วันที่ 03-02-2012 | อ่าน : 16882
การส่องกล้องทางทวารหนัก
(Colonoscopy)
Colonoscopy เป็นการตรวจดูลักษณะภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด โดยการใช้อุปกรณ์ใส่เข้าไปในทวารหนักของผู้ป่วย ซึ่งตัวกล้องนั้นมีลักษณะเป็นแท่งกลมที่มีความยืดหยุ่น สามารถงอได้ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-13 เซนติเมตร และยาวประมาณ 150-180 เซนติเมตร ในตัวกล้องจะมีช่องสำหรับดูดน้ำ และช่องสำหรับใส่อุปกรณ์ในการรักษาและตัดชิ้นเนื้อ
การส่องกล้องทางทวารหนักสามารถใช้เพื่อหาสาเหตุของอาการทางลำไส้ใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดท้อง อาการลำไส้ใหญ่ทำงานผิดไปจากเดิม (ท้องผูกสลับท้องเสีย, อุจจาระมีขาดเล็กลงจากเดิม) หรืออาการถ่ายเป็นเลือด ถ่ายดำ ถ่ายเป็นมูก ซึ่งเมื่อส่องกล้องแล้วสามารถบอกได้ว่า สาเหตุของอาการดังกล่าวอาจเกิดจากการอักเสบของลำไส้ใหญ่ หรือเกิดจากเนื้องอก หรือเนื้อร้ายได้
การเตรียมการตรวจ
• การส่องกล้องทางทวารหนักเป็นการตรวจในลักษณะผู้ป่วยนอก ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
• ในการส่องกล้องนั้นจะใช้ยาชาเฉพาะที่ทา อาจร่วมกับยานอนหลับ(ในบางราย) หากมีประวัติแพ้ยาควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการส่องกล้องด้วย
• หากมีโรคประจำตัว โดยที่มียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ เช่น ความดันโลหิตสูง ให้รับประทานยานั้นตามปกติ จนกว่าแพทย์จะสั่งงด
การเตรียมลำไส้ใหญ่เพื่อส่องกล้อง
• ควรงดการรับประทานอาหารหนัก 2-3 วัน ก่อนการส่องกล้อง โดยสามารถรับประทานอาหารอ่อน หรืออาหารเหลวได้หนึ่งวันก่อนการส่องกล้อง และควรดื่มน้ำเปล่ามากๆ
• ทางแพทย์ผู้ส่องกล้องจะมียาถ่ายให้ผู้ป่วยมารับประทาน โดยจะต้องรับประทานตามที่แพทย์สั่ง หลังรับประทานไปจะมีการถ่ายอุจจาระหลายครั้ง ไม่ต้องตกใจ แต่หากมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ เป็นลมหมดสติ ควรรีบมาพบแพทย์โดยทันที
ขั้นตอนการส่องกล้อง
1) เมื่อมาถึงห้องส่องกล้อง ท่านจะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า โดยสวมชุดที่ทางโรงพยาบาลจัดให้ ในบางรายอาจมีการเปิดหลอดเลือดดำที่แขน เพื่อให้น้ำเกลือ หรือยานอนหลับก่อนการส่องกล้อง
2) หลังจากนั้นท่านจะถูกจัดท่าให้นอนตะแคง งอเข่าชิดลำตัว แพทย์ผู้ส่องกล้องจะทายาชา และสารหล่อลื่นที่ทวารหนัก แล้วจะใส่กล้องเข้าไป
3) เมื่อกล้องอยู่ในลำไส้ใหญ่ จะมีการสูบลมอัดเข้าไปเพื่อให้ลำไส้ใหญ่ขยายตัว ให้แพทย์ผู้ส่องดูได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัด หรือปวดท้องอยากถ่ายได้ แต่อันที่จริงแล้วขณะนั้นในลำไส้ไม่มีอุจจาระเหลืออยู่เลย และในขณะส่องกล้องอาจเกิดการผายลมได้ ไม่ต้องอายหรือตกใจเพราะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
4) ในระหว่างการส่องกล้องผู้ป่วยอาจถูกขอให้มีการขยับตัว หรือเปลี่ยนท่า เพื่อช่วยให้แพทย์ส่องกล้องเข้าไปในตำแหน่งต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น
5) ในบางรายที่มีความจำเป็น แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อ หรือติ่งเนื้องอก เพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป โดยจะใส่อุปกรณ์เข้าไปในช่องใส่ของตัวกล้อง ซึ่งจะไม่เจ็บ
6) การส่องกล้องนี้จะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที และไม่เจ็บ แต่อาจจะอึดอัดบ้าง หลังจากส่องเสร็จพักประมาณครึ่งชั่วโมงก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ในผู้ป่วยที่ตัดติ่งเนื้องอกในลำไส้ อาจต้องพักนานกว่าปกติ แล้วจึงกลับบ้านได้
การปฏิบัติตัวเมื่อกลับถึงบ้าน
ทำตัวตามสบาย ควรมีผู้ดูแลใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากส่องกล้อง ส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหาใดๆ แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ให้รับมาพบแพทย์ทันที
1. ถ่ายออกมาเป็นเลือดสด ๆ
2. ปวดท้องมาก โดยปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และมักจะปวดมากกว่าก่อนการส่องกล้อง
3. มีไข้สูง
รับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้