วิธีจัดการผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ตอนที่ 3
วันที่ 27-03-2012 | อ่าน : 23237
วิธีจัดการผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ตอนที่ 3
ท้องผูก
ยาเคมีบำบัดบางชนิดส่งผลทำให้ท้องผูก ถ้าเราทานน้ำน้อย ยาแก้ปวด เป็นโรคลำไส้ (มีภาวะลำไส้อุดตัน) รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย (Fiber) ก็ทำให้ท้องผูกได้เช่นกัน ถ้าท้องผูกเกิน 2-3 วัน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะแนะนำยาระบายให้ทานหรือลองปฏิบัติตัวตามวิธีที่กล่าวดังต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกเพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับประทานยาระบาย
- ดื่มน้ำบ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 2 – 3 ลิตร ถ้าไม่มีปัญหาในช่องปาก เช่น ปากเป็นแผล เจ็บคอ เป็นต้น ให้ทานน้ำอุ่นหรือร้อนนิดหน่อย
- ควรดื่มน้ำอุ่นในตอนเช้าเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้
- รับประทานอาหารที่มีกาก หรือเส้นใยสูง เช่น ผักสด ผลไม้
- ออกกำลังกายเบาๆ ทุกวัน เช่น การเดินเล่นทุกวัน วันละ 30 นาที
- ฝึกนิสัยในการขับถ่ายอุจจาระทุกเช้าให้เคยชิน
ผลข้างเคียงที่มีต่อผิวหนังและเล็บ
ขณะได้รับยาเคมีบำบัด ผิวหนังอาจจะมีอาการคันแดง แห้งเป็นขุย นอกจากนี้ผิวหนังก็ไวกับแสงแดดได้ง่ายขึ้น บริเวณที่ได้รับยาผิวหนังอาจมีช้ำ ดำเป็นจ้ำ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปหลังจากสิ้นสุดการทำเคมีบำบัด ส่วนเล็บอาจจะมีสีดำ เหลือง เปราะง่าย
ปัญหาเหล่านี้อาจจะดูไม่รุนแรงเหมือนปัญหาอื่นๆ แต่อาการบางอย่างอาจจะนำไปสู่ปัญหาที่ร้ายแรงได้ เช่น บริเวณที่รับยานอกจากจะมีการช้ำเป็นจ้ำบริเวณที่ได้รับยาแล้ว ยังมีอาการปวดแสบมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ บางอาการอาจจะหมายถึงการแพ้ยาก็ได้ เช่น เป็นผื่นคันแดงทั้งตัว เป็นต้น
การดูแลผิวหนังและเล็บ
- สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องสิว ควรล้างหน้าให้สะอาดและอาจปรึกษาแพทย์ถ้าต้องการใช้ยาทาสิว
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน และการสัมผัสความร้อน
- ควรใช้สบู่ที่ผสมมอยเจอร์ไรเซอร์ (moisturizer) ถ้าผิวแห้งมาก
- ทาครีมบำรุงหรือโลชั่นขณะผิวยังชื้นๆ อยู่
- หลีกเลี่ยงน้ำหอม โคโลญน์ หรือโลชั่นหลังโกนหนวดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- สวมถุงมือเวลาล้างจานชาม ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ เพื่อป้องกันเล็บ
- เล็บที่หนาและมีสีคล้ำขึ้นนั้นขึ้นนั้น เล็บที่งอกใหม่จะกลับมามีสีปกติภายหลังหยุยา 10 – 12 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงแสงแดดช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00 น. จนถึง 16.00 น. เพราะช่วงเวลานี้แสงแดดค่อนข้างแรงมาก
- ผลิตภัณฑ์กันแดดควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันแดด SPF (sun protection factor) 15 ขึ้นไป
- ลิปบาล์มที่ใช้ควรผสมสารกันแดดด้วย
- ควรใส่เสื้อและกางเกงขายาวขณะออกจากบ้านและใส่หมวกในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผมร่วงเพื่อป้องกันแสงแดด
- ประคบด้วยถุงเย็นหรือแช่มือและเท้าในน้ำเย็น เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดไปยังฝ่ามือและฝ่าเท้า
ผลข้างเคียงต่อตับและไต
ยาเคมีบำบัดบางชนิดมีผลต่อตับและไต ดังนั้นก่อนทำเคมีบำบัดแพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะ เลือด เพื่อดูการทำงานของตับและไต ผู้ป่วยสามารถสอบถามแพทย์ว่ายาที่ได้รับจะมีผลต่อตับและหรือไม่ ยาเคมีบำบัดบางตัวอาจจะทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสีได้เป็นสี ส้ม แดง เป็นต้น หรือมีกลิ่นของยาเวลาปัสสาวะในช่วงเวลา 1-3 วันหลังจากทำเคมีบำบัด หากผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ควรรีบติดต่อแพทย์
- ปวดแสบเวลาปัสสาวะ
- ปัสสาวะถี่มาก หรือ ไม่สามารถปัสสาวะได้
- ปัสสาวะมีเลือดปน
- มีไข้สูง หนาวสั่นมากๆ
ผลข้างเคียงต่อระบบขับถ่ายปัสสาวะ
ผู้ป่วยควรซักถามแพทย์ผู้ดูแลว่าในวันหนึ่งๆ ทานจะดื่มน้ำได้มากน้อยเพียงใด ในบางครั้งท่านอาจต้องดื่มน้ำมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อจะให้การทำงานของไตเป็นปกติขณะได้รับยาต้านมะเร็ง นอกจากน้ำบริสุทธิ์แล้ว น้ำผลไม้ ชา ซุป ไอศกรีม น้ำแข็ง วุ้น เป็นอาหารที่ให้น้ำแก่ร่างกายเช่นกัน ควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ขณะได้รับเคมีบำบัด
สภาวะเหมือนเป็นไข้หวัด
ส่วนมากผู้ป่วยมักจะมีอาการคล้ายเป็นหวัดหลังจากได้รับเคมีบำบัดในวันนั้นๆ โดยมักจะเป็นไม่กี่วันก็จะหาย ส่วนมากจะเกิดกับผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดแบบผสมกับยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน อาการที่เกิดขึ้น คือ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ต่ำ (ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส) และไม่ค่อยอยากทานอาหาร
ผลกระทบระบบสืบพันธุ์
- เพศชาย
ยาเคมีบำบัดอาจจะทำให้อสุจิ (Sperm) มีจำนวนลดน้อยลงและความสามารถในการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิด้วย อาการนี้อาจจะเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุ ผู้ป่วยสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้แต่ต้องใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจจะใช้การคุมกำเนิดวิธีอื่น เพราะยาเคมีส่งผลให้โครโมโซมที่ตัวอสุจิโดนทำลายไป และทารกที่เกิดมาอาจไม่สมบูรณ์ หลังจากที่เสร็จสิ้นการทำเคมีบำบัด (การทำเคมีบำบัดครั้งสุดท้าย) ในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงแรกนั้น ควรจะต้องใส่ถุงยางอนามัยด้วยถ้าต้องการมีเพศสัมพันธ์
- เพศหญิง
ยาเคมีบำบัดสามารถส่งผลต่อรังไข่และการผลิตฮอร์โมนลดลง ในผู้ป่วยผู้ป่วยผู้หญิงบางรายอาจจะมีอาการลักษณะเหมือนวัยหมดประจำเดือนหรือที่เรียกว่าวัยทอง หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อารมณ์จะค่อนข้างแปรปรวนได้ง่าย สำหรับการมีเพศสัมพันธ์สามารถมีได้ตามปกติแต่ควรมีการคุมกำเนิดร่วมด้วย ถ้าเกิดช่องคลอดมีอาการแห้งสามารถใช้เจลหล่อลื่นสำหรับช่องคลอดได้ ไม่ควรใช้วาสลีนเพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ หรือปรึกษาแพทย์
- การตั้งครรภ์
แม้ว่าขณะทำเคมีบำบัดผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์มีบุตรได้แต่ไม่ควรเพราะทารกที่เกิดมาอาจจะไม่สมบูรณ์มีความผิดปกติกับเด็กได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องคุมกำเนิดในกรณีที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด เช่น ให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางทุกครั้งขณะมีเพษสัมพันธ์ ใส่ห่วง เป็นต้น สำหรับยาคุมกำเนิดอาจจะไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม (Breast cancer) ท่านอาจจะปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
ผลกระทบต่อภาวะอารมณ์และจิตใจ
อาจจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง เช่น ซึมเศร้า กลัว โกรธ หรือหมดหวัง ความรู้สึกดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพและมีผลด้านลบต่อการรักษาของผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงต้องการกำลังใจและความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง การได้พูดคุยเปิดเผยความรู้สึกและความต้องการของผู้ป่วยต่อครอบครัว เพื่อนฝูง แพทย์ และพยาบาล อาจำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจขึ้นบ้าง ควรเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันใหม่บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความจำเจเบื่อหน่าย
ผลข้างเคียงอื่นๆ
สีของปัสสาวะอาจเปลี่ยนได้เมื่อได้รับยาเคมีบำบัด บางตัวอาจทำให้มีสีแดงเข้ม หรือสีเหลืองสดได้ อาการคล้ายอาการเป็นหวัด ถ้ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำๆ หลังจากได้ยา อาจเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมง อาการนี้จะหายไปภายใน 48 ชั่วโมง ถ้าไม่หายต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ อาการที่ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- เลือดออกไม่หยุด, มีจ้ำเลือดตามร่างกาย
- มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส, ปวดศีรษะ
- ท้องเดินหรือท้องผูกอย่างรุนแรง
- เจ็บแสบ หรือมีแผลบริเวณริมฝีปาก เยื่อบุในช่องปาก และลำคอมากจนรับประทานอาหารไม่ได้
- ผิวหนังบริเวณที่ให้น้ำเกลือมีอาการ ปวด เจ็บ แสบ สีผิวเปลี่ยนไปสีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม
- พบจุดจ้ำเลือด ตามผิวหนังบริเวณแขน ขา ลำตัวหรือใบหน้า
- กำลังมีประจำเดือนหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- อุจจาระมีเลือดปน
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี
คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง