10 นวัตกรรมแพทย์แผนปัจจุบันรักษาโรคมะเร็ง
วันที่ 07-01-2013 | อ่าน : 8340
10 นวัตกรรมแพทย์แผนปัจจุบันรักษาโรคมะเร็ง
การรักษามะเร็งด้วยแพทย์แผนปัจจุบันได้พัฒนาไปอย่างมาก จนทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดจากมะเร็งมากขึ้น มีชีวิตยืนยาวขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากนวัตกรรมความก้าวหน้าในการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย พัฒนาจากการรักษาแบบดั้งเดิมที่เคยใช้ตั้งแต่อดีตกาล สามารถสรุปได้เป็น 10 นวัตกรรม ดังนี้
1. การรักษาโรคมะเร็งตามเป้าหมาย (Targeted Therapy) การพัฒนาจากการรักษาแบบเหวี่ยงแห ตัวอย่างเช่น ยาเคมีบำบัดซึ่งทำลายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งพร้อมกัน ปรับเปลี่ยนไปสู่การรักษาโรคมะเร็งตามเป้าหมาย เช่น ยายับยั้งยีนก่อมะเร็งชนิดต่างๆ รักษาโรคกระเพาะอาหารชนิดเฮอร์ทูด้วยยาต้านยีนเฮอร์ทู ยายับยั้งมะเร็งเต้านมชนิดเฮอร์ทู ยายับยั้งยีนเฮอร์วันรักษามะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งของศีรษะและคอ
2. ยับยั้งเส้นเลือดหยุดยั้งมะเร็ง เส้นเลือดเป็นทางส่งอาหารออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เป็นเส้นทางลำเลียงมะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ยายับยั้งเส้นเลือดมีทั้งชนิดฉีดและยาเม็ดรับประทาน สามารถรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งสมอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งไต มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม บางกรณีต้องใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดจึงจะได้ประสิทธิภาพดี
3. ยายับยั้งกระดูกหยุดยั้งมะเร็ง กระดูกมีเซลล์ปกติหลายชนิด ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง น้ำต้มกระดูกหวานฉันใด มะเร็งบางชนิดชอบลุกลามเข้ากระดูกฉันนั้น เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่องลูกหมาก ยายับยั้งเซลล์กระดูกสามารถป้องกันมะเร็งเต้านมเข้ากระดูกได้และป้องกันผลแทรกซ้อนของมะเร็งเข้ากระดูก
4. วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง ปัจจุบันนี้มีวัคซีนอย่างน้อย 2 ชนิดที่ผ่าน อย. ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเซลล์สีของผิวหนัง สามารถยืดชีวิตผู้ป่วยที่โรคแพร่กระจายได้ผลดี
5. ฮอร์โมนบำบัด มะเร็งบางชนิดเจริญเติบโตด้วยฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก ฮอร์โมนบำบัดสามารถป้องกันมะเร็งเต้านมที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนไม่ให้กลับเป็นซ้ำ และรักษาโรคมะเร็งที่แพร่กระจายได้ ยาต้านฮอร์โมนเพศชายชนิดใหม่สามารถรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแพร่กระจายที่ดื้อยาเคมีบำบัดได้ผลดี
6.ยาป้องกันโรคมะเร็ง เมื่อการแพทย์เจริญมากขึ้นทำให้เกิดการค้นพบยาป้องกันการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้เช่นยารักษาโรคปวดข้อออกฤทธิ์ยับยั้งยีนค๊อกซ์ทู (COX-2) สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส่ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ยาต้านฮอร์โมนเพศหญิงป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม
7. ศัลยกรรมผ่าตัดเล็ก เทคนิคการผ่าตัดสมัยใหม่มุ่งพัฒนาให้ผ่าตัดให้แผลเล็กลง แต่ผลการรักษาดีเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม เช่น ส่องกล้องผ่าตัด ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นิยมใช้ผ่าตัดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ช่วยให้แผลผ่าตัดเล็ก เสียเลือดน้อย รักษาเส้นประสาทไว้ได้ ทำให้ไม่สูญเสียสรรถภาพทางเพศภายหลังการผ่าตัด
8. รังสีพุ่งเป้า การฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งแบบเข้มข้นและแม่นยำ ทำให้สามารถทำลายมะเร็งตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงน้อยต่อเนื้อเยื่อปกติมีหลายชนิดได้แก่ การฉายรังสีแบบ 4 มิติ IMRT IGRT เป็นต้น
9. การแพทย์ปัจเจกบุคคล การตรวจยีนหรือโปรตีนที่เป็นเป้าหมายของยาที่รักษาหรือทำนายการตอบสนองต่อการรักษาหรือทำนายการแพ้ยา ทำให้แพทย์ผู้รักษาสามารถเลือกยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายได้ และลดโอกาสที่ผู้ป่วยแพ้ยา เช่น การตรวจการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็งเฮอร์วัน สามารถรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยยาด้วยยาเม็ดรับประทานเพียงวันละ 1 เม็ด ได้ผลดีไม่จำเป็นต้องใช้ยาเคมีบำบัด เป็นต้น
10. เซลล์ต้นกำเนิดบำบัดมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือดรักษาด้วยการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง ร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ตัวอ่อนจากเลือดหรือไขกระดูก เพื่อทดแทนเซลล์เม็ดเลือดปกติที่ถูกทำลายจากยาเคมีบำบัด ส่วนวิธีการประยุกต์ใช้เซลล์ต้นกำเนิดวิธีอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยก่อนที่จะสามารถพัฒนานำมาใช้ในเวชปฏิบัติทั่วไป
บทความโดย รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ
ที่มา วารสารโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน
รับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี
คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง