงแห ซึ่งชนิดนี้เจอร้อยละ 15 อัตราเสียชีวิตสูงมาก และมะเร็งมักกระจายเข้าปอด อัตราตอบสนองต่อเคมีบำบัดสูงแต่ว่าจะดื้อยาเร็วมาก
อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
การรักษามะเร็งเต้านม ต้องรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพราะอัตราการรอดชีวิตสูงสุด 80%-90% ระยะ 1 ก็ลดลงมาเหลือ 50%-60% ระยะ 2 เหลือ 30%-40% ระยะ 3 อัตรารอดเหลือ 10%-20% ระยะสี่อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี ประมาณ 5% ในขณะเดียวกัน ยิ่งเป็นมากค่ารักษาพยาบาลยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ
การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม วิธีผ่าตัดมีดังนี้
(1) ผ่าตัดแบบขุดรากถอนโคน คือ ตัดออกจนหมดเกลี้ยง เป็นวิธีโบราณที่ใช้ได้ผลดี แต่ข้อเสียคือ ทำให้เต้านมทั้งสองข้างไม่เท่ากันเวลาเดินก็จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อเพราะมีการตัดกล้ามเนื้อทิ้งด้วย ปัจจุบันนี้ไม่นิยมเพราะเสียรูปทรง ความสวยงามลดน้อยลง และประสิทธิภาพไม่ได้ดีกว่าวิธีอื่น
(2) ผ่าตัดทั้งเต้าพร้อมตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ การผ่าตัดเต้านมทุกชนิดต้องตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกอย่างน้อย 12 หรือ 14 ต่อม เพื่อดูว่ามะเร็งเข้าต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ กรณีเดียวที่ไม่ตัดต่อมน้ำเหลือง คือ มะเร็งระยะ 0 ถ้าเป็นระยะ 1 ขึ้นไป ต้องตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ด้วย
(3) การผ่าตัดอนุรักษ์ถันย์ โดยตัดเฉพาะก้อนออกตัดต่อมน้ำเหลืองออก ข้อเสียของการผ่าตัดวิธีนี้ คือ คนไข้ทุกคนต้องฉายแสง 100% ข้อดี คือ เต้านมสวยเหมือนเดิม ถ้าคนไข้ อายุ 60-70 ปีแล้ว ไม่คิดว่าจะใช้เต้านมทำอะไรอีกแล้ว ไม่ห่วงเรื่องความสวยงาม การผ่าตัดออกหมดก็สามารถทำได้ และอาจจะไม่ต้องฉายแสง หรือบางคนไม่อยากฉายแสงที่เต้านมก็ต้องตัดออกหมดเลย แต่หากยังรักสวยรักงามหรือยังไม่อยากตัดเต้านมออกทั้งเต้า ก็ผ่าตัดแบบอนุรักษ์ถันย์เอาเฉพาะก้อนออกและรักแร้เอาต่อมน้ำเหลืองออกได้ แต่ต้องฉายแสงทุกราย
การผ่าตัดแบบนี้จะทำในรายไหนอย่างไรพิจารณาหลายอย่าง (1) มะเร็งที่ก้อนไม่ใหญ่มากอยู่ในระยะเริ่มต้น (2) ก้อนควรจะน้อยกว่า 4 เซนติเมตร ถ้าขนาดเกินกว่านั้นการผ่าตัดไม่ค่อยดี (3) ควรเป็นก้อนเดียวไม่ใช่เป็นหลายๆ ก้อน (4) เราต้องผ่าตัดออกได้หมด คือ หากหมอยืนยันว่าผ่าตัดออกได้หมดก็ผ่าตัดแบบอนุรักษ์ถันย์ได้
(4) การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล เทคโนโลยีนี้ทำได้ทุกที่ในโรงพยาบาลใหญ่ วิธีการคือ ฉีดสีหรือสารรังสีเข้าไปที่ก้อนมะเร็งเต้านมตอนจะผ่าตัด แล้วก็ไล่ตามไปยังตำแหน่งที่สารรังสีวิ่งไป โดยต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่าเซนติเนลเป็นต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่มะเร็งจะมีโอกาสแพร่กระจายมาถึง เมื่อสารรังสีวิ่งไปตำแหน่งนั้น ก็ตัดเอาก้อนนั้นมาดู หากไม่พบมะเร็งแสดงว่ามะเร็งไม่ได้เข้าต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ก็ไม่ต้องไปรื้อต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก แขนก็จะไม่บวมหลังผ่าตัด
การเสริมเต้านมหลังผ่าตัด
เต้านมเป็นอวัยวะที่สวยงามของผู้หญิง หมอก็พยายามช่วยให้คนไข้สวยขึ้นโดยมีการเสริมเต้านมหลังผ่าตัด แต่ควรต้องดูให้ชัดเจนว่าผ่าแล้วหายขาด รักษาแล้วหายขาด ถ้ามีความเสี่ยงต่อการเป็นซ้ำอย่ารีบใจร้อนไปเสริมเต้านม สิ่งสำคัญคนไข้ต้องถามตัวเองว่า รักเต้าเท่าชีวิตหรือรักชีวิตไม่คิดถึงเต้า วิธีการผ่าตัดเสริมเต้านมทำได้โดยย้ายกล้ามเนื้อจากหน้าท้องไปที่เต้านม เพื่อเสริมให้เต้านมสวยงาม
การฉายแสงรักษามะเร็งเต้านม ต้องทำเมื่อไหร่
(1) ก้อนมะเร็งโตมากกว่า 5 เซนติเมตร หรือมากกว่า
(2) มะเร็งลุกลามเข้าสายน้ำเหลืองหรือเส้นเลือดในเต้านม
(3) ผ่าตัดไม่หมด ขอบก้อนยังมีมะเร็งอยู่แต่ว่าคนไข้ไม่อยากผ่าตัดอีกแล้วขอฉายแสงแทน
(4) มะเร็งเข้าต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ 4 ต่อม หรือมากกว่า
(5) ผู้ป่วยยังมีประจำเดือนและมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง เป็นข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พบว่า ถ้ามีประจำเดือนอยู่และมะเร็งเข้าต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แค่เพียงหนึ่งต่อม การฉายแสงอาจจะช่วยยืดชีวิตคนไข้ทำให้หายขาดได้มากขึ้น
(6) มะเร็งที่เป็นมากเฉพาะที่ เช่น มะเร็งกับการอักเสบ
(7) ผ่าตัดแบบอนุรักษ์ถันย์ คือว่า ตัดเฉพาะก้อนออกไม่อยากจะตัดออกทั้งเต้า ก็ต้องฉายแสงร้อยเปอร์เซ็นต์
(8) มะเร็งเต้านมระยะศูนย์หลังผ่าตัดออก บางทีก็จะมีการฉายแสงป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
มะเร็งเต้านมชนิดที่ตอบสนองต่อฮอร์โมน ถ้าย้อมดูพบว่ามี ER รับฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen receptors) และ PR ตัวรับฮอร์โมนเพศชาย (Progesterone receptors) ก็ต้องกินยาหรือฉีดยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง ส่วนใหญ่เฉลี่ยแล้วให้ประมาณ 5 ปี ในกรณีที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะ 1, 2, 3 หากบางรายมีความเสี่ยงสูงอาจจะต้องให้ไป 10 ปี
มะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทู พบประมาณร้อยละ 20 หรือ ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ชนิดนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ยาต้านเฮอร์ทู วงการแพทย์มีการพัฒนายาต้านเฮอร์ทูแล้วหลายชนิด ได้แก่ ยามะเร็งเฮอร์ทูชนิดแพร่กระจาย ชนิดที่เป็นเฉพาะที่ และล่าสุดคือ มะเร็งเฮอร์ทูที่เป็นเฉพาะที่ไม่แพร่กระจาย โดยเมื่อผ่าตัดเสร็จต้องฉีดยาต้านเฮอร์ทูเป็นเวลา 1 ปี จะลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดเฮอร์ทูได้ถึง 50% ทั่วโลก
การยับยั้งเส้นเลือดหยุดยั้งมะเร็ง มะเร็งต้องกินอาหารและมะเร็งกินจุ จึงต้องมีเส้นเลือดไปเลี้ยง ดังนั้น หลักการรักษามะเร็งอันหนึ่งที่สำคัญมาก คือ ยับยั้งเส้นเลือดหยุดยั้งมะเร็ง ตอนนี้มียายับยั้งเส้นเลือดที่ใช้ในมะเร็งได้ถึง 7 ชนิด แม้แต่ยาสมุนไพรหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเส้นเลือด โดยยาแผนปัจจุบันที่รักษาเส้นเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะไปยับยั้งโปรตีนที่ทำหน้าที่สร้างกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดเลี้ยงมะเร็ง พอยับยั้งการสร้างเส้นเลือดได้มะเร็งฝ่อไป คนไข้ก็ได้รับผลการรักษาดีขึ้น
สรุปการรักษามะเร็งเต้านมที่สำคัญ คือ ต้องรักษา 4 อย่าง ความหวัง พลังในการต่อสู้กับโรค พลังที่จะนำมาใช้ต้องไปศึกษาหาความรู้ องค์ความรู้นำมาใช้ต้องมีศรัทธาในองค์ความรู้ ศรัทธาในตัวเอง ในผู้ดูแล ในแพทย์ผู้ดูแล และจะนำไปสู่การรอดชีวิต เราต้องบอกตัวเองว่า หายขาด หายหมด รอดชีวิต ยืดชีวิต ถ้าเราหมดความหวัง หมดกำลังใจ ไม่มีศรัทธา โอกาสที่จะชนะโรคมะเร็งคงไม่มี และแน่นอนว่าเราจะชนะได้ เราต้องมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องการผสมผสานกายใจเป็นหนึ่ง ยาดี หมอดี มีทางหายขาด
ที่มา : งานมะเร็งเต้านม มหันตภัยร้ายใต้ทรวงอก
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง