ฮอร์โมนบำบัดสำหรับโรคฮอร์โมนบำบัด

วันที่ 09-05-2012 | อ่าน : 23260


 ฮอร์โมนบำบัดสำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก


 
     การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในปัจจุบัน มีตั้งแต่การผ่าตัด การฉายรังสี (Radiation therapy) การฝังแร่กัมมันตรังสี  (Brachytherapy seeds implant) การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) การรักษาทางชีวภาพ (Biological therapy) การฉีดสาร liquid nitrogen เพื่อแช่แข็งมะเร็งต่อมลูกหมาก (Cryotherapy) สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับการผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาแบบใหม่ แต่ยังไม่ยืนยันว่าได้ผลดีระดับใด และการรักษาโดยใช้ฮอร์โมน (Hormonal therapy) แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะของโรคว่าแพร่กระจายหรือไม่ ผลข้างเคียงต่างๆ อาทิ การรักษามีผลต่อความรู้สึกทางเพศหรือไม่ มีผลต่อการปัสสาวะหรือไม่ รวมทั้งคุณภาพชีวิตหลังการรักษาว่าเป็นอย่างไร   ในที่นี้เราจะมาเจาะลึกในส่วนของการรักษาโดยใช้ฮอร์โมนกันว่าเป็นอย่างไร
 
     การรักษาโดยใช้ฮอร์โมน (Hormonal therapy) จะใช้ในกรณีที่มะเร็งได้แพร่กระจายแล้วหรือเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำหลังการรักษา เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งได้แก่ เทสโตสเตอร์โรน (Testosterone) ซึ่งสร้างจากลูกอัณฑะ (Testis) และต่อมหมวกไต (Adrenal gland) โดยถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมน LH (Leuteinising hormone) จากต่อมพิทูอิตารี (Pituitary gland) หรือต่อมใต้สมองส่วนหน้า เนื่องจากฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนจะไปกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก จึงทำได้โดยการกำจัด และป้องกันไม่ให้เทสโตสเตอร์โรนไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เจริญเติบโตได้ ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้ 
 
Orchiectomy 
     คือ การตัดลูกอัณฑะซึ่งเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศชาย เป็นการช่วยระงับการเจริญเติบโต และ การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ผลเสียของการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก จะทำให้สูญเสียสมรรถภาพทางเพศหลังผ่าตัดได้
     การใช้ยากลุ่ม LHRH (Luteinizing-hormone releasing hormone) agonists หรือ เรียกอีกอย่างว่า GnRH (Gonadotrophin releasing hormone) agonists เป็นยาที่ใช้เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนจากลูกอัณฑะ เช่น  Leuprolide, Goserelin, และ Buserelin 
 
     โดยปกติการหลั่งของฮอร์โมน GnRH จะถูกควบคุมโดยสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) จากนั้น GnRH จะกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน LH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า และฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนจากลูกอัณฑะตามลำดับขั้นอีกที ดังนั้นกลไกการออกฤทธิ์ของ GnRH agonists คือ เกิดกระบวนการยับยั้งแบบย้อนกลับ (Negative feedback inhibition) ไม่ให้มีการหลั่งของฮอร์โมน GnRH และฮอร์โมน LH ทำให้ระดับของฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนลดลงในที่สุด การบริหารยาส่วนใหญ่โดยการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อ และโดยการฝังในผนังช่องท้องทุกๆ 1 - 3 เดือน ยากลุ่มนี้นอกจากใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแล้ว ยังสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม และโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) อีกด้วย 
 
การใช้ยากลุ่ม Antiandrogen 
เป็นยาที่ป้องกันการออกฤทธิ์ของแอนโดรเจน เช่น  Flutamide และ Bicalutamide
     Flutamide มีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรน ออกฤทธิ์โดยแย่งจับกับรีเซพเตอร์หรือตัวรับที่อยู่บนผิวเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ทำให้ฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนไม่สามารถจับกับรีเซพเตอร์ของมันได้ เมื่อขาดเทสโตสเตอร์โรน ทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งค่อยๆ ช้าลง หรือหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด 
     • Flutamide เป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาดรับประทาน วันละ 3 ครั้งๆ ละ 1 เม็ด หลังอาหาร ซึ่งในการรักษานั้น อาจให้ Flutamide เพียงชนิดเดียว หรือ ให้ร่วมกับยาฉีดกลุ่ม GnRH agonists ร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนี้ Flutamide ยังช่วยป้องกันอาการที่เรียกว่า Tumor flare ซึ่งเกิดจากการใช้ยากลุ่ม GnRH agonists แล้วทำให้ระดับของฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนเพิ่มขึ้นชั่วคราวในช่วงแรกที่ให้ยา จึงทำให้เกิดอาการปวดกระดูก ปัสสาวะลำบาก การให้ Flutamide ร่วมด้วยจะช่วยลดอาการเหล่านี้ลงได้ โดยมักจะให้นานประมาณ 1 เดือนที่เริ่มทำการรักษาด้วยยากลุ่ม GnRH agonists แล้ว 
     • Bicalutamide เป็นยาที่พัฒนามาใหม่ ดีกว่า Flutamide ในแง่ผลข้างเคียงของยาพบน้อยกว่า กลไกการออกฤทธิ์ของยาเช่นเดียวกับ Flutamide โดยจะแย่งจับกับรีเซพเตอร์หรือตัวรับที่อยู่บนผิวเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก แล้วทำให้ฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนไม่สามารถจับกับรีเซพเตอร์ของมันได้ Bicalutamide เป็นยาเม็ดชนิดรับประทานเช่นเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันมีขนาดความแรงของยาเพิ่มขึ้น สามารถรับประทานเพียงวันละครั้ง ทำให้การใช้ยาสะดวกขึ้นมาก
 
     การใช้ยาที่ป้องกันต่อมหมวกไตไม่ให้สร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น Ketoconazole and Aminoglutethimide ซึ่ง Ketoconazole เดิมเป็นยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อรา แต่อาศัยผลข้างเคียงของยาในแง่ที่ทำให้ระดับของฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนลดลง Aminoglutethimide จัดอยู่ในกลุ่ม Aromatase inhibitor แต่สามารถยับยั้งเอนไซม์ตัวอื่นได้อีกด้วย ปัจจุบันจึงไม่นิยมใช้แล้ว เนื่องจากมียาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงมากกว่า 
 
     ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มฮอร์โมนบำบัดในการรักษา เนื่องจากการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ ทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนในเพศชายลดลง ดังนั้นอาการข้างเคียงที่สำคัญจึงเป็นผลมาจากระดับของฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนที่ต่ำลงนั่นเอง ซึ่งจะมีอาการคล้ายผู้ชายวัยทอง มีอาการร้อนวูบวาบตามตัว อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความรู้สึกทางเพศลดลง รวมทั้งอาจทำให้เต้านมโตขึ้นได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังแห้ง ผื่นคัน มวลกล้ามเนื้อลดลง การทำงานของตับถูกรบกวน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 
 
     จะเห็นว่าผลข้างเคียงจากการที่ระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนที่ต่ำลง ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง ปัจจุบันกำลังมีการทดลองทางคลินิกเพื่อเปรียบเทียบ การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนแบบไม่ต่อเนื่อง (Intermittent therapy) ว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก ได้ผลดีเช่นเดียวกับการรักษาแบบต่อเนื่อง (Continuous therapy) หรือไม่ อย่างไร โดยการทดลองให้ GnRH agonists ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี เพื่อรักษาระดับของ PSA (Prostate Specific Antigen) ให้อยู่ในช่วงปกติ จากนั้นจึงหยุดให้ยา แล้วคอยตรวจเช็คระดับของ PSA ที่เพิ่มขึ้น แล้วจึงเริ่มให้ยาอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในช่วงที่มีการหยุดยานั่นเอง
 
 

 
 ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078    

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้