วันที่ 13-11-2012 | อ่าน : 14754
การดูแลหลังรักษามะเร็งตับ ตอนที่ 1
นพ.วิญญู จันทรสุนทรกุล
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชฯ
มะเร็งตับในที่นี้ขอแนะนำเฉพาะมะเร็งของเนื้อตับเอง ไม่ได้กระจายมาจากที่อื่น หรือเป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่จะมาด้วยเรื่องท่อน้ำดีอุดตัน ซึ่งมักเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ มะเร็งตับนี้มักจะเกิดกับผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังมานานๆ หรือเป็นตับแข็งแล้ว การรักษามะเร็งตับมีหลายวิธีขึ้นกับอายุ ความแข็งแรงของร่างกาย ระยะและขนาดของก้อน โรคส่วนตัวของผู้ป่วย แพทย์จะตัดสินใจร่วมกับท่านและญาติว่าจะเลือกวิธีใด เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ไม่ต้องการได้ วิธีรักษา ได้แก่ การผ่าตัด การสวนเส้นเลือดแดงเข้าไปฉีดยาเคมีโดยตรงที่ก้อนมะเร็ง การจี้ด้วยแอลกอฮอล์ คลื่นความถี่ ความร้อน หรือความเย็น สำหรับมะเร็งตับการฉายแสงหรือการใช้ยาเคมีบำบัดรักษาก็มี แต่ได้ผลเฉพาะราย
เมื่อทำการรักษาแล้วปัจจัยที่จะต้องพิจารณาและควรปฏิบัติ คือ
1. โรคตับอักเสบเรื้อรังหรือโรคตับแข็ง
ถ้าเดิมไม่เคยทราบมาก่อนว่าท่านมีความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับ แล้วมาตรวจพบด้วยอาการของมะเร็งที่มีโรคแทรก ได้แก่ ปวดท้อง ก้อนมะเร็งแตก มีการลุกลามไปอุดเส้นเลือดดำของตับ หรือตรวจพบโดยบังเอิญจากอาการแทรกซ้อนของตับแข็ง ซึ่งอาการเหล่านี้ ได้แก่ อาเจียนเป็นเลือดสด ท้องมาน บวม ดีซ่าน ตับวายไม่ทำงาน จะบอกถึงระยะของโรคทั้งโรคมะเร็งตับและโรคตับแข็งว่าเป็นในระยะมากแล้ว มักจะมีระยะเวลาที่เหลือจะเป็นเดือนไม่ค่อยข้ามปี
ความเสี่ยงของมะเร็งตับส่วนใหญ่ คือ มีโรคตับแข็งหรือโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังมาก่อน ทั้งจากไวรัสบี ไวรัสซี หรือจากสาเหตุอื่นๆ โดยอาจจะไม่มีอาการ ซึ่งมักตรวจพบจากการบริจาคโลหิตหรือตรวจเลือดประจำปี หรือมีญาติเป็นมะเร็งตับมาก่อน และมีแพทย์ดูแลรักษาอยู่ก่อนแล้ว ก็จะตรวจเลือด และทำอัลตราซาวด์ติดตามหาการเกิดของมะเร็งเป็นระยะๆ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้จะตรวจพบได้เร็วในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะมีอาการทำให้รักษาได้ผลดี เป็นการติดตามรอคอยซึ่งมักจะพบตามมาถ้าสาเหตุของโรคตับไม่ได้ควบคุมหรือรักษาจนหาย
ดังนั้น หลังจากการรักษามะเร็งตับแล้ว โรคของเนื้อตับที่เป็นความเสี่ยงเชื้อเชิญมะเร็ง จึงจำเป็นจะต้องควบคุมและรักษาต่อด้วย ถ้าเป็นไวรัสบีสามารถรักษาควบคู่ไปด้วยกันได้ ถ้าเป็นไวรัสซีแพทย์จะพิจารณาหลังการรักษาแล้วอีกครั้ง
2. อาหาร
ถ้ามีตับแข็งร่วมด้วย มักจะมีภาวะขาดสารอาหารต่างๆ ร่วมด้วย ซึ่งการขาดสารอาหารนี้จะยิ่งทำให้ภาวะตับแข็งของผู้ป่วยแย่ลง ถ้าตับแข็งโดยที่ตับยังทำงานได้ไม่บกพร่องหน้าที่ การรับประทานอาหารก็มักจะไม่ต่างจากคนปกติ แต่ถ้ามีอาการของตับแข็งแล้ว เช่น มีท้องมานก็จะมีภาวะขาดอาหารร่วมด้วย ดังนั้น อาหารโปรตีนจะใช้ประมาณ 1.5 ถึง 2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ผู้ป่วยอาจจะไม่สามารถบริโภคอาหารที่มีโปรตีนได้สูงถึงขนาดที่ต้องการได้ เนื่องจากการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง อาหารที่มีเกลือน้อยรสชาติไม่ถูกปาก และในระยะที่เป็นมากผู้ป่วยตับแข็งอาจจะมีภาวะของเสียขึ้นสมองจนตับกรองของเสียไม่ได้ เมื่อรับประทานอาหารโปรตีนสูงเข้าไปจะทำให้เกิดอาการทางสมองมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทนรับประทานอาหารโปรตีนได้เพียงพอ โดยทั่วไปแล้วมักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีโปรตีนประมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และเน้นโปรตีนจากพืช เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ไข่ขาวเสริม โปรตีนจากสัตว์ควรใช้เนื้อปลาเท่านั้น
ถ้ามีโปรตีนในเลือดต่ำ และไม่สามารถที่จะรับประทานอาหารโปรตีนที่แนะนำได้เพียงพอ จะต้องใช้อาหารโปรตีนเสริมพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคตับเพิ่ม ซึ่งจะทำให้โปรตีนในเลือดเพิ่มขึ้นได้ไกล้เคียงระดับที่ร่างกายต้องการ โดยที่ไม่เกิดอาการทางสมอง ข้อเสียของอาหารเสริมนี้ก็คือ รสชาติที่ไม่อร่อยและมีราคาค่อนข้างแพง
ตับ มีหน้าที่สร้างสารอาหาร การเก็บสำรอง และการปล่อยออกมาใช้ ภาวะที่ตับแข็งมากแล้ว การไม่ได้รับประทานอาหารเพียง 1 มื้อ อาจจะเท่ากับคนปกติที่ไม่ได้รับประทานอาหารนานถึง 3 วัน ดังนั้น มักจะแนะนำผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง ให้รับประทานอาหารที่มีจำนวนมื้อมากกว่าคนปกติ โดยทั่วไปแล้วจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร 4 มื้อ คือ มื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น และมื้อค่ำ และแนะนำให้รับประทานอาหารว่างในช่วงสายและช่วงบ่าย ซึ่งก็มักจะเป็นการดี เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งที่มีน้ำในช่องท้องมักมีภาวะท้องอืดทำให้รับประทานอาหารครั้งละมากๆ ไม่ได้ จึงเป็นการดีที่จะรับประทานอาหารจำนวนต่อมื้อให้น้อยลง แต่บ่อยขึ้นเป็นวันละ 4-7 มื้อต่อวัน
ตับแข็ง จะทำให้การเก็บสำรองของอาหาร ซึ่งอยู่ในตับเป็นแหล่งใหญ่บกพร่อง เปลี่ยนรูปอาหารออกมาใช้งานก็ไม่ดี แต่อัตราการใช้พลังงานในผู้ป่วยตับแข็งก็จะมากกว่าคนปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีโรคแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือดสด ท้องมานน้ำ ก็จะยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้นเป็นสองถึงสามเท่า การอดอาหารของผู้ป่วยตับแข็งจะมีผลต่อร่างกายมาก ฉะนั้น ถ้าต้องงดอาหารเช้าเพื่อตรวจส่องกล้องหรือการตรวจเลือด ควรกินอาหารมื้อเย็นที่มีประโยชน์ให้เต็มที่ และบอกเจ้าหน้าที่ เป็นกรณีพิเศษเสมอ
3. เกลือแร่ วิตามิน
การมีตับแข็ง มักทำให้ขาดพวกวิตามินต่างๆ แต่ควรรับประทานวิตามินเสริมตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะการรับประทานวิตามินบางชนิดที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ ถ้ารับประทานมากเกินไปอาจมีผลเสียต่อตับได้ สำหรับผู้ป่วยตับแข็งที่มีภาวะบวมหรือมีน้ำในช่องท้อง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็ม ปลาเค็ม อาหารที่มีผงชูรส อาหารในซองทุกชนิด
4. อาหารที่แสลงต่อโรคตับ
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจปนเปื้อนเชื้อราที่สร้างสารอะฟลาท๊อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งมากยิ่งขึ้น อาหารพวกนี้ ได้แก่ ราในถั่วลิสงป่น พริกป่น
ควรระวังการติดเชื้อจากระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากเลือดที่ดูดซึมจากลำไส้จะผ่านการกรองเชื้อโรคที่ตับได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอาหารคาวที่ดิบๆ สุกๆ หอยทุกชนิดเพราะจะนำทั้งเชื้อโรคและเชื้อตับอักเสบเอ ทำให้เกิดติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือทำให้ตับอักเสบซ้ำซ้อนอันตรายถึงชีวิตได้
การดื่มน้ำหวาน ไม่มีส่วนช่วยบำรุงตับเลย แต่จะทำให้เกิดเบาหวาน เพราะตับที่แข็งจะไม่สามารถเก็บน้ำตาลที่เกินไปสะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. แอลกอฮอล์ ยา
ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา หรือของมึนเมาที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และภาวะตับแข็งทรุดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงสารต่างๆ ที่มีแอลกอฮอล์อยู่ นอกจากนี้ผู้ป่วยตับแข็งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น ไม่ได้มาตรฐาน เพราะยาหลายชนิดจะถูกทำลายหรือผ่านที่ตับ และยังมียาหลายชนิดมากที่ทำให้ตับอักเสบได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาและสารเคมีที่ไม่จำเป็น
ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตตามอล ยังเป็นยาที่มีความปลอดภัยในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้ป่วยที่มีตับอักเสบเรื้อรังหรือมีตับแข็งจะไวต่อการเกิดตับอักเสบจากยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตตามอลได้ง่ายกว่าคนปกติ จึงแนะนำให้รับประทานเพียงครั้งละ 1 เม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม และรับประทานซ้ำได้ทุก 4 - 6 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 5 เม็ด ไม่ควรติดต่อกันเกิน 3 วัน การเป็นพิษเกิดง่ายเพิ่มมากขึ้นตามสภาพตับที่แข็ง มีการอดอาหาร หรือกินยาหลายชนิด รวมทั้งดื่มสุราแอลกอฮอล์ร่วมด้วย
สำหรับการรักษาแพทย์ทางเลือก เมื่อผ่านการผ่าตัดหรือวิธีการรักษาอื่น ๆ ทางแพทย์แผนปัจจุบันมาแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีความสบายใจ และมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากผลการรักษามักทำให้อาการต่างดีขึ้น เช่น อาการปวด หอบเหนื่อย แม้จะมีความสบายใจมากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับการกลับเป็นใหม่ หรือการกระจายของโรค ดังนั้น จึงมักจะแสวงหาสิ่งอื่นๆ มาเสริมสร้างกำลังใจ เช่น การรักษาทางเลือกสมุนไพร ตลอดจนยาพระ ยาหม้อ ซึ่งหากแพทย์ไม่อนุญาต ก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งต่อจิตใจ ความจริงแล้วท่านควรทราบว่า โรคที่รักษาขณะนี้อยู่ในระยะสงบ การกินยาอื่นๆ อาจไม่มีความจำเป็น แต่หากท่านมีความประสงค์ที่จะรักษาโดยทางอื่นๆ ถ้าไม่มีข้อแทรกซ้อนก็อาจจะทำได้ แต่ข้อสำคัญคือ ให้มาตรวจตามนัดหรือถ้ามีอาการผิดปกติใดๆ ให้รีบกลับมาพบแพทย์
ก่อนจะตัดสินใจที่จะทำควรคุยปรึกษาอย่างเปิดอกกับแพทย์ที่ท่านไว้วางใจ บางวิธีสามารถทำควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบันได้ บางวิธีอาจจะมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายเป็นพิษต่อตับหรือทำให้เสียเวลาไปโดยไม่มีการรับรองผลที่ตามมา กลับเร่งเวลาให้สั้นขึ้น และเวลาไม่สามารถย้อนคืนได้
นอกจากนั้นยังมีอีก 5 ปัยจัยที่ต้องพิจารณาและควรปฏิบัติ โปรดติดตามใน ตอนที่ 2 ค่ะ
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้