มะเร็งผิวหนัง
วันที่ 05-11-2012 | อ่าน : 11710
มะเร็งผิวหนัง
ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีพื้นผิวมากที่สุด ปกคลุมร่างกายตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า ผิวหนังจึงเปรียบเสมือนปราการด่านแรก คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งต่างๆที่เข้ามากระทบร่างกายเป็นตัวรับสัมผัสจากภายนอกทั้งแสงแดด ความร้อน ความเย็น ดูดซึมหรือดูดซับและขับสารออกจากร่างกาย จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบต่างๆ ได้บ่อยและง่าย ถ้าเกิดการกระทบนานๆอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนถึงขั้นที่อาจเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้
การเกิดของเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เนื่องจากมะเร็งผิวหนังอยู่ภายนอก มองเห็นและจับต้องได้ จึงได้มีการศึกษาถึงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นหรือควบคุมการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ ซึ่งโดยสรุปพบว่ามีปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
1. แสงแดดถือว่าเป็นตัวการสำคัญของการเกิดมะเร็งผิวหนัง เพราะแสงแดดมีความสามารถผ่านทะลุผิวหนังเข้าไปทำลาย DNA และทำให้เซลล์มีการเจริญที่ผิดปกติไปจากเดิมได้เซลล์ใหม่ซึ่งต้านต่อการถูกทำลายด้วยแสงอัลตราไวโอเลตและภูมิต้านทานของร่างกาย
2. สารเคมีต่างๆซึ่งอาจได้รับมาจากสิ่งแวดล้อมจากการทำงานหรือจากยากลไกของการเกิดมะเร็งจากสารเคมีคล้ายกับที่เกิดจากแสงแดด คือมีการทำลาย DNA มีการทำลายเซลล์เฉพาะบางตัว และมีการกดภูมิต้านทานของร่างกาย
3. พันธุกรรม (Hereditary cancer syndrome) ถ้าการเปลี่ยนแปลงของ DNA เป็นตัวสำคัญในการเกิดมะเร็ง ก็น่าจะสรุปได้ว่าพันธุกรรมน่าจะมีผลต่อการเกิดมะเร็ง มีการตรวจพบว่าในผู้เป็นมะเร็งผิวหนังมีความผิดปกติที่เฉพาะเจาะจงใน gene บางตัวเหมือนๆกัน
สิ่งที่แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงของ DNA เป็นตัวที่ทำให้เกิดมะเร็ง เพราะพบความผิดปกติในการซ่อมแซมของ DNA gene ในผู้ป่วยที่เป็น Xeroderma pigmentosum ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ง่าย
ลักษณะของเซลล์มะเร็ง
เซลล์มะเร็งจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเนื้อเยื่อเดิม ได้แก่ สามารถเจริญได้เองโดยไม่ต้องมีการกระตุ้น ไม่ตอบสนองต่อสิ่งที่มายับยั้งการเจริญ มีการเปลี่ยนแปลงของการเสื่อมสลายของเซลล์ โดยเซลล์จะไม่เกิดการแก่ตัวลง หรือเกิดอย่างช้าๆ มีการสร้างเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงเซลล์เป็นเวลายาวนานมากขึ้น และเซลล์มีความสามารถแทรกตัวไปทำลายเซลล์รอบๆข้าง และกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆได้ แม้ว่าความผิดปกติเหล่านี้ อาจตรวจพบได้ในมะเร็งระยะต่างๆกัน แต่ส่วนใหญ่พบในระยะที่เป็นมาก ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวควบคุมการเกิดเป็นระยะต่างๆ เหล่านี้ คือ gene ทั้ง oncogenes และ tumour suppressor genes ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานของเซลล์นั้นๆ
ชนิดของมะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนัง มีหลายชนิด ทั้งที่เกิดจากเซลล์ผิวหนังเองหรือเกิดจากเซลล์ของต่อมต่างๆใต้ผิวหนังรวมทั้งเส้นเลือดหรือเส้นประสาทและเซลล์ต่างๆใต้ผิวหนังด้วย แต่ที่พบมากได้แก่มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของหนังกำพร้าและเซลล์สร้างเม็ดสี ได้แก่
1. Basal cell epithelioma (BCE) เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดที่พบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ชั้นล่างสุด (basal cell) ของหนังกำพร้า มักเกิดในบริเวณที่ถูกแสงแดด เช่น ที่หน้า แต่ที่อื่นๆ ก็อาจพบได้ ลักษณะที่เห็นจะเป็นตุ่มนูนผิวเรียบมัน หรือ เป็นปื้นใหญ่ไม่นูนมาก โตขึ้นช้าๆ ตรงกลางอาจบุ๋มลงไป หรือแตกเป็นแผลและมีขอบนูน สีของตุ่มจะเข้มขึ้น มักเป็นสีดำ บางครั้งอาจเห็นเป็นสีเนื้อ
2. Squamous cell carcinoma (SCC) เป็นมะเร็งที่เจริญมาจากเซลล์ชั้นอื่นๆ ของหนังกำพร้านอกจากชั้นล่างสุด อาจเกิดบนผิวหนังธรรมดาหรือตามเยื่อบุช่องปาก พบมากในคนผิวขาว และในประเทศที่มีแสงแดดแรง เช่น ออสเตรเลีย พบในชายมากกว่าหญิง มักเกิดบนรอยโรคที่เป็นเหมือนเนื้องอกธรรมดา เริ่มแรกอาจมีสีเหมือนผิวหนังปกติหรือแดงเล็กน้อย ขอบเขตไม่ชัดเจน ผิวบนของตุ่มอาจเรียบหรือขรุขระ บางครั้งพบมีสะเก็ดด้วย ถ้าเป็นมากอาจคลำได้เป็นก้อนใต้ผิวหนัง และจะค่อยๆโตขึ้นทางด้านกว้างและด้านลึก การดำเนินโรคจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล
3. Malignant melanoma (MM) พบได้น้อย เป็นมะเร็งที่เจริญเติบโตจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง ซึ่งพบได้ทั้งในชั้นหนังกำพร้า หนังแท้ และเยื่อบุ อาจเจริญจากเซลล์ไฝในผู้ที่เป็นปานดำชนิดนูนหนาแต่กำเนิด ตำแหน่งที่พบบ่อยในหญิง คือบริเวณหลังและขา ส่วนผู้ชายพบมากบริเวณหน้าอก ท้องและแขน ลักษณะอาจเป็นได้ตั้งแต่ผื่นสีน้ำตาลแบนกว้าง ตุ่มนูนเล็กน้อย หรือมีลักษณะเป็นก้อนเนื้องอกใหญ่ โดยเฉพาะที่พบที่เท้ามักมีสีเข้ม โตค่อนข้างไวกว่า 2 ชนิดแรก อาจเป็นที่บริเวณตัวสร้างเล็บ ทำให้เห็นเป็นปื้นสีน้ำตาลแดงที่เล็บ แต่จะเห็นผื่นดำบริเวณเนื้อด้านหลังเล็บหรือมีตุ่มนูนดำเกิดบริเวณนั้นก็ได้
การวินิจฉัยและรักษา
ต้องทำเป็นรายๆไป วินิจฉัยโดยการตัดชื้นเนื้อตรวจ ส่วนการรักษาก็ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง และอาการว่าเป็นมากน้อยหรือเป็นในระยะใด มีการกระจายไปที่อวัยวะอื่นหรือไม่ โดยทั่วไปการรักษาที่ใช้กันได้แก่
1. จี้ออกด้วยไฟฟ้าหรือเลเซอร์
2. ตัดออกทั้งตุ่ม ถ้าขนาดไม่ใหญ่มาก
3. ฉายรังสี
4. ถ้าพบว่ากระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว ก็ใช้เคมีบำบัด
5. อาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
การปฏิบัติตัวเองเพื่อให้ปลอดจากโรคมะเร็งผิวหนัง หรือพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
1. พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดด
2. รับประทานอาหารพวกผักและผลไม้ให้มาก เพราะจะมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดของเซลล์มะเร็ง
3. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่เข้าสารหนู หรือสารเคมีอื่นๆที่ทำให้เกิดมะเร็ง รวมทั้งการกินหมาก เพราะทำให้พบอุบัติการณ์ของมะเร็งริมฝีปากและช่องปากเพิ่มขึ้น
4. ตรวจเช็คร่างกายด้วยตัวเอง โดยสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของไฝหรือปานตามผิวหนัง หรือดูการเปลี่ยนแปลงของตุ่มเนื้องอกต่างๆตามผิวหนัง ถ้าสงสัยว่ามีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
5. ถ้ามีแผลเรื้อรังที่รักษาเองแล้วไม่หายควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการเริ่มแรกของมะเร็งผิวหนัง
ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี
คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง