การดูแลหลังรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร

วันที่ 19-11-2012 | อ่าน : 12829


การดูแลหลังรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
 

นพ.วิญญู จันทรสุนทรกุล 

โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชฯ 

 

หลังผ่าตัดกระเพาะอาหารควรดูแลตนเองในเรื่องต่อไปนี้ 

   1. แผลที่ผ่าตัด จะอยู่ตรงกลางลากจากลิ้นปี่ลงมาถึงสะดือ มักตัดไหมแผลผ่าตัดที่หน้าท้องประมาณวันที่ 7 หรือ 9 ควรระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำก่อนตัดไหม หรือหลังตัดไหม 2-3 วัน รักษาผิวหนังรอบๆ แผล และผิวหนังทั่งร่างกายให้สะอาด ไม่แกะเกาแผลไม่ควรใส่ยาใดๆ ที่แผล ถ้าแพทย์ไม่ได้สั่งมา และสังเกตอาการอักเสบของแผล  

   2. อาหาร  เนื่องกระเพาะมีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นที่เก็บอาหารก่อนที่จะบดและคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วส่งต่อไปยังลำไส้เล็กเพื่อผสมกับน้ำย่อยจากตับอ่อนเพื่อย่อยให้ละเอียด หลังผ่าตัดแล้วจะเหลือมากน้อยขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของก้อน  ถ้าตำแหน่งอยู่ด้านบนหรือส่วนของตัวกระเพาะ มักจะตัดออกทั้งกระเพาะเหลือแต่ลำไส้เล็กต่อกับหลอดอาหารโดยตรง ถ้าเป็นด้านล่างของกระเพาะซึ่งเป็นประตูออกสู่ลำไส้ อาจจะตัดออกเฉพาะครึ่งล่างเหลือกระเพาะครึ่งบนมาต่อกับลำไส้ ส่วนด้านบนของกระเพาะ ซึ่งจุดนี้ยังเป็นที่ผลิตสารที่จำเป็นในการดูดซึมวิตามินบี 12 ถ้าตัดส่วนนี้ไป จะดูดซึมไม่ได้จะต้องฉีดวิตามินบี12 เสริมเป็นพิเศษ 

สำหรับหลังผ่าตัดควรเลือกรับประทานและปฏิบัติดังนี้  

   - อาหารมีคุณค่าครบทุกหมู่ ทั้งเนื้อสัตว์ นม ถั่ว ไข่ แป้ง ผักผลไม้  

   - อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เนื้อสัตว์ที่ย่อยง่ายเช่น เนื้อปลา กุ้ง ถ้าจะรับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยยากควรต้มให้เปื่อยก่อน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกากมาก เช่น เมล็ดพืช เปลือก ผลไม้ ผักเยื่อใยหยาบ เป็นต้น  

   - เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนและรับประทานอาหารช้า ๆ  

   - รับประทานอาหารมื้อละน้อย แต่บ่อยครั้งขึ้นกับกระเพาะเหลือเนื้อที่เก็บมากน้อยตามที่จะรับได้ แพทย์บางท่านอาจจะเอาลำไส้ใหญ่มาเป็นตัวกระเพาะสำรองให้แทน โดยทั่วไปวันละ 6 มื้อก็เพียงพอในการรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ และควรรับประทานให้ตรงเวลา  

   - บางท่านอาจจะไม่ต้องปรับเปลี่ยนอาหาร เพียงแต่ลดปริมาณและเพิ่มจำนวนมื้อขึ้น ถ้ามีปัญหาเรื่องอาหารควรปฏิบัติดังนี้ หลีกเลี่ยงอาหารแป้งและน้ำตาลที่มีรสเข้มข้นจัด เช่น อาหารเค็ม หวานจัด อาหารซอง น้ำหวาน น้ำเชื่อม ขนมหวานเพราะอาจจะทำให้ท่านรู้สึกมึนงง ปวดท้อง หรือเกิดท้องเสียจากอาหารความเข้มข้นสูงเหล่านี้ผ่านลงไปในลำไส้เร็วเกินไป ควรเพิ่มปริมาณอาหารไขมันให้มากขึ้น 

   - ลดจำนวนอาหารที่เป็นของเหลวหรือดื่มน้ำให้น้อยลงขณะรับประทานอาหาร และดื่มน้ำระหว่างมื้อหลังจาก1-2 ชั่วโมงแล้วทดแทน  

   - อาหารที่รับประทานควรสะอาดสุกใหม่ ๆ งดอาหารที่คิดว่าอาจจะปนเปื้อนทำความสะอาดไม่ได้เช่น หอยทุกชนิด อาหารหมักดองเนื่องจากน้ำกรดที่ช่วยในการย่อยและส่วนหนึ่งทำลายเชื้อโรคมาจากกระเพาะเมื่อถูกตัดก็จะมีน้ำกรดเหลือน้อยลง อาหาร มือ และภาชนะควรล้างให้สะอาดก่อนปรุง อาหารที่ปรุงแล้วปิดให้มิดชิด และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร  

   - ไม่ควรอยู่ในท่าเอนนอนหลังรับประทานอาหารอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงเพราะอาหารและน้ำย่อยที่ยังไม่ผ่านไปยังลำไส้อาจจะย้อนสวนทางขึ้นมาในลำคอได้ 

   - งดดื่มชา กาแฟ สุรา และสิ่งเสพติด เช่น งดสูบบุหรี่ 

   - ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว

   3. ยา  รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อเยื่อบุลำไส้ เช่น ยาแก้ปวดพวกแอสไพริน  ถ้าจำเป็นต้องรับประทานยาแก้ปวดให้ดื่มน้ำมากๆ หรือรับประทานหลังอาหารทันที  

   4. การออกกำลังกาย หลังผ่าตัดอย่างน้อย 2 เดือน ไม่ควรออกแรง หรือเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้องมาก เช่น  ยกของหนัก ควรทำงานบ้านหรือทำงานทั่วไปเบาๆ การออกกำลังกายควรเริ่มจากเบาก่อน แล้วค่อยๆ  เพิ่มแรงขึ้นให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย  

   5. ควรมาตรวจตามแพทย์นัด แพทย์จะถามอาการผิดปกติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด อาจจะมีการตรวจส่องกล้อง หรือตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ในระยะแรกๆ นอกจากนี้ เมื่อมีอาการผิดปกติ แม้ยังไม่ถึงเวลานัดก็ควรมาปรึกษาก่อน อาการเหล่านี้ ได้แก่ 

    - แผลอักเสบติดเชื้อ เช่น มีไข้ ปวดบวม แดง ร้อน มีหนองไหล หรือแผลแยก

    - อ่อนเพลีย เหงื่อออก คลื่นไส้ ใจสั่น เป็นลม  

    - น้ำหนักลด ซีด ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด หรือมีสีดำโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดท้อง อาเจียน เป็นต้น  

    - เหนื่อยง่าย ซ่าและชามือเท้า นำบัตรและใบนัดไปด้วยทุกครั้งที่ไปตรวจ 

   6. การป้องกันไม่ให้เป็นอีก  สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหารยังไม่ทราบแน่ชัด แต่การมีเยื่อบุผนังกระเพาะฝ่อ กระเพาะมีการหลั่งกรดน้อย การติดเชื้อโรคบางสายพันธุ์ในกระเพาะอาหาร พบว่าเกิดบ่อยขึ้น รวมทั้งการกินอาหารเค็ม อาหารดอง อาหารที่รมควัน การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนปัจจัยที่ป้องกัน ได้แก่ การกำจัดเชื้อในกระเพาะถ้าตรวจพบ การบริโภคผักสด ผลไม้สด ธัญพืชและชาเขียว ที่ยังอยู่ในการวิจัย ได้แก่ แอสไพริน ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ไช่ สเตียรอยด์ในขนาดสูง อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ป่วยมีการดูแลและปฏิบัติตัวอย่างไม่เสี่ยงก็ตาม ไม่ได้ประกันว่าจะไม่เป็นอะไรอีก ดังนั้น การตรวจพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ จะทำให้การรักษาได้ผลดีที่สุด

   7. การพักผ่อนทั้งกายและใจ   นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง หางานที่ชอบทำจิตใจจะได้สบาย จงใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่าต่อตนเองและเพื่อผู้อื่นให้มากที่สุด จงคิดว่าเป็นโชคดีที่เราได้มีโอกาสดูแลตัวเอง 



ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078

 

 

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้