อาการป่วยที่บ่งบอกการแพร่กระจายของมะเร็ง
วันที่ 31-05-2013 | อ่าน : 35376
อาการป่วยที่บ่งบอกการแพร่กระจายของมะเร็ง
ผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะลุกลามในครั้งแรกที่ทราบว่าตนเองเป็นมะเร็ง แต่บางรายอาจพบว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะลุกลามหลังจากได้รับการรักษามานานแล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่มะเร็งระยะลุกลามมักเกิดขึ้นภายหลังจากที่เป็นมะเร็งมาแล้วระยะหนึ่ง และการรักษาที่ได้รับช้าเกินไปนี้ มักไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญของมะเร็งได้อีกต่อไป
อาการที่อวัยวะดังต่อไปนี้ จะเตือนคุณว่ามะเร็งอาจแพร่กระจายแล้ว
1. ต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ไหปลาร้าโต
2. สมอง ปวดหัว อาเจียน ชัก หมดสติ
3. ปอด หอบ เหนื่อย ไอ นอนราบไม่ได้ ติดเชื้อในปอด
4. กระดูก ปวดกระดูก กระดูกหัก บางรายถ้ามะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกแล้วไปกดไขสันหลังจะทำให้เป็นอัมพาตได้ การสลายแคลเซียมจากกระดูกทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงทำให้ซึมหรือชักหมดสติได้
5. ผิวหนัง คลำก้อนแข็งเหมือนก้อนหินได้ใต้ผิวหนัง
นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ อาทิ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด โดยเฉพาะอาการปวดที่เป็นตัวบอกได้ถึงการแพร่กระจายของมะเร็ง เช่น ปวดกระดูกจากการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังกระดูก ปวดท้องจากการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ และอาการเหนื่อยหอบจากการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังปอด เป็นต้น
ผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ ข้างต้นควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุของอาการต่างๆ โดยคุณหมออาจจะใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น ซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็กซเรย์กระดูก ตรวจเลือด อัลตร้าซาวด์ การสแกนกระดูก เอ็กซเรย์สนามแม่เหล็ก เอ็มอาร์ไอ (MRI) การตรวจด้วยเครื่องเพ็ทสแกน (PET/CT) การตัดชิ้นเนื้อตรวจ ฯลฯ เพื่อให้สามารถระบุได้ว่ามะเร็งดังกล่าวมีการแพร่กระจายมากน้อยเพียงไร
ระยะแพร่กระจายถือเป็นจุดอันตรายของผู้ป่วย เพราะส่วนใหญ่จะมีโอกาสหายขาดได้น้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งถ้าปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไปไม่รีบรักษา จากสถิติมักพบการเสียชีวิตด้วยอัตราดังต่อไปนี้คือ
• หากมะเร็งเข้าสมอง จะอยู่ได้เฉลี่ยประมาณ 1-3 เดือน
• หากเข้าปอด จะอยู่ได้เฉลี่ยประมาณ 6 เดือน
• หากเข้าตับ จะอยู่ได้เฉลี่ยประมาณ 6 เดือน (ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันท่วงที)
• และหากเข้ากระดูก จะอยู่ได้โดยเฉลี่ยประมาณ 1 ปี
• ถ้ามะเร็งตอบสนองต่อฮอร์โมนบำบัดจะอยู่ได้โดยเฉลี่ย 1-2 ปี เท่านั้น (ถ้าไม่ได้รับการรักษา)
ที่มา : หนังสือมะเร็งเต้านม มหันตภัยร้ายใต้ทรวงอก โดย รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง