การปฏิบัติตัวเมื่อรับการผ่าตัดมะเร็ง

วันที่ 24-02-2012 | อ่าน : 27757


การปฏิบัติตัวเมื่อรับการผ่าตัดมะเร็ง

 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดรักษามะเร็ง  :
 1)  มีความตั้งใจแน่วแน่และมั่นใจในแผนการรักษาที่จะได้รับ
 2)  ทำจิตใจให้สบาย  ปลอดโปร่ง
 3)  รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบทั้ง 5 หมู่
 4)  งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่
 5)  ควรดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้วต่อวัน ยกเว้นในรายที่มีภาวะไตเสื่อม และภาวะน้ำท่วมปอด
 6)  ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  อย่างน้อยวันละ 15 นาที
 7)  รักษาความสะอาดทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า
 8)  ควรพยายามพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ  รวมทั้งหาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จในการรักษาแล้ว

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดรักษา  :
หลังผ่าตัดใหม่ๆ  ผู้ป่วยจะต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล  ดังนั้นการดูแลในระยะนี้จึงมักเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์  โดยมีข้อแนะนำให้พึงควรปฏิบัติดังนี้คือ
 1)  ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด
 2)  การทำความสะอาดแผลผ่าตัดในระยะนี้  จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์และพยาบาล  โดยจะต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาดปราศจากเชื้อให้มากที่สุด  ส่วนในรายละเอียดของเทคนิควิธีการทำแผลก็จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งที่ทำการผ่าตัด  ซึ่งปกติบุคลากรทีมการแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำวิธีการดูแลแผลก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน
 3)  แจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบทันทีเมื่อรู้สึกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกาย  เช่น  รู้สึกเหนื่อย  แน่นหน้าอก  หายใจไม่ออกมากขึ้น  มีเลือดไหลออกไม่หยุดจากแผล  เป็นต้น
 4)  การออกกำลังจะช่วยให้กลับสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น  สำหรับการผ่าตัดทั่วๆ ไป  พบว่าหลังผ่าตัดประมาณวันที่ 3–4 แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยเดินรอบเตียงได้ และให้ไปห้องน้ำเอง ประมาณวันที่ 7–10 หลังผ่าตัด ผู้่ป่วยจะได้รับการฝึกหัดเดินขึ้นบันได 1 ชั้น

อาการที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัดและแก้ไข :
 - อาการเจ็บแผลผ่าตัด   เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ  ซึ่งอาจเป็นอยู่ได้หลายสัปดาห์หลังการผ่าตัด  และจะค่อยทุเลาลงไปเอง  แต่ถ้ามีการเจ็บปวดอยู่ก็ควรรับประทานยาลดปวดตามที่แพทย์สั่งไว้ให้  ฝึกหายใจให้ถูกวิธีเพื่อลดอาการปวดแผลได้
 - อาการเบื่ออาหาร  อ่อนเพลีย  เวียนศีรษะ  เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติหลังผ่าตัดระยะแรก อาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายในเวลาต่อมา  เพียงต้องไม่ลืมว่าร่างกายผู้ป่วยต้องการสารอาหารเพื่อฟื้นฟูร่างกายในช่วงนี้  ดังนั้นจึงควรต้องรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ดังนี้
     • เน้นเป็นอาหารอ่อนในระยะแรกๆ จนถึงอาหารปกติธรรมดา
     • ให้เคี้ยวอย่างละเอียดและช้าๆ รับประทานในปริมาณที่น้อยในแต่ละครั้ง  แต่มากมื้อขึ้น
     • อาจจะรับประทานเฉพาะอาหารที่ชอบ แล้วรอจนกว่าความอยากอาหารจะกลับมาเป็นปกติจึงเริ่มรับประทานอาหารตามคำแนะนำของนักโภชนาการ
-  อาการมีไข้ต่ำๆ  หลังผ่าตัดในระยะแรกๆ อาจมีไข้ได้  ถือว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ และไข้จะหายไปเองภายใน 2 – 3 วัน เมื่อผู้ป่วยไปพักฟื้นที่บ้าน ถ้ามีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนานเกิน 2 วัน ให้มาพบแพทย์โดยไม่ต้องรอวันนัด
   -  อารมณ์แปรปรวน  ความวิตกกังวล  การนอนไม่หลับ  อาจเกิดขึ้นได้แต่ะจะน้อยลงไปเมื่อผู้ป่วยได้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน  โดยบุคคลใกล้ชิดควรคอยพูดให้กำลังใจ  และยอมรับพฤติกรรมการตอบสนองของผู้ป่วย พร้อมกับพยายามช่วยสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้แสดงออกในทางที่สร้างสรรค์  ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยป้องกันความรู้สึกสิ้นหวัง  สูญสิ้นพลัง  ช่วยให้ผู้ป่วยได้เผชิญกับโรคได้ดีขึ้น

อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ก่อนนัด  ได้แก่  แผลอักเสบ  บวมแดง  หรือแผลเป็นหนอง/น้ำเหลืองไหลออกจากแผล  มีอาการเหนื่อยง่าย  แน่นหน้าอก  หายใจไม่สะดวก  อาการบวมตามร่างกาย  เป็นต้น  ควรมาพบแพทย์ก่อนโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด

การพักฟื้นที่บ้านหลังการผ่าตัดรักษา  :

 1)  การดูแลแผลผ่าตัดทั่วๆ ไป 
การดูแลแผลถือเป็นเรื่องสำคัญส่งผลถึงการหายของแผล  คำแนะนำสำหรับการดูแลแผลขึ้นอยู่กับชนิดและตำแหน่งที่ทำการผ่าตัด  ซึ่งหลักการดูแลทำความสะอาดแผลในรายละเอียดจะแตกต่างกันไป
     • ควรได้รับคำแนะนำจากศัลยแพทย์และพยาบาลในการดูแลแผล
     • การดูแลแผลผ่าตัดทั่วๆ ไป  หลังผ่าตัดประมาณ 5 – 7 วัน  ยังต้องระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ  ไม่ควรใช้แป้งหรือยาใดๆ โรยแผล  เมื่อแผลหายดีแล้วตอนอาบน้ำสามารถใช้สบู่ลูบเบาๆ บริเวณแผลได้  และใช้ผ้าเช็ดตัวนุ่มๆ ซับเบาๆ ให้แห้งได้
     • ควรรีบมาพบแพทย์เมื่อแผลมีการติดเชื้อ เช่น  อาการอักเสบ  ปวด  บวมแดง  และมีน้ำเหลืองไหลออกจากแผล

2)  กิจกรรมและการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วย  ซึ่งจะช่วยให้กลับสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น
     • การออกกำลังไม่มีขีดจำกัด ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าจะสามารถทำได้เท่าใด  เพียงแต่ให้พักเมื่อรู้สึกว่าเริ่มเหนื่อย
     • เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว  สามารถออกกำลังกายได้ตามสมควร
     • การเดินออกกำลังเป็นวิธีที่ดีที่สุดหลังผ่าตัด  โดยเริ่มต้นเดินจากที่ราบก่อนท โำดยทำทุกวัน วันละ 1 – 2  ครั้งในตอนเช้าและตอนเย็น  แล้วค่อยเพิ่มระยะทางให้มากขึ้นเรื่อยๆ
     • ทำกิจกรรมเบาๆ ได้  ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนักในระยะ 4 – 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด
     • ถ้ารู้สึกเหนื่อย เวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม ให้หยุดและพักทันที

3)  การพักผ่อน  นอนหลับ  และการมีเพศสัมพันธ์
     • ควรหาเวลานอนพักบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังออกจากโรงพยาบาลใหม่ๆ
     • ควรทำการวางแผนในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการอ่อนเพลีย
     • เมื่อท่านรู้สึกว่าเหนื่อย  ให้หยุดกิจกรรมนั้นและพักทันที
     • ควรพยายามหาเวลาพักผ่อนในตอนกลางวัน  วันละอย่างน้อย 20 นาที  ไม่จำเป็นต้องนอนให้หลับ  เพียงเป็นการนอนพักผ่อนก็ได้
     • ในแต่ละคืน พยายามนอนให้ได้ประมาณ 8- 10 ชม.
     • ควรหาโอกาสผ่อนคลายความเครียด  เช่น  อ่านหนังสือ  ฟังเพลง  ปลูกต้นไม้  เล่นเกมส์  ทำสมาธิ  ทำการฝีมือหรืองานอดิเรกอื่นๆ รวมถึงการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ที่มีอากาศปลอดโปร่ง  โล่ง  ไม่แออัด
     •  การมีเพศสัมพันธ์  อาจถือเอาว่าสามารถเริ่มได้  เมื่อรู้สึกพร้อมและต้องการ  หลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนแผลผ่าตัด

4)  การรับประทานอาหาร
ความอยากอาหารลดลงได้หลังการผ่าตัดใหม่ๆ ไม่เป็นความผิดปกติแต่อย่างใด  เพียงแต่ไม่ลืมว่าร่างกายของท่านต้องการสารอาหารเพื่อฟื้นฟูร่างกายในช่วงนี้ด้วย  ดังนั้นจึงต้องรับประทานอาหารที่สารอาหารครบถ้วน  รวมทั้งควรติดตามดูน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลผู้ป่วยสำหรับผู้ใกล้ชิด
     การเตรียมใจก่อนผ่าตัด เป็นเหตุผลสำคัญที่กระทบต่อการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด  ผู้ป่วยอาจจะหวาดกลัวต่อการผ่าตัดเอาอวัยวะออก  ความเจ็บปวด  ตลอดจนความหวาดกลัวต่อสิ่งที่ไม่อาจจะทราบได้ในอนาคต  คำชี้แจงอธิบายของบุคลากรในโรงพยาบาลอาจจะไม่สามารถขจัดความหวาดหวั่นของผู้ป่วยได้หมด  ญาติพี่น้องหรือผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยร่วมกับทีมทางการแพทย์ด้วย  เพราะกำลังใจจากญาติพี่น้องหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย  เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยมะเร็งทุกระยะการรักษา  เพื่อให้ผู้ป่วยค่อยๆ ปรับตัวและยอมรับในภาวะปัจจุบัน  รวมทั้งให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และประเมินเงื่อนไขการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคตใต้สภาวะที่ไม่มีทางเลือก


รับข้อมูลเพิ่มเติมฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078  
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้มะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้