วันที่ 24-02-2012 | อ่าน : 18911
การผ่าตัดรักษามะเร็ง
การผ่าตัดรักษา มักทำในผู้ป่วยที่โรคมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่ตำแหน่งเริ่มต้น (มะเร็งระยะที่ 1) หรือในบางกรณีเพียงกระจายไปเนื้อเยื่อข้างเคียงหรือลุกลามทะลุผ่านอวัยวะที่เป็นโพรง (ระยะที่ 2) เท่านั้น ฉะนั้นจะเห็นว่ามักมีการรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา ซึ่งมีความสำคัญและเสริมให้ผลการผ่าตัดได้ผลดียิ่งขึ้น
การผ่าตัดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป ที่ต้องมีการเตรียมผู้ป่วยให้ดีแก้ไขภาวะผิดปกติต่างๆ ก่อนการผ่าตัด เพื่อให้มีโอกาสเกิดปัญหาแทรกซ้อนน้อยที่สุด และเนื่องจากการผ่าตัดในบางกรณีนั้นเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่กินบริเวณค่อนข้างกว้าง ใช้เวลานานและยุ่งยากโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีความเสี่ยงต่อชีวิตค่อนข้างมาก
วัตถุประสงค์ของการผ่าตัด :
1. เพื่อการรักษาให้หายขาด การผ่าตัดโรคมะเร็งเพื่อหวังผลให้หายนั้น โอกาสดีที่สุด คือ การผ่าตัดครั้งแรกต้องถูกต้องและเพียงพอ สามารถเอาส่วนของมะเร็งออกได้หมด และไม่มีเซลล์มะเร็งตกหล่นไว้ในบริเวณผ่าตัดนั้น
2. เพื่อการรักษาประคับประคองให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่มีคุณภาพที่ดีและนานที่สุด คือ เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคมะเร็ง ใช้ในกรณีมะเร็งนั้นมีการแพร่กระจายไปมากกว่าที่จะรักษาให้หายได้แล้วด้วยการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดเพื่อลดอาการปวด ควบคุมเลือดออกจากมะเร็ง แก้ปัญหาการอุดตันของลำไส้หรือการติดเชื้อ เป็นต้น เพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตอยู่โดยมีคุณภาพที่ดีและไม่ทรมานจากปัญหาแทรกซ้อนนั้น
ข้อควรพิจารณาในการผ่าตัด :
1) การดำเนินของโรค
2) การแพร่กระจายของโรค โดยพิจารณาถึงตำแหน่งและขนาดของเนื้อร้าย หลังผ่าตัดจะช่วยให้อัตราการทุเลาเบาลงของโรคมีมากน้อยเพียงใด
3) ความเสี่ยงของการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับ
- ภาวะสุขภาพของผู้ป่วยเดิม เช่น มีภาวะโภชนาการบกพร่อง ภูมิคุ้มกันต่ำ ภาวะโลหิตจางหรือไม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ควรจะต้องแก้ไขให้ดีขึ้นหรือปกติก่อนผ่าตัด
- โรคประจำตัวที่มีอยู่ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ฯลฯ
- ชนิดและเทคนิคของการผ่าตัด ซึ่งขึ้นกับความสามารถและประสบการณ์ของศัลยแพทย์และวิสัญญีแพทย์
ชนิดและวิธีการผ่าตัด :
การผ่าตัดมะเร็งนั้น ศัลยแพทย์จะหลีกเลี่ยงไม่ไปแตะต้องตัวมะเร็งมากนัก บริเวณที่กรีดหรือผ่าตัดจะไม่ผ่านเข้าไปในเนื้อหรือก้อนมะเร็ง เพราะจะทำให้เซลล์มะเร็งมีโอกาสตกหล่นอยู่ บริเวณผ่าตัดจะอยู่รอบนอกห่างจากตัวมะเร็ง ซึ่งระยะจะมากน้อยจากขอบแค่ไหนขึ้นกับชนิดและตำแหน่งของโรค และอาจผ่าตัดรวมบริเวณของเนื้อเยื่อข้างเคียงหรืออวัยวะที่เป็นโพรง
ชนิดของการผ่าตัดมะเร็งอาจจะแบ่งให้เห็นได้ชัดเจนได้ดังนี้
1) การผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนของก้อนมะเร็งออก ( Local resection ) มักใช้สำหรับรายที่โรคมะเร็งยังอยู่เฉพาะในบริเวณที่กำเนิด หรือมีการกระจายของเซลล์มะเร็งเข้าไปยังผิวหนังส่วนข้างเคียงเพียงไม่กี่มิลลิเมตรจากขอบจุดเริ่มต้น จึงไม่ต้องตัดห่างมาก
2) การผ่าตัดบริเวณกว้างโดยตัดเอาส่วนของมะเร็งที่มีการกระจายไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงออกด้วย ( Radical local resection ) มักใช้สำหรับรายที่มะเร็งมีลักษณะที่กระจายแทรกไปในเนื้อเยื่อข้างเคียงมากจากจุดเริ่มต้นเมื่อตัดจึงมักจะต้องเอาออกกว้าง ถ้าเป็นที่กล้ามเนื้อก็ต้องเอากล้ามเนื้อนั้นออกทั้งมัดจากตำแหน่งจุดเริ่มต้นถึงจุดกระจาย แต่ในการทำผ่าตัดเช่นนี้จะต้องคำนึงถึงความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
3) การผ่าตัดบริเวณกว้างโดยตัดเอาส่วนของมะเร็งที่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วย ( Radical resection with en bloc excision of lymphatics ) ใช้สำหรับรายที่โรคมะเร็งที่จุดเริ่มต้นอยู่ใกล้กับต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงของส่วนนั้น เนื่องจากมะเร็งอาจมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองแล้ว โดยที่บอกไม่ได้จากการตรวจคลำ ซึ่งจะมีผลช่วยให้การผ่าตัดรักษาดีขึ้นหรือช่วยพยากรณ์โรคต่อไปข้างหน้า
4) การผ่าตัดอย่างครอบคลุมกว้างขวาง (Extensive radical surgical procedures) กระทำในบางกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีการกระจายเข้าไปในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง (Local invasion) โดยที่ยังไม่มีการกระจายไปที่ไกลๆ (Distant metastasis) ก็มีโอกาสหายได้ เช่น การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่เข้าไปในอวัยวะข้างเคียง อาจจะต้องตัดอวัยวะนั้นๆ ในช่องเชิงกรานไปด้วย เช่น มดลูก รังไข่ เป็นต้น
ข้อจำกัดของการทำผ่าตัด :
1) การทำผ่าตัดที่ไม่สามารถตัดเนื้อร้ายออกได้หมดเนื่องจากก้อนอยู่ติดกับอวัยวะสำคัญๆ
2) ไม่รู้ขอบเขตของเซลล์มะเร็งที่แน่นอน (Microextension) หากตัดกว้างผู้ป่วยจะสูญเสียอวัยวะมากเกินไป
3) ไม่สามารถตัดต่อมน้ำเหลืองออกได้หมด เช่น บริเวณคอ มีต่อมน้ำเหลืองถึงประมาณ 150 ต่อม หรือจากรอบแยกของเส้นเลือดแดงใหญ่ (Aorta) ถึงเส้นเลือดของไต (Renal pedicle) มีต่อมน้ำเหลือง 50–75 ต่อม เป็นต้น
4) การผ่าตัดไม่ได้สามารถลดการแพร่กระจายของโรคทางกระแสเลือดหรือน้ำเหลือง ตลอดจนช่องหรือโพรงต่างๆ
5) ในกรณีเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากเกินไป จึงจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาเสียก่อน เพื่อให้เนื้อร้ายหดตัวมีขนาดเล็กลงง่ายต่อการผ่าตัดออก
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้