บุหรี่กับการเกิดโรคมะเร็ง
วันที่ 03-06-2013 | อ่าน : 6704
บุหรี่กับการเกิดโรคมะเร็ง
ปัจจุบันพบว่าในควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งทั้งหมดประมาณ 42 ชนิด จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมสารก่อมะเร็งมากที่สุดและสารพิษในควันบุหรี่ยังมีมากถึง 4,000 ชนิด โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ
- ทาร์หรือน้ำมันดิน
- นิโคติน
- ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
สำหรับกลุ่มที่มีผลต่อโรคมะเร็งคือ ทาร์หรือน้ำมันดิน ซึ่งบางคนเรียกว่าเป็นคราบบุหรี่นั่นเอง ซึ่งกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่น่ากลัวที่สุด เพราะเปรียบเสมือนเป็นตัวรุกรานเงียบนั่นเอง สำหรับสารที่เป็นส่วนประกอบของทาร์หรือน้ำมันดิน คือพวกกลุ่มไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นสารที่มีความเหนียวติดอยู่กับเนื้อปอด โดยตัวของมันแล้วจะมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง
นอกจากนี้ในควันบุหรี่ยังมีสารบางชนิดที่จะก่อให้เกิดมะเร็งได้ ถ้ารวมกับสารเคมีชนิดอื่นๆ โดยในควันบุหรี่ยังมีสารที่เร่งการเจริญเติบโตของมะเร็ง หากผู้สูบบุหรี่นั้นๆ มีมะเร็งอยู่ในร่างกายแล้ว ดังนั้นจึงทำให้ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ได้แก่ มะเร็งช่องปาก โพรงจมูก กล่องเสียง หลอดลม ปอด หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก เต้านม ปากมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก
ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ด้วย จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้นอีก สาเหตุที่การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะหลายๆ แห่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สารก่อมะเร็งในควันบุหรี่ สัมผัสกับอวัยวะโดยตรง เช่น กล่องเสียง และปอด หรือสารก่อมะเร็งถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แล้วไหลเวียนไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตับอ่อนและกระเพาะปัสสาวะ โดยในภาพรวม พบว่า ประมาณร้อยละ ๓๐ ของมะเร็งที่เกิดในคน มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
โดยหลักการที่สำคัญในการเลิกบุหรี่ คือ
- ความตั้งใจจริง กำลังใจ
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เช่น วิธีการลดลงช้าๆ การหักดิบ
- การเข้าคลินิกอดบุหรี่ อาจเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล
- การใช้ยาช่วยระงับ ลด อาการเครียด เช่นยานอนหลับ
- การฝังเข็มช่วยลดอาการอยาก คลายอาการหงุดหงิด รับคำปรึกษาจากแพทย์
- การใช้สื่อต่างๆสร้างพลัง-กำลังใจ
- การรวมกลุ่มโปรแกรมอดบุหรี่สำหรับชุมชน
- การใช้สารนิโคตินทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น หมากฝรั่ง
ที่มา: ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง