การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

วันที่ 19-07-2012 | อ่าน : 49620


 การดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร



 
 
     กระเพาะอาหารมีหน้าที่สำคัญในการเก็บอาหารก่อนที่จะบดและคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วส่งต่อไปยังลำไส้เล็กเพื่อผสมกับน้ำย่อยจากตับอ่อนเพื่อย่อยให้ละเอียด  สำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารหลังผ่าตัดแล้วกระเพาะจะเหลือมากน้อยขึ้นกับตำแหน่งและขนาดของก้อน  นอกจากนี้การตัดกระเพาะออกอาจทำให้เกิดอาการ  Dumping Syndrome คือ มีอาการอ่อนเพลีย (ง่วงต้องการนอน) คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว มึนงง ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลำไส้และหลอดเลือด มีผลทำให้ อาหารเข้าสู่ลำไส้ส่วนเจจูนั่มเร็วขึ้น เพิ่มแรงดันออสโมติค มีน้ำเข้าสู่ลำไส้เป็นจำนวนมาก และความดันโลหิตลดลง
 
การดูแลผู้ป่วยขณะอยู่ที่โรงพยาบาล 
   1. แผลที่ผ่าตัด จะอยู่ตรงกลางลากจากลิ้นปี่ลงมาถึงสะดือ  ควรระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำก่อนตัดไหม หรือหลังตัดไหม 2-3 วัน รักษาผิวหนังรอบๆ แผลและผิวหนังทั่งร่างกายให้สะอาด 
   2. หลังผ่าตัดระยะแรกๆ จัดให้นอนศีรษะสูง เพื่อช่วยให้กระบังลมหย่อนตัว  ปอดขยายตัวได้ดีขึ้น ไม่ต้องออกแรงในการหายใจมาก และช่วยให้ท่อระบายของเสียจากแผลได้สะดวกขึ้น 
   3. ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดแผลมาก ดูแลให้ได้รับยาแก้ปวด
   4. กระตุ้นให้ผู้ป่วยหายใจลึกๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดขยายตัวดี มีการไออย่างถูกวิธี ถ้าไอไม่ถูกวิธี จะทำให้กระทบกระเทือนบาดแผลเกิดอาการปวดแผลได้
   5. ดูแลการให้อาหารทางสายที่ต่อเข้าลำไส้เล็ก โดยการสวนล้างทุก 8 ชั่วโมง ด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือครั้งละ 10 ซีซี  
   6. สังเกต อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน ชีพจรเต้นเร็ว เพื่อช่วยเหลือได้ทันโดยการให้อาหารโปรตีนสูง  คาร์โบไฮเดรตน้อย ให้รับประทานช้าๆ ควรจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน 
   7. ดูแลให้ได้รับอาหารเหลวแคลอรี่สูง เพื่อสะดวกในการดูดซึม และงดอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร 
   8. ดูแลจัดสายยางที่ให้อาหารไม่ให้ดึงรั้ง หักพับ และดูแลท่อระบายให้เป็นไปอย่างสะดวก 
   9. กระตุ้นให้ผู้ป่วยพลิกตะแคงตัว ทุก 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น 
   10. ดูแลด้านความสะอาด 
   11. ประเมินภาวะซีดและขาดวิตามิน บี 12 โดยดูจากเปลือกตาล่างด้านใน ปลายมือปลายเท้า อาการอ่อนเพลีย และค่าผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ  ดูแลให้ได้รับยาฉีด วิตามินบี 12 และเหล็ก ตามแผนการรักษาของแพทย์
 
หมายเหตุ  :  การดูแลข้างต้นบางข้อญาติผู้ป่วยอาจช่วยดูแลได้ แต่บางข้อต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 
 
การดูแลผู้ป่วยเมื่อกลับบ้าน
   1. การดูแลเรื่องอาหาร ที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน ย่อยง่าย ควรรับประทานปริมาณน้อย บ่อยครั้ง
   2. ไม่ควรอยู่ในท่าเอนนอนหลังรับประทานอาหาร อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง 
   3. งดดื่มชา กาแฟ สุรา และสิ่งเสพติด เช่น งดสูบบุหรี่
   4. น้ำ ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
   5. ยา รับประทานตามแพทย์สั่ง ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาที่มีผลต่อเยื่อบุลำไส้ 
   6. การออกกำลังกาย หลังผ่าตัดอย่างน้อยสองเดือนไม่ควรออกแรง หรือเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อหน้าท้องมาก 
   7. ควรมาตรวจตามแพทย์นัด 
   8. การป้องกันไม่ให้เป็นอีก 
   9. อากาศ ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเทดี 
   10. การพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง 

 
   
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078    

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้