ใส่ใจสัญญาณเตือนภัยมะเร็งเต้านม
วันที่ 20-05-2013 | อ่าน : 6067
ใส่ใจสัญญาณเตือนภัยมะเร็งเต้านม
การตรวจพบมะเร็งในระยะแรกเริ่ม สามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมได้ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากเท่านั้น
ดังนั้น ในคุณผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพฤติกรรม ไลฟ์สไตล์ พันธุกรรม หรือแม้แต่ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป เช่นที่กล่าวมาแล้วในบทข้างต้น ซึ่งพบว่าอาจจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น จึงควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพราะผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะไม่มีอาการอะไรบ่งบอกเป็นพิเศษในระยะเริ่มต้น แต่จะแสดงอาการผิดปกติในระยะที่ลุกลามแล้ว
แต่ทั้งนี้ เราอาจจะมีวิธีสังเกตสัญญาณเตือนภัยได้จากหลายอาการที่ปรากฏ อาทิ
- คลำได้ก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ โดยมะเร็งมักจะไม่เจ็บปวด อาจโตช้าหรือเร็วก็ได้ มักจะเริ่มคลำก้อนได้ต่อเมื่อก้อนโตมาหลายปีแล้ว และร้อยละ 15 -20 ของก้อนที่คลำได้บริเวณเต้านมมักเป็นมะเร็งเต้านม
- ก้อนที่คลำได้มีลักษณะแข็ง ขอบไม่ชัด ติดแน่นกับเนื้อเยื่อรอบข้าง หรือมีหัวนมบุ๋มลงไป
- มีการบวมของรักแร้ หรือลำคอ แสดงถึงมะเร็งที่แพร่กระจายออกไปถึงระบบต่อมน้ำเหลืองแล้ว
- มีการเปลี่ยนแปลงทั้งขนาดและรูปร่างของเต้านม เต้านมแข็งขึ้นผิดสังเกต ไม่เปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน
- มีของเหลว เช่น เลือด หรือน้ำไหลออกจากหัวนม แสดงถึงมะเร็งที่ได้แพร่กระจาย ออกไปที่ท่อน้ำนมแล้ว (ร้อยละ 20 ของการมีเลือดออกจะเป็นมะเร็ง)
- เจ็บหรือรู้สึกเหมือนหัวนมถูกดึงรั้ง (มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่เจ็บ นอกจากก้อนโตมากแล้ว)
- ผิวเต้านมจะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ่ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ บางส่วนมีสะเก็ด หรือมีผิวสัมผัสเหมือนเปลือกส้ม ลอก เป็นแผล เป็นผื่น
- หัวนม การหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ
ที่มา หนังสือมะเร็งเต้านม มหันตภัยร้ายใต้ทรวงอก โดย รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง