การดูแลหลังรักษามะเร็งตับ ตอนที่ 2
วันที่ 14-11-2012 | อ่าน : 9701
การดูแลหลังรักษามะเร็งตับ ตอนที่ 2
นพ.วิญญู จันทรสุนทรกุล
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชฯ
จากตอนที่ 1 มีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลังจากรักษามะเร็งตับ ได้แก่ โรคตับอักเสบเรื้อรังหรือโรคตับแข็ง ปัจจัยด้านอาหาร เกลือแร่และวิตามิน อาหารที่แสลงต่อโรคตับ แอลกอฮอล์และยา ตอนที่ 2 นี้จะแนะนำปัจจัยสำคัญอีก 5 ปัจจัย
6. การฉีดวัคซีน
ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ เป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยปกติแล้วไวรัสเอไม่ทำให้เกิดตับอักเสบที่รุนแรงและมักหายได้เอง อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรังหรือมีภาวะตับแข็ง พบว่า ไวรัสเอแทรกจะทำให้เกิดตับอักเสบที่รุนแรงจนเกิดตับวายได้ถึงร้อยละ 30 จึงแนะนำผู้ป่วยที่มีตับแข็งให้ตรวจเลือดดูว่ามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเอหรือยัง ถ้ายังไม่มี แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอด้วย
7. ป้องกันการแตกของเส้นเลือดที่โป่งพอง
ผู้ป่วยอาจจะมีเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ตับแข็งร่วมด้วย ควรตรวจส่องกล้องหลอดอาหารและกระเพาะ เพื่อดูว่ามีเส้นเลือดโป่งพองในหลอดอาหารและในกระเพาะอาหารหรือไม่ และถ้าตรวจพบ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาลดความดันในตับ (Beta-blocker) เช่น propranolol เพื่อป้องกันการแตกของเส้นเลือดที่โป่งพองนั้น และต้องรับการติดตามดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
ถ้าเคยอาเจียนเป็นเลือดสดแล้วจากการแตกของเส้นเลือด แพทย์จะใช้ยางเส้นเล็กๆ ผ่านทางกล้องที่ส่องตรวจได้ เพื่อดูดรัดเส้นเลือดที่พองให้แฟบลงได้ หรืออาจจะเลือกวิธีฉีดยาเข้าที่เส้นเลือดให้แข็งก็ได้ ในระยะยาว ผู้ป่วยต้องรับประทานยาลดความดันในตับด้วยถ้าไม่มีข้อห้าม อย่างไรก็ตาม การรักษานี้เป็นการรักษาที่ปลายเหตุ ต้องรักษาสาเหตุของตับแข็งด้วย ถ้ารักษาได้ผลการโป่งพองของเส้นเลือดจะค่อยๆ ลดลง เมื่อมาติดตามส่องกล้องตรวจซ้ำ
8. หมั่นรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ
เพื่อลดการใช้พลังงานของร่างกาย ซึ่งเป็นการลดการทำงานของตับ ถ้ามีอาการเหลือง หรือท้องมาน แสดงว่าตับเริ่มทำงานไม่มีประสิทธิภาพแล้ว ควรพักผ่อนให้เต็มที่ แต่ไม่จำเป็นต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ถ้าไม่เหนื่อย โดยการเดินไปเดินมา แต่ระมัดระวังการขึ้นลงบันได แต่ถ้าเหนื่อยแล้วต้องพักผ่อนทันที ไม่ควรอดนอน
ร่างกายจะเข้าสู่ระยะปกติ หลังผ่าตัดแล้ว 3-6 เดือน หากรักษาโดยการจี้หรือการฉีดยาสวนเส้นเลือด หลังจากรักษา 2-4 สัปดาห์ ก็สามารถมีกิจกรรมได้ ถ้าตับแข็งที่ยังไม่มีอาการก็สามารถออกกำลังกายตามที่ท่านต้องการได้เบาๆ เช่น เดินช้าๆ แล้วเพิ่มเป็นเดินเร็ว เล่นกีฬาเบาๆ เล่นดนตรี และต้องพักทันทีเมื่อเมื่อเริ่มเหนื่อย
9. ควรขับถ่ายอุจจาระเป็นประจำ
ระวังอย่าให้ท้องผูก เพราะอุจจาระที่คั่งค้างจะทำให้มีการผลิตของเสียจากเชื้อโรคในลำไส้เพิ่มมากขึ้น ในคนปกติที่ท้องผูกจะไม่มีผล แต่ในคนที่ตับทำงานอยู่ในระดับต่ำ เมื่อของเสียที่จะต้องกำจัดเพิ่มขึ้นก็จะเกินกำลังของตับที่จะกำจัดออกได้ ก็จะออกผลที่สมอง ในระยะแรกที่ตับเริ่มทำงานไม่ไหวแล้วจะมีอาการมึนงง สับสน ซึม หลับมากกลางวัน ตื่นกลางคืน สั่นๆ มือกระตุก โดยเฉพาะถ้ากินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์มาก หรือกินยานอนหลับ มีอาเจียนเป็นเลือดสด ก็จะมีการเพิ่มปริมาณสารของเสียมากขึ้นจนกดสมองทำให้ซึมหลับ สับสนได้
10. สำหรับคนใกล้ชิดและญาติ
