การดูแลหลังรักษามะเร็งโพรงหลังจมูก

วันที่ 19-11-2012 | อ่าน : 15787


 การดูแลหลังรักษามะเร็งโพรงหลังจมูก
 
 
รศ.นพ. วีระชัย  คีรีกาญจนะวงศ์
ภาควิชาโสต ศอ นาสิก  
คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย

 

 
  ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก และได้รับการดูแลรักษาตามหลักวิชาการ ไม่ว่าจะโดยการฉายรังสี การใช้เคมีบำบัด หรือการผ่าตัด ต้องใช้เวลานาน ผู้ป่วยต้องใช้ความอดทน เข้มแข็ง และมีกำลังใจ ทั้งของผู้ป่วยเองและบุคคลรอบข้าง 
 
     ขบวนการรักษานั้นเป็นเพียงก้าวแรกของการดูแลผู้ป่วย หลังจบขบวนการรักษามะเร็งแล้ว ก้าวต่อไปที่สำคัญ คือ การดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา ซึ่งบางครั้งเราลืมไปว่ามีความสำคัญพอๆ กับการรักษา แนวทางการดูแลผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็งโพรงหลังจมูกมีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการ คือ
   1. ดูแลและเยียวยาผลข้างเคียงของการรักษา (treatment complication)
   2. ดูแลและติดตามการกลับมาของโรค (detection of tumor recurrent)
 
การที่จะดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมาะสมและมีความสุขได้ตามวัตถุประสงค์นั้น มีแนวทางปฏิบัติดังนี้คือ
 
การดูแลฟื้นฟูสุขภาพ (rehabilitation) 
ซึ่งถือเป็นข้อปฏิบัติที่สำคัญมากในการดูแลผู้ป่วยหลังการรักษานี้ สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ คือ
 
   1. สารอาหาร : สารอาหารที่เหมาะสม ควบถ้วนย่อมทำให้สุขภาพผู้ป่วยดีขึ้น มีภูมิต้านทานที่ดี และการฟื้นตัวที่รวดเร็ว การดูแลเรื่องสารอาหารนั้น สิ่งที่ผู้ป่วยต้องคำนึงถึงคือ
  1.1 สารอาหารที่ควรได้รับ : แน่นอนการได้รับอาหารที่ครบ 5 หมู่ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และน้ำ อย่างครบถ้วนเป็นสิ่งสำคัญ โปรตีนทั้งจากพืชและสัตว์ช่วยในการเสริมสร้างสิ่งที่สึกหรอ คาร์โบไฮเดรตและไขมันให้พลังงาน น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ บางครั้งอาจมีอาหารเสริมเพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเร็วขึ้น เช่น กลุ่มวิตามิน, ผัก และกากใยอาหาร
  1.2 กลุ่มอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง : ในผู้ป่วยมะเร็งก็คงเป็นบุหรี่ และแอลกอฮอล์ แต่สำหรับมะเร็งโพรงหลังจมูก ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกหมักดอง เช่น ปลาเค็ม ผักดอง ปลาร้า ฯลฯ เนื่องจากมีรายงานชัดเจนว่า อาหารเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยง (risk factor) ที่ก่อให้เกิดมะเร็งโพรงหลังจมูก 
 
   2. การออกกำลังกาย : ทำให้ร่างกายแจ่มใสและเป็นการฟื้นฟูด้านจิตใจและอารมณ์ หลังจากต้องอยู่กับขบวนการรักษามานานนับเดือน ผู้ป่วยที่แข็งแรงพอและออกกำรังกายที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายฟื้นฟูสภาพได้เร็วขึ้น แข็งแรง และสดใสขึ้นด้วย
 
   3. การดูแลสิ่งแวดล้อม : โพรงหลังจมูกสัมผัสโดยตรงกับการที่หายใจเข้าร่างกายมลภาวะทางอากาศที่ไม่ดี ย่อมทำให้เนื้อเยื่อที่เพิ่งได้รับการรักษาหายจากมะเร็งร้ายเกิดการอักเสบได้ง่าย และอาจเกิดการกลับมาของมะเร็งได้  สิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมลพิษ สารเคมี ควัน ฝุ่น ย่อมเหมาะสมกว่าสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มนี้
การดูแลติดตามผลการรักษา
  หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษามะเร็งโพรงหลังจมูก ตามหลักทางการแพทย์ที่ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว แพทย์ผู้ดูแลยังต้องดูแลผู้ป่วยหลังการรักษาดังต่อไปนี้
 
   1. ตารางการตรวจหลังการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจหลังการรักษา โดยการตรวจหารอยโรคที่ยังเหลือยู่และดูแลรักษาผลข้างเคียงของการรักษา โดยปกติแล้วหลังการรักษาที่ครบถ้วน 3 เดือน ผู้ป่วยควรได้รับการส่องกล้องเพื่อตรวจดูโพรงหลังจมูก และตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีมะเร็งอยู่หรือไม่ ถ้าผลชิ้นเนื้อวินิจฉัยว่ามีมะเร็งหลงเหลืออยู่ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ส่วนในรายที่ไม่มีเซลล์มะเร็งแล้วต้องได้รับการดูแลตรวจเป็นระยะๆ ตามระยะเวลา คือ
   - ทุก 2 เดือนในปีแรก 
   - ทุก 3 เดือนในปีที่ 2 
   - ทุก 4 เดือนในปีที่ 3 
   - ทุก 5 เดือนในปีที่ 4 
   - ทุก 6 เดือนในปีที่ 5 
   - เมื่อครบ 5 ปี ถ้าไม่มีเซลล์มะเร็งอีกแล้ว ก็สามารถตรวจปีละครั้งได้ โดยในทุกปีต้องได้รับการตรวจร่างกายและได้รับการตรวจเลือดและตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด
 
   2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ผู้ป่วยควรจะได้รับการตรวจทุกปี คือ
 2.1 ผลตรวจเลือด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจ ลักษณะของเม็ดเลือด การทำงานของตับ, ไต 
 2.2 ผลการเอ็กซเรย์ปอด
 2.3 ตรวจดูกระดูก (Bone scan)
 2.4 ตรวจดูเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ของโพรงหลังจมูกและต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ
 
   3. การดูแลสุขภาพทั่วไป การปฏิบัติตัว ดูแลสุขภาพทั่วไปหลังจากการได้รับการรักษาที่ครบถ้วนนั้นควรปฏิบัติดังนี้คือ
 3.1 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น แอลกอฮอล์ ของหมักของดอง รวมถึงการสูบบุหรี่
 3.2 ออกกำลังกายให้เหมาะสมและอย่างสม่ำเสมอ
 3.3 สังเกตความผิดที่อาจเกิดขึ้น เช่น ก้อนที่คอโตขึ้น หูอื้อมากขึ้น มีน้ำมูกปนเลือด ปวดกระดูกมาก ตาเหลืองตัวเหลือง มองภาพซ้อน ชาที่ใบหน้า ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของการกลับมาของโรคมะเร็ง
 3.4 ดูแลและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีสะอาดไม่มีผลพิษ


ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้