ปัญหาเพศสัมพันธ์เมื่อผู้หญิงเป็นมะเร็ง

วันที่ 21-02-2013 | อ่าน : 27441


 ปัญหาเพศสัมพันธ์เมื่อผู้หญิงเป็นมะเร็ง



 
 
การรักษามะเร็งไม่ว่าจะเป็น ผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด ล้วนมีผลข้างเคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสืบพันธุ์ ได้แก่ ช่องคลอด มดลูก รังไข่ หรือเต้านม ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะโรคร้าย ผู้ป่วยหลายท่านนอกจากกังวลถึงชีวิตตัวเอง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังกังวลถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่ออวัยวะไม่เหมือนเดิม แล้วเรื่องนั้นล่ะ จะเหมือนเดิมได้มั๊ย แต่เกือบร้อยทั้งร้อยไม่มีใครกล้าถาม ฉบับนี้เราจึงขอชี้แจงแถลงไขให้ได้ทราบ
 
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเพศหญิง มักมีความผิดปกติทางเพศ อาทิ หมดหรือลดความต้องการทางเพศ เนื่องจากไม่มั่นใจกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีระ กลัวผลที่จะตามมา เช่น มะเร็งเต้านม ถูกตัดเต้านม มะเร็งลำไส้ที่มีถุงทางหน้าท้อง (Colostomy) มะเร็งรังไข่ ขาดฮอร์โมนเพศจากการถูกตัดรังไข่ เกิดความเจ็บปวด จากการตีบแคบและแห้งของช่องคลอด โรคลุกลาม การเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร จากการผ่าตัด รังสีรักษาหรือการได้รับยาเคมีบำบัด การไม่ถึงจุดสุดยอด จากการสูญเสียอวัยวะ เช่น ถูกตัดเต้านม หรืออวัยวะเพศภายนอก  ความกังวล เป็นต้น
 
ไม่มีมดลูกแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่
เมื่อตัดมดลูกไปแล้วผู้ป่วยจะไม่มีประจำเดือน ช่องคลอดจะสั้นลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสุขทางเพศเปลี่ยนแปลง เพราะส่วนที่ไวต่อความรู้สึก บริเวณรอบๆ คลิตอริส (Clitoris) และภายในช่องคลอดยังไวต่อการกระตุ้นเหมือนเดิม ยังมีความสุขได้เหมือนเดิม บางครั้งหากมีการผ่าตัดอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกออกไป (Vulvectomy) มีผลทำให้ภาพลักษณ์เปลี่ยนไป และอารมณ์ร่วมเปลี่ยนไป เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและคู่ชีวิตต้องปรับตัว อาจต้องใส่ใจกับการกระตุ้นบริเวณที่ไวต่อการกระตุ้นมากกว่าการสอดใส่ ที่สำคัญก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยควรได้รับคำปรึกษาให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยคู่ครองควรได้รับการปรึกษาด้วย 
ช่องคลอดแห้งและแคบ
ผลข้างเคียงการรักษา อาจมีอาการช่องคลอดแห้งหรือแคบ มีแผลหรือติดเชื้อ บางกรณีหลังการผ่าตัดหรือฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานอาจทำให้ช่องคลอดตีบ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ มีข้อแนะนำดังนี้
   • ใช้สารหล่อลื่นที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและสี ทาบริเวณปากช่องคลอดและในช่องคลอด อาจทาได้หลายครั้งต่อสัปดาห์
   • หากช่องคลอดแห้งมาก อาจลองใช้เอสโตรเจนแบบสอด และใช้เจลทาอวัยวะเพศภายนอก
   • หากช่องคลอดตีบแคบ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการขยายช่องคลอดโดยใช้อุปกรณ์ซึ่งทำด้วยแท่งพลาสติกหรือแท่งแก้วช่วย อุปกรณ์นี้มีหลายขนาด ผู้ป่วยใช้สอดใส่เพื่อขยายช่องคลอดทีละน้อย และช่วยป้องกันไม่ให้ผนังช่องคลอดติดกัน
 
ผลกระทบเมื่อรังไข่เสื่อมหรือถูกตัดออก
การรักษามะเร็งบางชนิดอาจทำให้รังไข่เสื่อมชั่วคราว หรือบางครั้งเมื่อรังไข่ถูกผ่าตัดออกไป ทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ จะมีอาการของวัยหมดประจำเดือน อาทิ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ช่องคลอดแห้ง และยังมีผลต่ออารมณ์ มีข้อปฏิบัติดังนี้
   • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และใช้เทคนิคการผ่อนคลายจะช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ
   • ช่องคลอดแห้งให้ใช้สารหล่อลื่นช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง 
   • เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนโดยอาจใช้แบบครีมทาช่องคลอด หรือเม็ดเหน็บช่องคลอด เพื่อช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้งและถ่ายปัสสาวะบ่อย แต่การใช้ฮอร์โมนควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
   • บางครั้งอาจใช้ฮอร์โมนเพศชายขนาดต่ำๆ ในการรักษาผู้หญิงที่หมดความต้องการทางเพศ
 
สูญเสียเต้านม
   การผ่าตัดเต้านม หรือถึงขั้นสูญเสียเต้านมทั้งหมด ล้วนส่งผลกระทบถึงความมั่นใจในตนเอง และความมั่นใจทางเพศ หลายคู่เมื่อก่อนอาจกระตุ้นบริเวณนี้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ หลังผ่าตัดอาจไม่ได้รับความพึงพอใจจากการกระตุ้นเหมือนเดิม ควรปรึกษาคู่ครองหาวิธีการกระตุ้นแบบอื่น อาทิ คอ ต้นขาด้านใน หรืออวัยวะเพศ
 
เกี่ยวกับการมีบุตร
เมื่อตัดมดลูกออกไปแล้ว แน่นอนว่าไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หรือยังมีมดลูก แต่ได้รับรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน การได้รับเคมีบำบัด ก็อาจทำให้มีบุตรยากเช่นกัน ปัจจุบันอาจมีวิวัฒนาการเรื่องการเก็บไข่ไว้แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมาก ผู้ป่วยควรต้องระลึกถึงชีวิตตนเองเป็นหลัก หากยังมีมดลูกอยู่อาจตั้งครรภ์ได้ในอนาคตเมื่อรักษามะเร็งเรียบร้อยแล้ว แต่ควรปรึกษาแพทย์ว่าเมื่อใดถึงปลอดภัย ห้ามตั้งครรภ์ระหว่างรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายรังสีและรักษาด้วยฮอร์โมน
 
การที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับชนิดของการรักษาและการพื้นตัวทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย อาจเริ่มกิจกรรมทางเพศช้าๆ สัมผัสนวดตัวเบาๆ เพียงเท่านี้ก็ทำให้เกิดความสุข ความสบายใจได้ สิ่งสำคัญคุณผู้หญิงและคู่ชีวิตควรตระหนักว่า ความรักคือการรักตัวตนที่แท้จริงไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอก 
 
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
คู่มือเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง  
ศูนย์มะเร็งลพบุรี
รับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้