หากสาเหตุมะเร็งตับมาจากตับอักเสบ คนใกล้ชิดควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ไวรัสตับอักเสบติดต่อกันได้อย่างไร และจะป้องกันอย่างไร เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วก็จะปฏิบัติตัวได้ถูก และไม่วิตกกังวลมากเกินไปว่าจะติดโรค เนื่องจากโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ติดต่อโดยทางเลือด ไม่ติดทางการรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ออกมาทางอุจจาระเพียงระยะสั้นๆ แต่ออกมาในสารน้ำหรือสารคัดหลั่งอื่นๆ ได้ จึงต้องระวังเรื่องบาดแผล การใช้ของมีคมหรือของที่สัมผัสกับเลือดของผู้ป่วย เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน เป็นต้น และควรงดการร่วมเพศในระยะที่มีอาการตับอักเสบอยู่ หรือใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่สัมผัสกับสิ่งที่อาจมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ บุคคลในครอบครัวควรตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันและฉีดวัคซินถ้ายังไม่มีภูมิ
เมื่อระยะเวลาของผู้ป่วยเหลือน้อยลงเป็นเดือนหรือเป็นสัปดาห์ แพทย์ผู้ดูแลและญาติจะร่วมกันพิจารณาว่าจะบอกกับผู้ป่วยอย่างไร ควรอย่างยิ่งที่จะดูลักษณะของผู้ป่วย ไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ จะสามารถ ระบุได้ว่าคำตอบหรือคำอธิบายนั้นถูกหรือผิด เมื่อแพทย์บอกออกไป ผู้ป่วยก็อาจจะมีการทรุดลงของร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็วก็เป็นได้
ในประเทศไทยเรา ยังไม่มีข้อบังคับให้แพทย์ ต้องบอกการวินิจฉัยให้ผู้ป่วยทราบก่อนการรักษา ทั้งนี้อาจเนื่องจากการศึกษาและขนบธรรมเนียมยังแตกต่างจากต่างประเทศ เคยมีผู้สอบถามผู้ป่วยมะเร็งที่มารับการฉายแสงพบว่า มีประมาณครึ่งหนึ่งที่ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ในที่สุดผู้ป่วยก็ควรจะต้องทราบเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อการเตรียมการทั้งหลายสำหรับผู้ที่อยู่เบื้องหลัง มีบางกรณีญาติที่ไม่อยากจะถามคำถามเกี่ยวกับระยะเวลา หรือทราบโดยนัย แต่ก็ไม่อยากพูดถึง ผัดผ่อนกันไปเรื่อยๆ คิดว่าหนทางยังอยู่อีกไกลจน
เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตไปโดยยังมีปัญหา ทั้งเรื่องที่ยังไม่ได้ตัดสินใจค้างคา จนเกิดเป็นเรื่องที่ตกลงกันในหมู่ญาติพี่น้องไม่ได้
การทราบระยะเวลามีประโยชน์ทั้งตัวผู้ป่วยและญาติ ทั้งนี้เนื่องจากทำให้มีเวลาที่จะเตรียมตัว จงคิดว่าเป็นโชคดีที่เราพอจะรู้เวลาล่วงหน้า ชั่วโมงหรือโดยเฉพาะนาทีสุดท้ายนั้นสำคัญที่สุด ที่จะนำผู้ป่วยไปยังที่ที่ต่ำหรือที่สูงในภพหน้า ซึ่งควรฝึกที่จะระลึกและกำหนดจิต มีสติที่จะเดินทางไปที่ชอบที่ควรก่อนจะเผชิญกับเหตุการณ์จริง ถือเป็นกำไรถ้าเวลานั้นยังมาไม่ถึง
การมีประกาศของสิทธิผู้ป่วยทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งต้องอธิบายผู้ป่วยอย่างตรงไปตรงมา พึงระลึกว่าแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันทั้งร่างกาย จิตใจ การสนับสนุนของครอบครัว กำลังใจ แม้ผู้ป่วยจะทราบข้อมูลคร่าวๆ ถึงระยะของโรคและการตอบสนองหลังการรักษาก็ตาม แต่ไม่ได้เป็นตัวที่จะบอกชี้ชัดได้ว่าผู้ป่วยจะเป็นดังนั้นแน่ ๆ ผู้ป่วยอาจจะมีกำลังใจที่กล้าแข็ง มีการสนับสนุนจากบุคคลที่รักอย่างทุ่มเท มีพื้นฐานของสุขภาพกายและภาวะโภชนาการที่ปฏิบัติมาอย่างดีเยี่ยม สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความแตกต่างกันไปในแต่ละคน และทำให้เผชิญกับวิธีการรักษาต่างๆ ได้ดีกว่าคนอื่นๆ
การเป็นมะเร็งเป็นเรื่องท้าทายที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง กับทั้งตนเองและบุคคลรอบด้านที่รักและเป็นห่วงท่าน ถ้าท่านรู้สึกหนักใจและเป็นทุกข์ สามารถปรึกษากับศูนย์มะเร็งที่มีกลุ่มต่างๆ คอยเป็นเพื่อนให้คำแนะนำที่มีประสบการณ์จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของท่านได้
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี
คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง