การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

วันที่ 22-02-2013 | อ่าน : 59127


 การดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย


 
 
ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ เมื่ออาการผู้ป่วยรุนแรงและพบว่าการรักษาไม่เป็นผล ในที่สุดแล้วทุกคนรู้ว่าต้องถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ตัวผู้ป่วย ญาติ หรือผู้เกี่ยวข้องจะมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป บางคนอาจเห็นว่ายังต้องหาวิธีการรักษาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ บางคนอาจเห็นว่าในเมื่อรักษาไม่ได้ก็ไม่ควรให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน มันไม่มีใครถูกใครผิด ไม่ควรให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ แต่ควรร่วมกันหาวิธีอันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ป่วย ที่จะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้เกี่ยวข้องที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ว่านี้ ไม่หวาดกลัว ไม่ทุกข์ทรมาน ไม่เงียบเหงาเดียวดาย แต่กลับมีความสงบสุข
 
palliative care หรือ hospice care หรือ supportive care หมายถึง การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย โดยมีหลักการดำเนินงานที่มุ่งประโยชน์ต่อไปนี้เป็นสำคัญ 
   1.มุ่งประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเป็นหลัก ไม่ใช่ตัวโรค
   2.มุ่งช่วยลดความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบายทั้งกายและใจ 
   3.ดูแลครอบคลุมถึงการตอบสนองทางจิตวิญญาณของผู้ป่วย
   4.ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้นจนวาระสุดท้าย เพื่อเตรียมตัวเผชิญหน้ากับความตายอย่างสงบและพึงพอใจ
   5.ดูแลถึงผู้ใกล้ชิดในครอบครัวผู้ป่วย ทั้งในขณะที่ผู้ป่วยยังอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว
   6.ถือว่าความตายเป็นสัจธรรม เป็นเรื่องธรรมชาติปกติ อาจเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยหรือไม่ก็ได้
   7.ไม่ควรเร่งรัด หรือเหนี่ยวรั้งความตายจนเกินกว่าเหตุ
     ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น บุคคลากรทางการแพทย์ก็มีหน้าที่ตามบทบาทของตน แต่ญาติพี่น้อง ผู้ใกล้ชิด เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงของผู้ป่วย ต่างมีบทบาทสำคัญต่อผู้ป่วยมาก
บทบาทของผู้ใกล้ชิดต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
     ผู้ใกล้ชิดมีบทบาทสำคัญทั้งในเรื่องการช่วยเหลือดูแล เป็นกำลัง แนะนำแนวทาง ควรทราบความสัมพันธ์และความเป็นไปของผู้ป่วยกับบุคคลและสิ่งของต่างๆ สิ่งที่ผู้ป่วยชอบ เพื่อนำมาดำเนินการให้เป็นไปตามประสงค์ของผู้ป่วย เช่น การได้พบกับบุคคลอันเป็นที่รักเพื่อกล่าวคำอำลา เป็นต้น
 
     ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยควรได้รับความรู้ในการดูแล เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องทันท่วงที ควรทราบข้อมูลการวินิจฉัยโรค การรักษา และมีโอกาสได้ร่วมตัดสินใจเรื่องการดูแลรักษาให้มากที่สุด โดยเฉพาะประเด็นที่จะมีทั้งผลดีและผลเสีย หรือเรื่องที่อาจมีความขัดแย้งในอนาคต เช่น การปฏิบัติการกู้ชีวิต การใส่ท่อหรือสายต่างๆ ในร่างกาย หรือแม้แต่สถานที่ที่จะให้ผู้ป่วยเสียชีวิต หากมีความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว ควรร่วมพูดคุยกับแพทย์ พยาบาล หรือตัวผู้ป่วยเองหากมีความพร้อม
สภาพผู้ป่วยและความป่วยของผู้ป่วย ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ใกล้ชิด ดังนั้นผู้ใกล้ชิดที่ดูแลผู้ป่วย นอกจากต้องรับภาระทางกายแล้ว ยังต้องมีภาระทางจิตใจ ต้องรับรู้ปฏิกิริยาของผู้ป่วยตลอดเวลาที่ดูแล จึงควรให้ความสำคัญ ให้กำลังใจ และสนับสนุนบุคคลดังกล่าว ให้ได้มีโอกาสแสดงความรู้สึก หาทางผ่อนคลาย ให้ผู้ดูแลได้พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจด้วย
 
   หลายครั้งความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของผู้ป่วยยังคงอยู่ แม้แพทย์ผู้รักษาและผู้ดูแล จะทำการรักษาและดูแลอย่างเต็มที่แล้ว คนใกล้ชิดในครอบครัวอาจรู้สึกผิดหวัง รู้สึกว่าไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรหลีกหนีต่อความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ควรให้โอกาสผู้ป่วยได้แสดงความรู้สึกออกมา
 
   ควรมีศรัทธาในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์ทั้งในขณะมีชีวิตและขณะที่กำลังจากไป อย่าหดหู่และเศร้าหมอง อย่าคิดว่าต้องเหนี่ยวรั้งชีวิตผู้ป่วยเอาไว้เพียงเพราะไม่อยากเป็นผู้แพ้ที่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิตไปต่อหน้า ควรมองความตายให้กว้างไปกว่าความหมายทางวิทยาศาสตร์ วาระใกล้เสียชีวิตเป็นโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีงาม และมีความหมายต่อความเป็นมนุษย์
 
     การดูแลประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการดูแลทางด้านจิตใจ อาการทางกายสามารถแก้ไขได้ด้วยยา วิธีการทางการแพทย์ หรือ อาหาร เป็นต้น แต่อาการทางใจเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน อาจต้องให้ยา แต่สิ่งสำคัญที่สุดต้องใช้ใจ (ของผู้ดูแล) ช่วย
 
วิตกกังวล
   ต้องให้ผู้ป่วยแสดงความกังวลออกมา ผู้ดูแลคอยรับฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างเอาใจใส่ โดยไม่ต้องแนะนำอะไร ส่วนใหญ่เมื่อได้ระบายก็คลายความกังวลได้ แต่อาจต้องให้ยาช่วยในกรณี ผู้ป่วยตื่นบ่อย กังวลมาก นอนไม่หลับตลอดคืน เช่น nortriptyline 10-25 mg. หรือ imipramine 25 mg. ก่อนนอน
 
เสียใจ
   การพลัดพรากจากคนและสิ่งที่รัก ยังความเสียใจกันทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว สามารถช่วยลดความกระวนกระวายหรือแม้แต่ความเจ็บปวดทางกาย โดยการกระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดคุยถึงสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ สำหรับคนใกล้ชิดเองอาจต้องหาคนที่เราจะระบายความรู้สึกเสียใจเมื่อจะต้องสูญเสียผู้ป่วยไป ระบายความโกรธแค้นที่ผู้ป่วยตัดช่องน้อยแต่พอตัวปล่อยให้ครอบครัวเผชิญชะตากรรมตามลำพัง เป็นต้น 
 
ซึมเศร้า
ผู้ป่วยที่ซึมเศร้ามักจะทุรนทุราย สมาธิและความจำไม่ดี และมักตื่นตอนดึกบ่อยๆ บางครั้งตื่นแล้วก็นอนไม่หลับอีกจนเช้า อาการนี้หากมีมากต้องการการรักษาทางยา โดยใช้ยากลุ่ม antidepressants เช่น amitriptyline และ imipramine 25-150 mg และคงต้องให้ผู้ป่วยระบายอารมณ์ ความหงุดหงิด และความขุ่นเคืองออกมา บางครั้งอาการซึมเศร้าเป็นผลมาจากอาการทางกายโดยเฉพาะความปวด ดังนั้นหากผู้ป่วยหายจากอาการปวด อารมณ์เศร้าก็จะลดน้อยลง
 
นอนไม่หลับ
   สาเหตุอาจมาทั้งจากอาการทางกายและใจ ทางกาย ได้แก่ ความปวด ข้อติด เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือนอนกลางวันมากเกินไป ส่วนสาเหตุทางใจ ได้แก่ ความกลัว กังวล เช่น กลัวฝันร้าย กลัวจะนอนหลับเสียชีวิตไปเลย หรือกลัวปัสสาวะรดที่นอน การดูแลควรแก้ที่สาเหตุก่อนไม่ควรให้ยาในทันที เช่น กระตุ้นไม่ให้นอนกลางวัน หรือถ้ากลัวเสียชีวิตขณะหลับ ให้ใช้การนวดและเสียงดนตรีช่วย หรือให้กำลังใจถ้ากลัวฝันร้าย
 
ความพยายามฆ่าตัวตาย 
   ถึงแม้ผู้ป่วยมะเร็งจะคิดฆ่าตัวตายแต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ทำ ส่วนใหญ่ช่วงระยะสุดท้ายผู้ป่วยจะเกิดความสับสนกับอารมณ์หลายอย่าง รวมถึงความเจ็บปวดทางกาย ข้อปฏิบัติสำคัญของผู้ดูแลคือ หาวิธีการลดความเจ็บปวดทรมานของผู้ป่วย และประคับประคองให้ผู้ป่วยมีความหวัง
 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือ “Palliative Care การดูแลเพื่อบรรเทาอาการ วิถีแห่งการคลายทุกข์”
โดย มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้