สะแน็พช็อตตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด

วันที่ 07-02-2013 | อ่าน : 6224


 สะแน็พช็อตตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด


 
 
สะแน็พช็อต (snapshot) นิยามโดย Sir Henry Hawker ในปี ค.ศ.1808  หมายถึง  การยิงปืนอย่างรวดเร็ว  ต่อมาช่างภาพใช้เรียกการถ่ายรูปอย่างรวดเร็ว  และนักวิทยาศาสตร์ใช้คำนี้ในการเรียกเทคโนโลยีวิธีการตรวจการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็ง (multiplex Polymerase Chain Reaction Snapshot) ซึ่งสามารถตรวจความผิดปกติของการกลายพันธุ์ได้อย่างละเอียดแม่นยำ  และไวกว่าการตรวจรหัสดีเอ็นเอวิธีเดิม
 
นวัตกรรมล่าสุดของการรักษาโรคมะเร็ง  คือ  การรักษาโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล  โดยการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งว่าเกิดจากการกลายพันธุ์แบบไหน  และพัฒนายารักษาตามเป้าหมายทำให้การรักษาโรคมะเร็งมีประสิทธิภาพและความจำเพาะเหนือกว่าวิธีการรักษาแบบเก่า  เช่น  เคมีบำบัด  ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะแพร่กระจายที่มีการกลายพันธุ์ของยีนเฮอร์วัน (HER-1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ  การแพร่กระจาย  และการสร้างเส้นเลือดมาเลี้ยงเซลล์มะเร็ง  ทำให้มะเร็งโตขึ้นผิดปกติ  ผู้ป่วยกลุ่มนี้ตอบสนองดีต่อยาเม็ดรับประทานยับยั้งยีนเฮอร์วัน  และได้ผลการรักษาดีกว่ายาเคมีบำบัด  ผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งอาวต์อีเอ็มแอลสี่ (ALK-EML4) ตอบสนองต่อยารับประทานยับยั้งยีนนี้  ชื่อยา ไครโซทีนิบ (Crizotinib) ตอบสนองถึงร้อยละ 60  ในขณะที่ยาเคมีบำบัดได้ผลเพียงร้อยละ 15-30 เท่านั้น
 
ดังนั้น  การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุด  คือ  ต้องทราบถึงความผิดปกติของการเกิดโรค  การดำเนินโรคและกลไกการดื้อยาที่รักษาในระดับยีน  การตรวจในอุดมคติคือ  ควรตรวจยีนทั้งหมดของผู้ป่วยมะเร็ง  ซึ่งในขณะนี้มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางทั่วโลกเพื่อพยายามที่จะถอดรหัสดีเอ็นเอของมะเร็งปอดทั้งหมด  ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกระยะหนึ่งจึงจะทราบถึงความผิดปกติของการกลายพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด
     มหาวิทยาลัยฮอาร์เวิร์ด  ประเทศสหรัฐอเมริกา  รายงานความสำเร็จในการตรวจการกลายพันธุ์ในโรคมะเร็งปอด  เพื่อนำมาใช้วินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งปอดทั่วไป  โดยอาศัยเทคโนโลยีขยายจำนวนดีเอ็นเอที่แยกมาจากก้อนมะเร็ง  ด้วยวิธีปฏิกิริยาโพลีเมอเรสเชน (Polymerase  Chain) และตรวจหาการกลายพันธุ์ครั้งละหลายยีนและหลายตำแหน่ง  เรียกรวมว่าวิธีมัลติเพล็กซ์  โพลีเมอเรสเชน รีแอ๊กชั่น สะแน๊พช็อต (Multiplex Polymerase Chain Reaction Snapshot) ซึ่งตรวจการกลายพันธุ์ได้ถึง 50 ตำแหน่ง  เพื่อนำมาใช้ในการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งปอดทั่วไป
 
     การศึกษานี้พบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดจำนวน 552 คน  มีการกลายพันธุ์ของยีนเคราส (KRAS) ร้อยละ 24 ยีนเฮอร์วัน (HER-1) ร้อยละ 13  และยีนพีไอเคทรีซีเอ (PIK3CA) ร้อยละ4  ทำให้แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย  การตรวจดีเอ็นเอของมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนจะบอกให้เราทราบถึงวิธีการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันซึ่งใช้แนวทางรักษาผุ้ป่วยทุกคนแบบเดียวกัน  ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการลุกลามของโรค  เพราะแพทย์จัดวิธีการรักษาไม่ตรงตามโรคมะเร็งที่เป็น  นอกจากนี้  วิธีการรักษาโดยการตรวจสะแน็พช็อตนั้น  จะนำไปสู่นวัตกรรมแห่งการรักษาโรคมะเร็งเต็มรูปแบบ  เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสดีเอ็นเอของโรคมะเร็งที่ครบทั้งหมดในที่สุด 
 
บทความโดย รศ.นพ.นรินทร์  วรวุฒิ
ที่มา วารสารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

 รับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078   
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้