วันที่ 18-06-2012 | อ่าน : 11656
ไขมันกับโรคมะเร็ง
กรดไขมัน เป็นหน่วยย่อยของน้ำมัน แบ่งออกเป็น 3 ชนิดใหญ่ คือ
· กรดไขมันอิ่มตัว (SFA)
· กรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA)
· กรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (MUFA)
การทำงานของกรดไขมันแต่ละตัวก็มีหน้าที่ต่างกัน โดยทั่วไปร่างกายคนเราต้องการกรดไขมันทั้งสามชนิดให้ครบ เพราะหากขาดตัวใดตัวหนึ่งไปการทำงานของระบบในร่างกายจะไม่สมบูรณ์ แต่ในผู้ป่วยมะเร็งนั้นต้องทำการจำกัดไขมันที่รับประทาน และเลือกรับประทานกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (MUFA) มีมากในน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันเมล็ดชา การทำงานของกรดไขมันดังกล่าวสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง คือ เข้ามาทำให้ลดกระบวนการอักเสบในร่างกายนั่นเอง
ในปัจจุบันมีการศึกษาลึกลงไปพบว่า พวกโอเมก้า 3 (omega-3) มีความสำคัญมากกว่า แต่การคำนึงถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง (MUFA) หรือ กรดไขมันอิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) เพียงอย่างเดียว ทำให้มีการศึกษาถึงผลของการได้รับไขมันต่อระดับภูมิคุ้มกัน และการอักเสบ รวมถึงการควบคุมชิ้นเนื้อของผู้ป่วยมะเร็งด้วย ไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 ได้แก่ Eicosapentaenoic acid (EPA) และ Docosahexaenoic acid (DHA) การหารับประทานไขมันดังกล่าวมักจะเป็นที่นิยมกันของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งอยู่แล้ว เพราะอาศัยข้อมูลทางงานวิจัยมาเป็นแนวทางในการเลือกอาหาร ทำให้ปลาแซลมอนตกเป็นเหยื่อการกินของผู้ป่วยในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้วการรับประทานไขมันมากเกินไปก็ทำให้เกิดผลเสีย คือ ส่งผลให้เซลล์มะเร็งโตขึ้นได้อยู่ดี ดังนั้น ผู้ป่วยต้องพิจารณาปริมาณของกรดไขมันที่ได้รับประทานเข้าไปด้วยเป็นสำคัญ
มีงานวิจัยได้รายงานถึงการได้รับ EPA ในขนาด 1.1 กรัม จะสามารถกู้กลับภาวะกล้ามเนื้อฝ่อลีบอ่อนแรง หรือที่เรียกว่า Cancer Cachexia ได้ โดยสามารถป้องกันและแก้ไขน้ำหนักตัวที่ลดลงของผู้ป่วยมะเร็งได้ และยังมีรายงานถึงการได้รับน้ำมันปลาทะเลขนาด 1.8 กรัม ยังสามารถเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวทั้งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที (T cell) และ เซลล์นักฆ่า (Natural Killer Cell หรือ NK cell) อันเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ใช้ในการกำจัดเซลล์มะเร็งและเนื้องอกในร่างกาย อย่างไรก็ตาม การเสริมด้วยกรดไขมันเป็นแค่การกระตุ้นกระบวนการสร้างเม็ดเลือดเท่านั้น แต่ถ้าผู้ป่วยจำกัดไม่รับประทานโปรตีน ก็คงไม่เห็นผลดีจากการได้รับกรดไขมันแต่อย่างใด เพราะกรดไขมันทำหน้าที่เพียงกระตุ้นและยับยั้งกระบวนการอักเสบอันทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวแบ่งตัวมากขึ้น แต่การแบ่งตัวจำเป็นต้องมีต้องทุนหรือวัตถุดิบ คือ โปรตีนนั่นเอง การรับประทานปลาจึงเป็นแหล่งที่ให้ทั้งโปรตีนและกรดไขมัน EPA และ DHA ต่างๆ กับร่างกายผู้ป่วย โดยแสดงไว้ในตารางด้านล่างนี้
ชนิดปลา (100 กรัม) |
MUFA |
PUFA |
EPA |
DHA |
ปลาช่อน |
1324 |
859 |
160 |
710 |
ปลาสลิด |
25743 |
12797 |
497 |
2489 |
ปลากระพงขาว |
400 |
446 |
63 |
238 |
ปลากระพงแดง |
378 |
553 |
103 |
271 |
ปลาจาระเม็ดขาว |
585 |
539 |
71 |
265 |
ปลาทู |
953 |
1978 |
636 |
778 |
ปลาอินทรีย์ |
864 |
1079 |
153 |
603 |
ข้อมูลนี้รายงานโดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อพิจารณาข้อมูลทำให้ทราบว่าปลาต่างๆ มีปริมาณไขมันต่างกันไป ผู้ป่วยควรเลือกชนิดของปลาในการรับประทาน ไม่รับประทานปลาซ้ำๆ เพราะเมื่อรับประทานปลาทะเลก็ใช่ว่าเราจะได้รับแต่กรดไขมันที่มีประโยชน์อย่างเดียว แต่ยังได้รับสารพิษตกค้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาแถบทะเลที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ ดังนั้น ควรเปลี่ยนชนิดสลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อลดอัตราการได้รับสารตกค้างต่อร่างกาย
ว่าด้วยเรื่องน้ำมัน
ชนิดของน้ำมันที่นำมาใช้ปรุงประกอบอาหาร อันนี้เป็นหนึ่งในเรื่องเวียนหัวของคนที่ป่วยและคนทำอาหารมาก ในปัจจุบันมีน้ำมันหลากหลายชนิดวางจำหน่ายเลือกแทบไม่ถูก ขอแนะนำหลักเบื้องต้นว่า การเลือกใช้น้ำมันจะต้องแบ่งตามจุดประสงค์ของการทำอาหารเป็นหลัก
อาหารประเภททอดควรใช้น้ำมันปาล์ม เพราะเป็นกรดไขมันอิ่มตัว ทำให้ไม่เกิดอนุมูลอิสระง่ายเมื่อโดนความร้อน อย่างไรก็ตามนี่ คงเหมาะกับคนที่อยากป้องกันการเกิดโรคมะเร็งมากกว่า แต่สำหรับคนที่ป่วยแล้ว ตามรายงานการวิจัยยังแนะนำให้ใช้แต่น้ำมันที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) เป็นหลัก ดังนั้น จึงไม่แนะนำการประกอบอาหารแบบทอดในผู้ป่วยมะเร็งให้รับประทานเป็นประจำ เมื่อไรจะรับประทานควรเป็นอาหารที่ผัดใช้น้ำมันไม่เยอะ โดยน้ำมันที่สามารถใช้ได้ในกลุ่ม MUFA ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันงา เป็นต้น แต่ถึงแม้จะเป็นไขมันดี ก็ยังจำกัดปริมาณต่อวันไม่ควรบริโภคเกินวันละ 3-5 ช้อนชา
ติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้