โปรตีนกับโรคมะเร็ง
วันที่ 20-06-2012 | อ่าน : 44210
โปรตีนกับโรคมะเร็ง
โปรตีนและกรดอะมิโน
คำนี้มักมาคู่กันเสมอ ความจริงคือ โปรตีนคือกรดอะมิโนหลายๆ ตัวมารวมกันกลายเป็นสายโปรตีนขึ้น ดังนั้นกรดอะมิโนจึงเท่ากับโปรตีนนั่นเองแต่เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของโปรตีน ในร่างกายคนเราประกอบไปด้วยกรดอะมิโนมากมายเอามาสร้างเป็นกล้ามเนื้อ ฮอร์โมน โครงสร้างร่างกาย รวมไปถึงสารสื่อประสาท และระบบเม็ดเลือดทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
รูปแสดงถึงโครงสร้างของโปรตีนแบบต่างๆ
โดยลูกกลมๆ สีๆ คือ กรดอะมิโนแต่ละชนิดมาเรียงตัวกันเป็นสายโปรตีน
โปรตีนที่เรารับประทานกันแบ่งออกเป็นสองชนิด คือ กรดอะมิโนจำเป็น (Essential Amino Acid) กับกรดอะมิโนไม่จำเป็น (Non-Essential Amino Acid) กรดอะมิโนจำเป็นหมายถึง ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ต้องได้รับจากอาหาร ส่วนกรดอะมิโนไม่จำเป็นนั้นร่างกายสามารถดึงเอาสารอื่นมาสร้างเป็นกรดอะมิโนชนิดนี้ได้ เช่น พวกน้ำตาลสามารถดึงเอามาสร้างได้เช่นเดียวกัน แต่ในสภาวะที่ร่างกายเรามีความเครียด บาดเจ็บ และเป็นมะเร็ง ...... กรดอะมิโนที่เคยสร้างได้เองกลับไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ ทำให้กรดอะมิโนที่เคยไม่ขาดก็ขาดได้ ตัวที่พบประจำได้แก่ กลูตามีน อาร์จีนีน ไทโรซีน ซีสตีอีน เป็นต้น ซึ่งกรดอะมิโนดังกล่าวนี้พบได้ตามกล้ามเนื้อปกติ เมื่อขาดจึงพบภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็ง นอกจากนี้กรดอะมิโนข้างต้นยังเป็นตัวสำคัญในการเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาวพวกลิมโฟไซท์ (lymphocyte) อีกด้วย และกรดอะมิโนที่ชื่อว่า “อาร์จีนีน” ยังช่วยในการควบคุมสมดุลไนโตรเจนในร่างกาย ความสมดุลนี้สำคัญมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่สมดุลไนโตรเจนเสียไปจะทำให้ผู้ป่วยเกิดสารพิษคั่งค้าง มีอาการซึมตอบสนองได้ช้า
คุณรู้จัก กลูต้าไทโอนไหม
ผู้ป่วยมะเร็งหลายท่านคงพอรู้กันว่ากลูต้าไทโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีชื่อเสียงที่สุดในปัจจุบัน และผู้ป่วยมะเร็งก็ทราบดีแล้วว่าสารต้านอนุมูลอิสระเป็นตัวปกป้องร่างกายผู้ป่วยจากมะเร็งได้ ดังนั้นผู้ป่วยหลายท่านพยายามเสาะแสวงหากลูต้าไทโอนจากแหล่งอื่นๆ แบบยาเม็ด ยาฉีด มาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง แต่ความจริงแล้วคุณรู้หรือไม่ว่า กลูต้าไทโอนก็คือโปรตีน ที่ท่านหวาดกลัวกันมาโดยตลอดว่าจะทำให้มะเร็งโตนั่นแหละ เพราะกลูต้าไทโอนเป็นสารที่ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่ชื่อว่า กลูตามีน + ซีสทีอีน
กลูต้าไทโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง แต่มีรายงานการวิจัยพบกันโดยตลอดว่าในผู้ป่วยมะเร็งระดับกลูต้าไทโอนจะลดลง (ในภาวะที่เครียดจะมีสารเหล่านี้ลดลง) เมื่อลดเราก็ต้องเพิ่ม แต่หากผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานโปรตีนเข้าไปเลย แล้วจะหาโปรตีนจากไหนกันเล่ามาสร้างสารที่มีค่าต่อผู้ป่วยเช่นนี้ ตอนนี้คงต้องเริ่มกลับมาทบทวนกันแล้วว่าถูกไหมที่ท่านจะอดรับประทานโปรตีนกันตลอดไป
สรุปหน้าที่สำคัญของโปรตีนสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง
1.สร้างภูมิคุ้มกัน
2.รักษาบาดแผลในผู้ป่วยผ่าตัดให้แผลหายเร็วขึ้น
3.ลดการเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน
4.ป้องกันการพัฒนาไปสู่ภาวะ cancer cachexia (กล้ามเนื้อฝ่อลีบ)
5.สร้างสารต้านอนุมูลอิสระ
รับประทานโปรตีนแล้วมะเร็งโตหรือ
ในความจริงแล้วการรับประทานสิ่งใดก็ทำให้มะเร็งโตหมดแหละครับ ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน แต่เนื่องจากโปรตีนนั้นจะหมายมุ่งถึงเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่ หากผู้ป่วยเลือกเนื้อสัตว์ไม่เป็นก็จะพบสารตกค้าง ไขมันที่แทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของเนื้อสัตว์ พวกนี้แหละคือตัวทำให้มะเร็งโตอย่างแท้จริง ถามว่าจะเลี่ยงไปเลยได้ไหม ตอบเลยว่าไม่ควร เพราะถึงแม้ตามหลักชีวจิตที่หลายๆ ท่านปฏิบัติกัน ยังแนะนำให้รับประทานเนื้อสัตว์อาทิตย์ละครั้งเช่นกัน สาเหตุก็เพราะเนื้อสัตว์เป็นแหล่งของกรดอะมิโนที่สมบูรณ์ที่สุดนั่นเอง
เลือกรับประทานโปรตีนอย่างไร
จากข้างต้นคงได้ทราบถึงประโยชน์ของอะมิโนแล้วนะครับ แหล่งโปรตีนที่ควรเลือก คือ ไข่ไก่ เนื้อสัตว์พวกเนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมันเยอะ อาทิ อกไก่ สันในไก่ เป็นต้น เราไม่แนะนำเนื้อแดงพวกเนื้อหมู เนื้อวัวให้ผู้บริโภค เพราะเนื้อดังกล่าวจะมีการตกค้างของ metmyoglobin อยู่ สารดังกล่าวจะไปรวมตัวกับน้ำดีในลำไส้ก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่ผู้ป่วยยังสามารถเลือกรับประทานเนื้อแดงได้บ้างอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ครับ
ผู้ป่วยบางท่านรับประทานเนื้อสัตว์แล้วจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน นั่นไม่ใช่เพราะร่างกายเมื่อเป็นมะเร็งแล้วจะปฏิเสธเนื้อสัตว์ แต่สาเหตุมาจากผู้ป่วยปฏิเสธเองครับ เพราะเมื่อเราไม่รับประทานอาหารใดนานๆ ร่างกายจะคิดว่าสิ่งนั้นไม่ใช่อาหารที่รับประทานได้ ทำให้รู้สึกถึงกลิ่นได้ดีกว่าคนปกติที่ได้รับประทานเป็นประจำ ดังนั้นการได้รับประทานเนื้อสัตว์ครั้งแรกของผู้ป่วยจะเกิดอาการคลื่นไส้ เหม็นเนื้อสัตว์ได้ ทางแก้คือลองลดปริมาณเนื้อสัตว์ลงก่อนในช่วงแรก จากนั้นรับประทานเนื้อสัตว์พร้อมกับผักที่มีกลิ่นกลบกลิ่นคาวได้ เช่น ใบโหระพา ใบกระเพรา เป็นต้น
ผู้ป่วยสามารถรับประทานโปรตีนได้ทุกคนหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ได้ครับ มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรคไตร่วมด้วย กับผู้ที่มีภาวะมะเร็งตับที่ส่งผลต่อสมอง โดยผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องดูแลเรื่องไตและตับ ต้องลงในรายละเอียดเป็นพิเศษว่าโปรตีนตัวไหนรับประทานได้ ตัวไหนอนุญาตให้ปริมาณเท่าไหร่ ต้องพิจารณาหลายปัจจัยมาประกอบ ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาและดูแลโดยนักกำหนดอาหารอย่างเคร่งครัดครับ
นมดื่มได้ไหม นมเป็นหมวดโปรตีนที่เป็นแหล่งของกลูตามีนตามธรรมชาติ แนะนำให้ดื่มได้เลยครับ แต่คงต้องเป็นกลุ่มนมพร่องมันเนย และหากอยากได้ประโยชน์จากการดื่มนมมากที่สุด แนะนำให้ใช้อาหารทางการแพทย์ชงดื่มแทนนมในบางมื้ออาหารก็ได้ โดยจะเลือกอาหารทางการแพทย์ชนิดใดควรปรึกษานักกำหนดอาหารก่อน เพราะอาหารทางการแพทย์แต่ละชนิดเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละโรคเท่านั้น มิใช่สามารถรับประทานทดแทนกันได้ทุกตัว
ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี
คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง