เคมีบำบัดรักษามะเร็ง ตอนที่ 1

วันที่ 15-03-2012 | อ่าน : 13264


 เคมีบำบัดรักษามะเร็ง ตอนที่ 1
 
Kanser ilaçları saçlarını bu hale getirdi - Sağlık Haberleri - Sayfa 3
 
เคมีบำบัดคืออะไร
เคมีบำบัด  อาจจะเป็นยาหรือสารเคมีก็ได้ที่ใช้ในการรักษามะเร็  โดยยาเคมีบำบัดจะขัดขวาง ควบคุมการแบ่งตัว และการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด แต่ยาเคมีบำบัดแต่ละตัวมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งแตกต่างกัน  ถ้าเซลล์มะเร็งไม่สามารถถูกทำลายด้วยยาตัวหนึ่ง (เรามักเรียกว่าการดื้อยา) แพทย์อาจเปลี่ยนชนิดของยาเคมีบำบัดหรือใช้หลายตัวร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา  ปกติการให้ยาเคมีบำบัดสามารถให้ได้โดยทางรับประทาน  ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ  ใต้ผิวหนัง  หรือฉีดเข้าเส้นก็ได้  โดยแพทย์จะเป็นคนพิจารณารูปแบบการให้ยาเอง
 
ทำไมต้องให้เคมีบำบัด
     - เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง  และป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
     - เพื่อใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น  เช่น  หลังการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกไปแล้ว  แพทย์จะใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อควบคุมเซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์มะเร็งที่หลงเหลือ
     - เพื่อให้ขนาดก้อนของมะเร็งมีขนาดเล็กลง
     - เพื่อให้การรักษาวิธีอื่นๆ  เช่น  การผ่าตัดหรือการทำรังสีรักษานั้นทำได้ง่ายและได้ผลดียิ่งขึ้น
 
วิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาหรือเคมีบำบัด
 วิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาหรือเคมีบำบัดที่สำคัญมี  3  วิธีคือ

  1.  โดยการรับประทานยา
1.1  โดยปกติแล้ว  ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทานนั้นจะเหมือนกับรับประทานยานิดอื่นๆทั่วไปอาจจะเป็นยาน้ำ  ยาเม็ด  หรือแคปซูล  แต่ขนาด  จำนวนเม็ดที่ผู้ป่วยจะได้รับขึ้นอยู่กับขนาดร่างกายของแต่ละคน  ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้คำนวณขนาดยาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย   ดังนั้นในผู้ป่วยแต่ละคนจะได้รับยาจำนวนไม่เท่ากัน  ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาตามจำนวนและเวลาที่แพทย์กำหนดให้เท่านั้น  การรับประทานยาก่อนอาหารควรรับประทานยาก่อนอาหารเป็นเวลา  30  นาที  ส่วนการทานยาหลังอาหารควรรับประทานยาหลังรับประทานอาหารเป็นเวลา  30  นาที
1.2  บันทึกขนาดยาที่ได้รับ ลงในตารางบันทึกการรับประทานยาและควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง
1.3  บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาปรับลดขนาดยาในภายหลังเพื่อควบคุมหรือลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น  ควรบันทึกลงในตารางบันทึกการรับประทานยา  และรับประทานยาตามขนาดที่ปรับลดลงตามแพทย์สั่ง
หมายเหตุ  รับประทานยากับน้ำเปล่าเท่านั้น

  2. โดยการฉีดยา  ซึ่งแบ่งออกเป็นวิธีฉีดในรูปต่างๆ  ดังนี้
2.1  การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ  จะมีความรู้สึกเหมือนได้รับการฉีดวัคซีน  (ไม่เป็นที่นิยม) 
2.2  การฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ  อาจเป็นโดยตรงหรือผสมกับน้ำเกลือ  ค่อยๆหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ
2.3  การฉีดเข้าทางหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง
2.4  การฉีดเข้าในช่องท้อง  ช่องปอด  ช่องห่อหุ้มหัวใจ  กระเพาะปัสสาวะ  เป็นต้น
2.5  การฉีดยาเข้าไปที่ก้อนมะเร็งโดยตรง  เป็นต้น

  3.  โดยวิธีการทายาบริเวณที่เป็นมะเร็ง  วิธีนี้มีมานานแล้ว  แต่มีข้อใช้จำกัด  ได้รับการพัฒนาการไม่มาก ไม่ค่อยนิยมเหมือนกับวิธีรับประทานและวิธีฉีด
กลุ่มยาเคมีบำบัดที่พบได้บ่อย

     1.แอนตี้เมตะบอไลท์และไฮโปเมทธิลเลททิ้ง  เอเจ้นท์  (Antimetabolite  and  Hypomethylating  agents)  
เป็นกลุ่มยาเคมีบำบัดที่มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับสารที่ใช้สร้าง  ดีเอ็นเอ  หรือสารพันธุกรรมของร่างกายมนุษย์  โดยยากลุ่มนี้จะเลียนแบบสารที่เซลล์มะเร็งใช้เพื่อสร้างสารพันธุกรรมที่จำเป็นในการแบ่งตัว  ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถสร้างสารพันธุกรรมที่จำเป็นในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนต่อไปได้  หรือยาในกลุ่ม  Hypomethylating  agents  ก็จะเข้าไปออกฤทธิ์ให้  ดีเอ็นเอ  ของเซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้เช่นเดียวกัน  
 
     2. ยาปฏิชีวนะ  (Antibiotic)
ยากลุ่มนี้เดิมทีจัดในกลุ่มยาปฏิชีวนะ  แต่พบว่ามีฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็ง  โดยยาจะเข้าไปจับกับสายดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็ง โดยตรงทำให้ดีเอ็นเอไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอันส่งผลให้เซลล์มะเร็งตายสลายไป  
 
     3. ไบโอโมดิฟายด์เออร์  (Biomodifiers)
ยากลุ่มนี้ได้มาจากสารชีววัตถุ  หรือสารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตแล้วเอามาตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ออกฤทธิ์ตามที่เราต้องการกลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่พบว่าจะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว และไวรัสตับอักเสบซี  
 
     4. บิสฟอสโฟเมต  (Bisphosphonates)
ยากลุ่มนี้ไม่ใช่เคมีบำบัดโดยตรง  แต่จะให้เพื่อป้องกันกระดูกถูกทำลาย  ในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายไปกระดูก  หรือคนไข้ที่ได้รับเคมีบำบัดแล้วเกิดภาวะกระดูกพรุน  โดยยาจะไปยับยั้งตัวที่ทำหน้าที่ทำลายกระดูกที่มีชื่อว่า  Osteoclasts  
 
     5. เซลล์  แมททัวริ่ง  เอเจ้นท์  (Cell  maturing  agents)
ยากลุ่มนี้จะให้ในกลุ่มมะเร็งเม็ดเลือดขาว  acute  promyelocytic  leukemia  (APL)  กลไกการออกฤทธิ์ยังไม่ทราบแน่ชัด  แต่จะทำให้รูปร่างหน้าตาของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวเปลี่ยนแปลงไป  ดีเอ็นเอ  เกิดความเสียหาย  จนเซลล์ตายในที่สุด  
 
     6. แอนตี้นีโอพลาสติก และ แอลคีเลททิ้ง  เอเจ้นท์  (Antineoplastics and  Alkylating  agents) 
ยากลุ่มนี้จะเข้าไปที่  ดีเอ็นเอ  ของเซลล์มะเร็งทำให้  สารพันธุกรรมถูกทำลาย  หรือรบกวนการเจริญเติบโตการแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็ง  
 
     7. ดีเอ็นเอ  รีแพร์  เอนไซม์  อินฮิบิเตอร์  (DNA Repair  enzyme  inhibitor)
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ในนิวเคลียสของเซลล์  โดยจะเข้ายับยั้งเอนไซม์ (โปรตีน)  ที่ทำหน้าที่ซ่อมแซม  ดีเอ็นเอ  หรือสารพันธุกรรมที่เสียหายให้กลับมาอยู่ในสภาพดี  เมื่อกลไกดังกล่าวถูกยับยั้งเซลล์ก็จะฝ่อตายในที่สุด  
 
     8.  ยายับยั้งระยะไมโตซีส  (Drug  prevent  cells  from  dividing  by  blocking  mitosis)
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์โดยยับยั้งการแบ่งเซลล์ในระยะที่เรียกว่า  mitosis  ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวได้  
 
     9. เอนไซม์
ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์โดยเปลี่ยนกรดอะมิโนแอสพาราจีน  ให้เป็นกรดอะมิโนชนิดอื่น  ซึ่งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวต้องการแอสพาราจีนในการทำงานของเซลล์  ดังนั้นยาชนิดนี้จะทำให้เซลล์ขาดกรดอะมิโนจำเป็น  ทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตายได้  
 
     10. ยายับยั้งเอนไซม์ดีอะซิทีเลสของโปรตีนฮีสโตน  (Histone  deaeetylase  inhibitor)
ยาในกลุ่มนี้จะยับยั้งไม่ให้มีการคลายเกลียวของ  ดีเอ็นเอ  ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวได้  
 
     11. ยาเสตรียรอยด์  (Steroid)
ยาในกลุ่มนี้จะมีผลต่อมะเร็งชองเซลล์เม็ดเลือดขาว  Malignant  Lymphocyte  
 
     12. ยาปรับสมดุลภูมิคุ้มกัน  (Immunomodulators)
ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นหรือยับยั้งภูมิคุ้มกัน  
 
     13. โมโนโคนอล  แอนติบอดี้  (Monoelonal  antibody)
ยาในกลุ่มนี้ได้จากการดัดแปลงแอนติบอดี้  เพื่อให้เกิดความจำเพาะเจาะจงในการเข้าจับเซลล์มะเร็งเท่านั้น  ทำให้ลดการทำลายเซลล์ปกติอื่นๆ  
 
     14. ยายับยั้งเอนไซม์ไทโรซีน  ไคเนส  (Tyrosine  kinase  inhibitor)  
ยาในกลุ่มนี้จะฤทธิ์ยับยั้งโปรตีน  ที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์จนกระตุ้นกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์ให้เจริญผิดปกติ  จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง
 
 
 

โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078  

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้