วิธีจัดการผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ตอนที่ 1
วันที่ 20-03-2012 | อ่าน : 36197
วิธีจัดการผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ตอนที่ 1
เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่การเจริญเติบโตแล้วแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดไปแล้วยาก็จะไปออกฤทธิ์ที่เซลล์มะเร็ง แต่ยาก็มีผลต่อเซลล์ปกติที่มีคุณสมบัติในการเจริญและแบ่งตัวเร็วด้วย เช่น เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร, เส้นผม, เม็ดเลือด เป็นต้น การที่เซลล์ปกติถูกทำลายนั้นก็คือสาเหตุของผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากยาไปทำลายเซลล์ที่ดีในร่างกายของผู้ป่วยนั่นเอง
อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ชนิดของยา และขนาดของยารวมถึงระยะเวลาที่ได้รับยาด้วย ดังนั้นก่อนจะเริ่มทำเคมีบำบัดควรพูดคุยปรึกษาแพทย์ถึงอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน, ผมร่วง, ท้องร่วง, ท้องผูก,แผลในปาก, ปริมาณเม็ดเลือดลดลง, เบื่ออาหาร, การรับรสเปลี่ยนไป อาจรู้สึกขมในปาก, ลิ้นแข็ง รู้สึกชา, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีผื่นอาการแพ้, มีไข้, ปวดมากบริเวณฉีดยา เป็นต้น อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเมื่อสิ้นสุดการให้ยาเคมีบำบัด
การแก้ไขบรรเทาอาการข้างเคียงที่พบบ่อย
อ่อนเพลีย
ความรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรงเป็นอาการผิดปกติของผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่แล้ว แต่สาเหตุที่ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียนั้น ก็ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริง เพราะอาการนี้สามารถเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ทำเคมีบำบัด รังสีรักษา ผ่าตัด พักผ่อนไม่เพียงพอ อาการปวด เครียด เป็นต้น แต่อาการอ่อนเพลียในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งนั้นจะต่างจากคนปกติตรงที่ไม่ว่าจะพักผ่อนมากน้อยขนาดไหนก็ยังรู้สึกเพลียอยู่
ข้อควรปฏิบัติเวลาเรารู้สึกอ่อนเพลีย
- ไม่ควรให้ผู้ป่วยนอนอยู่กับเตียงตลอดทั้งวัน ถ้าผู้ป่วยพอช่วยเหลือตัวเองได้
- ควรจะจัดแบ่งเวลาให่ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมบ้าง
- หาเวลาออกกำลังกายบ้างแต่ควรเป็นการออกกำลังกายเบาๆ
- รับประทานอาหารทีละน้อยแต่จำนวนมื้อที่ทานมากขึ้นพูดง่ายๆ ก็คือ ทานน้อย แต่ถี่ขึ้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แป้ง น้ำตาล ไข่ เนื้อสัตว์ นม ผัก ผลไม้
คลื่นไส้ อาเจียน
ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดมักจะกลัวอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่ในปัจจุบันนี้ได้มียาเคมีบำบัดตัวใหม่ออกมาที่ไม่ค่อยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยปกติแพทย์จะให้ยาคลื่นไส้อาเจียนเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนอยู่แล้ว
วิธีช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
- ผู้ป่วยบางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แม้เพียงคิดถึงการได้รับยาต้านมะเร็ง ทั้งนี้เพราะความกังวลที่เกิดจากการรักษา และการคาดคะเนว่าจะรู้สึกไม่สบายหลังจากนั้น หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรนอนหงายราบๆ ในที่เงียบสัก 15 – 40 นาที ก่อนรับยาและก่อนที่จะรับยาควรหาผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นๆ ประคบที่ตาทั้ง 2 ข้าง หากต้องการให้มีเพื่อนอยู่ใกล้ขณะนั้น ก็ควรหาใครสักคนอยู่ด้วย การสนทนาจะช่วยให้ท่านสนใจเกี่ยวกับสิ่งอื่นๆและช่วยลดความรู้สึกอยากอาเจียนลง
- พยายามดื่มน้ำทีละน้อยแต่เน้นจิบบ่อยๆ เช่น น้ำขิง น้ำส้ม น้ำมะนาว และพยายามทานน้ำหลังอาหารประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง
- พยายามทานอาหารจำนวนน้อย แต่จำนวนมื้อมากขึ้น และพยายามเคี้ยวให้ละเอียดเพื่อจะได้ย่อยง่ายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเป็นเวลา
- อย่าใส่เสื้อที่คับแน่นร่างกาย
- หลีกเลี่ยงกลิ่นที่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ เช่น กลิ่นบุหรี่ กลิ่นอาหาร กลิ่นน้ำหอม
- พยายามหลีกเลี่ยงอาหารหวาน ของทอดหรืออาหารมันๆ และอาหารรสจัด
- ควรรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปังกรอบ ขนมปังปิ้ง น้ำหวาน
- ไม่ควรนอนหลังจากทานอาหารเสร็จ ถ้าต้องการจะนอนพักผ่อนก็ควรให้ผ่านไปประมาณ 2 ชั่วโมงก่อน
- ถ้าเคยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ขณะกำลังรับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยควรงดทานอาหารอย่างน้อย 2 - 3 ชั่วโมงก่อนทำเคมีบัด
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการฟังเพลง อ่านหนังสือ เดินออกกำลังกาย
- ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาระงับอาการคลื่นไส้อาเจียนไว้
อาการปวด
อาการปวดอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกๆ คนที่ทำเคมีบำบัด แต่ถ้ามีอาการปวดเกิดขึ้นควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการปวดที่เกิดขึ้น หรือผู้ใกล้ชิด/ญาติเพื่อที่จะได้ช่วยหาทางบรรเทาอาการที่ควรรายงานให้แพทย์ เพื่อที่จะได้ทราบสาเหตุและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
- ปวดที่บริเวณไหนของร่างกาย
- ลักษณะอาการปวด ปวดแบบตึบๆ จี๊ดๆ ปวดแบบมีการสั่นร่วมด้วย ปวดแบบชาๆ เป็นต้น
- ปวดมากน้อยขนาดไหน เช่นพอทนได้ พอมากจนนอนไม่หลับ เป็นต้น
- ระยะเวลาของการปวด เช่น ปวดสักพักก็หายปวดทั้งวัน
- ยาที่รับประทาน และหลังจากที่รับประทานยาด้วย ควรทานตามที่แพทย์สั่งไม่ควรทานพร่ำเพรื่อ ในช่วงที่ยาแก้ปวดออกฤทธิ์ เราอาจจะมีการบริหารบริเวณที่ปวดเบาๆ เพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
ผมร่วง
ผมร่วงเป็นผลข้างเคียงปกติของยาเคมีบำบัดอยู่แล้วแต่อาการนี้ไม่ได้เกิดกับยาเคมีบำบัดทุกตัว นอกจากเส้นผมแล้วบริเวณต่างๆ ของร่างกายที่มีเส้นขนบนใบหน้า แขน ขา หรือใต้รักแร้ เป็นต้น อาการนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังจากได้รับยาเคมีบำบัดชุดแรก แต่อาจจะเกิดขึ้นในชุดที่ 2-3 ของการทำเคมีบำบัดก็ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นการทำเคมีบำบัดอาการเหล่านี้จะหายไปและเส้นผมที่เคยหลุดร่วงไปก็จะกลับขึ้นมาเหมือนเดิม
การดูแลเส้นผมและหนังศีรษะระหว่างที่ทำยาเคมีบำบัด
- ควรใช้แชมพูสระผมแบบอ่อน
- แปรงหวีผมควรใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่มหรือที่มีซี่ห่างๆแปรงผมเบาๆ
- ควรหลีกเลี่ยงการไดร์ผม อบผม
- การไว้ผมสั้นจะช่วยให้ผมดูหนาขึ้นกว่าไว้ผมยาว
- ในกรณีที่ผมร่วงหมด ควรจะทาครีมกันแดดที่หนังศีรษะด้วยและใส่หมวกเพื่อป้องกันแสงแดด
- หลีกเลี่ยงการทำสีผม ดัด ยืดผม
- หลังสระผม ซับผมหรือหนังศีรษะเบาๆ ไม่ควรขยี้
- ควรสวมหมวกเวลานอน
- ปลอกหมอนควรเป็นผ้าซาติน จะได้ไม่เกิดเสียดทานกับหนังศีรษะ
- ปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อนการใช้สารเคมีใดๆกับผม
- หลังหยุดการรักษาผู้ป่วยที่มีผมร่วง ผมจะงอกขึ้นมาใหม่ในเวลาประมาณ 1 - 3 เดือน ภายหลังหยุดยา ผมจะงอกเหมือนเดิมหรืออาจดูดีกว่าเดิม
โปรดติดตามตอนต่อไป
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี
คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง