อาหารสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด

วันที่ 08-10-2012 | อ่าน : 29209


 อาหารสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด

 
     เมื่อครั้งแรกของการได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง  แพทย์จะทำการวางแผนการรักษาและจะแจ้งให้ทราบว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง  ในขณะได้รับเคมีบำบัด ฉายรังสี หรืออื่นๆ โดยส่วนมากการรักษาด้วยเคมีบำบัดมักจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมาซึ่งสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการของผู้ป่วยโดยตรง เช่น 
       -  ความอยากอาหารลดลง      
       -  น้ำหนักลด
       -  เม็ดเลือดต่ำ              
       -  เป็นแผลในช่องปาก
       -  ปากแห้งคอแห้ง      
       -  ปัญหาเหงือกและฟัน
       -  การรับรสและกลิ่นเปลี่ยน              
       -  คลื่นไส้ อาเจียน
       -  ท้องเสีย      
       -  ท้องผูก
       -  มีอาการอ่อนเพลีย
 
     โดยการดูแลทางโภชนาการที่ดีจะทำให้ลดอาการข้างเคียงของการรักษาได้  นอกจากนั้นจะทำให้ลดภาวะการขาดสารอาหาร  เพราะหากเกิดอาการดังกล่าวมาก  จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
 
การดูแลด้านอาหารก่อนได้รับเคมีบำบัด
 
     การได้รับเคมีบำบัดจำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้ารับเคมีบำบัด  สำคัญที่สุด คือ ทำจิตใจให้สบาย และได้รับอาหารที่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ  ควรได้รับคาร์โบไฮเดรตในรูปของข้าวที่ไม่ขัดสี  เนื้อสัตว์ได้ทุกประเภทที่ไม่มีไขมัน  และน้ำมันควรบริโภคแต่พอดี   อีกทั้งต้องพยายามจัดเตรียมอาหารสำหรับขั้นตอนระหว่างการได้รับเคมีบำบัด  โดยต้องแจ้งให้ผู้ดูแลหรือญาติทราบ  เพื่อจะได้ให้ความช่วยเหลือในระหว่างการรักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การดูแลด้านอาหารระหว่างการได้รับเคมีบำบัด
 
     ระหว่างการรับเคมีบำบัดมักจะเกิดอาการข้างเคียงขึ้นได้  ซึ่งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล  หากการเตรียมความพร้อมดีและทำจิตใจให้สบาย  อาการแทรกซ้อนก็จะมีน้อย  แต่หากเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น  ไม่ต้องกังวล  ควรทำใจให้สบายและใช้หลักโภชนบำบัดในการดูแลสุขภาพ  ตามแต่กรณีดังต่อไปนี้
 
 ความอยากอาหารลดลง
     ควรเริ่มรับประทานอาหารแต่น้อยแต่กระจายมื้ออาหารให้มากขึ้น  และจัดรูปแบบอาหารให้น่ารับประทาน พยายามคิดถึงเมนูที่ตนเองชอบมากที่สุด  แต่เมนูดังกล่าวไม่ควรขัดกับหลักโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง 
 
 น้ำหนักลดและเม็ดเลือดต่ำ
     ควรทำการเสริมอาหารประเภทของโปรตีน  โดยควรได้รับโปรตีนเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1.5-2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม  โปรตีนควรเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา และเนื้อไก่ไม่ติดมัน  หากน้ำหนักยังลดลงอย่างต่อเนื่อง  ควรเพิ่มการดื่มน้ำผลไม้ให้มากขึ้น
 
 
 เป็นแผลในช่องปาก ปากแห้งคอแห้ง
     การเกิดแผลในช่องปากหรือปากแห้งมาจากการที่เซลล์เยื่อบุผิวถูกทำลาย  ควรดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 10 แก้ว   นอกจากนั้น อาจจะต้องพิจารณางดอาหารรสจัดในระหว่างเกิดอาการดังกล่าว  รวมไปถึงอาหารที่รสเปรี้ยวจัด และ อาหารที่มีความร้อนมากเกินไปก็ควรหลีกเลี่ยง  และควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ
 
 การรับรสและกลิ่นเปลี่ยนไป
     ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการรับรสและกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปได้  ดังนั้นรสชาติอาหารควรมีการดูแล และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม  ที่สำคัญควรมีการเพิ่มกลิ่นในอาหาร เช่น ใส่ใบโหระพาเพื่อชูกลิ่นของอาหารให้มีกลิ่นน่ารับประทานมากขึ้น  หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมากเพราะไขมันจะทำให้ตุ่มรับรสรับรสชาติได้แย่กว่าเดิม
 
 คลื่นไส้อาเจียน
     เมื่อเกิดอาการคลื่นไส้  อาหารที่รับประทานต้องมีลักษณะอ่อนย่อยง่าย  ไม่มีไขมันเป็นส่วนประกอบมากจนเกินไป  และเริ่มให้รับอาหารปริมาณน้อยก่อน  แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณอาหาร  แต่อาหารที่เลือกรับประทานควรเป็นอาหารพลังงานสูง เช่น เลือกเนื้อปลานำมานึ่งรับประทาน 
 
 ท้องเสีย
     หากเกิดอาการท้องเสีย  ควรงดเว้นการรับประทานอาหารรสจัดรวมไปถึงผักผลไม้  ไม่ควรรับประทานเส้นใยอาหารที่มากเกินไปในขณะที่เกิดอาการท้องเสีย  ควรเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย มีรสจืด  เพื่อลดอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร  หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงไม่สุกทุกชนิด  แม้แต่ผักผลไม้ควรจะต้มหรือผ่านความร้อนก่อนรับประทาน  เพื่อฆ่าเชื้อที่มีอยู่ในผักเหล่านั้น 
ข้าวต้มเปล่า ๆ มีสรรพคุณช่วยเพิ่มกำลังวังชาและช่วยลดอาการท้องเสีย สำหรับผู้ป่วยที่ท้องเสียอย่าเพิ่งรับประทานข้าวสวย ควรรับประทานตามลำดับจากน้ำข้าวจนถึงข้าวต้มใส ๆ เพื่อให้ลำไส้มีโอกาสได้ปรับตัว เมื่อท้องเสียร่างกายเสียน้ำมาก  ควรรับประทานน้ำข้าวเติมด้วยเกลือเล็กน้อยเพื่อเป็นการเพิ่มเติมโซเดียมด้วย
 
 ท้องผูก
     ถ้าเกิดอาการท้องผูกและแน่นท้องควรดื่มน้ำให้มากขึ้น  และเลือกรับประทานอาหารเส้นใยให้มากขึ้น  โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่าง ๆ นอกจากนี้การฝึกเข้าห้องน้ำเป็นประจำยังช่วยได้มาก เช่น ทุกครั้งตอนตื่นนอนก็เข้าห้องน้ำแม้จะไม่ปวดอุจจาระก็ตาม  เพื่อฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เคยชินหากมีอาการท้องผูก และควรดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 8-10 แก้ว 
 
 ท้องอืด
     เป็นอาการที่เกิดจากระบบการย่อยอาหารทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ  ทำให้มีการตกค้างของอาหารที่ย่อยไม่สมบูรณ์อยู่ในระบบทางเดินอาหาร  จุลินทรีย์ประจำถิ่นจะทำหน้าที่ย่อยแทนร่างกายเราทำให้เกิดแก๊สขึ้น  จึงส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด  การรับประทานอาหารไขมันต่ำและอาหารที่ย่อยง่ายจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
อาหารเบาย่อยง่าย เช่น ข้าว ไข่ขาว ผักกาดแก้ว ปลา และยังมีอาหารและสมุนไพรบางตัวที่มีสรรพคุณช่วยย่อย และลดกรด เช่น ขมิ้นชัน  สะระแหน่  น้ำว่านหางจระเข้  น้ำทับทิม เป็นต้น
 
 มีอาการอ่อนแรง
     อาการอ่อนแรงควรกลับมาสำรวจดูอาหารที่รับประทานว่าเพียงพอหรือไม่  หากพบว่าไม่พอเพียงอาจจะต้องเพิ่มจำนวนอาหารให้มากขึ้น  หรือ มีการดื่มน้ำผลไม้เย็น ๆ  จิบเล่นเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้นระหว่างการได้รับเคมีบำบัด
 
อาหารกับเคมีบำบัดหลังได้รับการรักษา
 
     หลังจากได้รับเคมีบำบัดอาจจะเกิดอาการผมร่วง  ซึ่งเมื่อหลังได้รับการรักษาแล้วผมอาจจะยังไม่ขึ้น  ควรเน้นการให้ผู้ป่วยได้รับอาหารประเภทโปรตีนให้พอเพียง  นอกจากนี้ควรเพิ่มในส่วนของข้าวไม่ขัดสีเพื่อให้ได้รับวิตามินบีที่พอเพียง  อีกทั้งหากอาการท้องเสียยังไม่หายดีอาจจะต้องกลับไปพบแพทย์  ควรดูแลเรื่องความสะอาดของอาหารในการปรุงประกอบอย่างต่อเนื่อง  การได้รับอาหารยังคงเป็นพวกอาหารพลังงานสูงและมีโปรตีนสูงอยู่  เพราะอาหารดังกล่าวจะช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อาหารผู้ป่วยะมเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้