อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมีอาการแทรกซ้อนที่ไต
วันที่ 23-04-2012 | อ่าน : 11589
อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งมีอาการแทรกซ้อนที่ไต
การควบคุมอาหารที่ถูกต้องมีผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนน้อยลง ชะลอการเสื่อมของไต อาหารที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่
1.โปรตีน ถ้าไตเสื่อมไม่มากให้รับประทานโปรตีนได้ 0.8 กรัม/กก/วัน แต่ถ้าเสื่อมมากให้จำกัดปริมาณโปรตีนไม่เกิน 0.6 กรัม/กก./วัน โปรตีนเป็นส่วนประกอบของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดของเสียซึ่งถูกขับออกทางไต ถ้าไตเสื่อมของเสียจะคั่งค้างและไปสะสมตามอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติไป อาหารที่ให้โปรตีนสูงได้แก่ ไข่ ถั่ว นม เนื้อสัตว์ ไข่ให้รับประทานไข่ขาว ไม่ควรรับประทานไข่แดงเนื่องจากไข่แดงมีฟอสฟอรัสและคอเลสเตอรอลมาก ถ้าดื่มนมจะต้องลดอาหารเนื้อสัตว์ พวกถั่วต่างๆ และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ให้โปรตีนสูงควรงด เนื้อสัตว์ให้รับประทานเนื้อปลา เป็นหลัก
2.แป้งหรือคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น บะหมี่ เผือก มัน ขนมจีน ผู้ป่วยควรรับประทานหมู่นี้ให้มาก
3.ไขมัน หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ เช่น มันหมู มันไก่ มันเป็ด น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ แกงต่างๆ เครื่องใน ขาหมู หนังไก่ ไก่ตอน มันไก่ ให้ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทน หลีกเลี่ยงอาหารหรือขนมที่ใส่กะทิ
4.เกลือแร่ ผู้ป่วยไตวายให้ลดอาหารเค็ม เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูง บวมน้ำ และน้ำท่วมปอด
ตัวอย่างอาหารที่มีเกลือมากควรหลีกเลี่ยง
• อาหารกระป๋องต้องอ่านสลากอาหารเพื่อดูปริมาณสารอาหารที่มีเกลือต่ำ
• รับประทานอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ แทนการรับประทานอาหารที่ผ่านขบวนการถนอมอาหาร
• ไม่เติมเกลือหรือน้ำปลาในอาหารที่ปรุงเสร็จ
• หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เช่น หมูเค็ม เบคอน ไส้กรอก ผักดอง มัสตาร์ด และเนยแข็ง รวมถึงอาหารตากแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม หอยเค็ม กุ้งแห้ง ปลาแห้ง
• เนื้อสัตว์ปรุงรส ได้แก่ หมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง
• อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่สำเร็จรูป โจ๊กซอง ซุปซอง
• อาหารสำเร็จรูปบรรจุถุง เช่น ข้าวเกรียบ ข้าวตังปรุงรส มันฝรั่ง
• เครื่องปรุงรสที่มีเกลือมาก เช่น ซุปก้อน ผงชูรส ผงฟู
• อาหารหมักดองเค็ม เช่น กะปิ เต้าหู้ยี้ ปลาร้า ไตปลา ไข่เค็ม ผักดอง ผลไม้ดอง แหนม ไส้กรอกอีสาน
5.น้ำ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำไม่เกินวันละประมาณ 500 มิลลิลิตร ไม่ควรดื่มน้ำแร่ น้ำหนักตัวไม่ควรเพิ่มเกินวันละ 0.5 กิโลกรัม แต่ทั้งนี้ขึ้นกับคำสั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาเป็นหลักในการจำกัดสารน้ำ
โพแทสเซียม (Potassium)
เนื่องจากโพแทสเซียมถูกขับออกทางไต เมื่อไตเสื่อมทำให้เกิดการคั่งของโพแทสเซียม ผู้ป่วยไตวายจะมีการคั่งของ โพแทสเซียม ถ้าระดับโพแทสเซียมสูงมากอาจทำให้หัวใจหยุดเต้น
•ผักที่มีโพแทสเซียมสูงควรงด ได้แก่ หัวปลี ผักชี ต้นกระเทียม มีโพแทสเซียมมาก ได้แก่ บร็อคโคลี แครอท มันเทศ ผักบุ้ง เห็ดฟาง มะเขือพวง มะเขือเปราะ ใบแมงลัก โหระพา หน่อไม้ฝรั่ง หอมแดง ผักป่วยเล้ง มันฝรั่ง มะเขือเทศ ดอกกะหล่ำ ถั่วต่างๆ เมล็ดทานตะวัน มีโพแทสเซียมปานกลาง ได้แก่ เห็ดนางฟ้า แตงกวา ฟักเขียว พริกฝรั่ง หัวผักกาดขาว มะเขือเทศสีดา ผักกาดขาวใบเขียว พริกหยวก มีโพแทสเซียมน้อย ได้แก่ บวบเหลี่ยม ถัวพู หอมหัวใหญ่ ผักที่มีโพแทสเซียมน้อยที่สุด คือ เห็ดหูหนู
•ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูงควรงด มากที่สุด คือ ทุเรียนหมอนทอง และทุเรียนชะนี รองลงมา ได้แก่ มะพร้าว กล้วย ลำไยพันธ์ต่างๆ มีโพแทสเซียมปานกลาง ได้แก่ ฝรั่ง มะขาม กระท้อน ส้ม ลางสาด องุ่น มะม่วง มะละกอสุก ลิ้นจี่ ละมุด ขนุน ลูกพรุน ลูกเกด
•ผักและผลไม้ที่พอรับประทานได้แต่ปริมาณไม่มาก ได้แก่ ถั่วพู ถั่วผักยาว มะเขือยาว หน่อไม้ไผ่ตง ผักคะน้า ถั่วลันเตา มะระ หัวผักกาดขาว มะม่วง มะละกอ องุ่น แตงโม แอปเปิล ชมพู่
•ผักที่รับประทานได้ ได้แก่ กะหล่ำปลี แตงกวา บวบ ฟักเขียว ถั่วงอก
ผู้ที่มีโพแทสเซียมในเลือดสูง (มากกว่า 5 ) ควรงดผลไม้ทุกชนิด รับประทานได้ต่อเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น ควรปฏิบัติตนในการรับประทานผลไม้ ดังนี้
- งดผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูงมาก เช่น ทุเรียนและผลไม้แห้ง เช่น ลูกเกด ลูกพรุน
- รับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูงในปริมาณที่จำกัด เช่น กล้วย ฝรั่ง กระท้อน
- รับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียมปานกลางได้พอควร เช่น ส้มเขียวหวานครั้งละผล ผลไม้ดังกล่าวได้แก่ ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง มะละกอสุก มะม่วงสุก มะม่วงดิบ ส้มโอ แอปเปิลแดง สตรอเบอร์รี่ ลางสาด แคนตาลูป เงาะ ขนุน แต่จะรับประทานได้ต้องตามแพทย์สั่งเท่านั้น
- ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ รับประทานได้ค่อนข้างมาก เช่น แตงโม และสับปะรดกระป๋อง
ฟอสเฟต
ฟอสฟอรัสมีมากที่สุดในนมทุกรูปแบบ ผลิตผลจากนม เช่น เนยแข็ง โยเกิร์ต ไอศกรีม ผู้ป่วยโรคไตวายควรหลีกเลี่ยงนมทุกชนิด ไข่ไก่ ไข่เป็ด โดยเฉพาะไข่แดงจะมีฟอสฟอรัสมากรองจากนม ส่วนไข่ขาวมีน้อย ถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม นมสด เนยแข็ง ถั่ว เนยแข็ง เมล็ดมะม่วงหินพานต์ การรับประทานอาหารเหล่านี้มากทำให้ระดับฟอสเฟตในเลือดสูง ระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ในเลือดสูงขึ้น และวิตามินดีในเลือดต่ำลง ส่งผลให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
เหล็ก
ผู้ป่วยโรคไตควรได้รับธาตุเหล็กเสริมในรูปของยารับประทานตามแพทย์แนะนำ
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง