มะเร็งและเนื้องอกในสมอง

วันที่ 31-08-2011 | อ่าน : 14651



          ในระบบประสาทส่วนกลางนั้นเมื่อมีเนื้องอกชนิดใดเกิดขึ้นมา  ก็สามารถก่อให้เกิดอาการได้  เนื่องจากระบบประสาทส่วนกลางมีกระดูกล้อมอยู่โดยรอบ  เนื้อระบบประสาทที่ถูกกดไม่สามารถขยายไปที่อื่นได้  แม้กระทั่งเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งก็สามารถที่จะก่อให้เกิดอาการต่างๆ ที่อาจถึงแก่ความตายได้ 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรค
     1. ลักษณะทางพันธุกรรม  ในผู้ป่วยบางรายสามารถพบโครโมโซมที่ผิดปกติได้
     2. ในผู้ป่วยบางคนสามารถพบเนื้องอกระบบประสาทส่วนกลางร่วมกับกลุ่มอาการต่างๆ ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้มากขึ้น  เช่น Tuberous  sclerosis, Von  Recklinghausen’s  disease, Von  Hippel – Lindau’s  disease, Basal  cell  nevus  syndrome
     3. สารเคมีบางตัว  เช่น  vinyl  chloride, hydrocarbon
     4. เชื้อไวรัสบางตัว
     5. ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง  เช่น  ในผู้ป่วยที่ต้องได้รับยากดระบบภูมิคุ้มกันเนื่องจากมีการเปลี่ยนไตหรือในผู้ป่วย AIDS จะพบ lymphoma ในสมองมากขึ้น
     6. รังสี

ลักษณะทางคลินิก
       มีอาการที่เกิดเนื่องจากความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น  ได้แก่  ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง เมื่อใช้เครื่องมือส่องดูประสาทจอตา  จะพบขั้วประสาทที่จอรับภาพของตาบวม (papilledema) กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตามตำแหน่งของเนื้องอก  ที่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพต่อเนื้อระบบประสาทส่วนนั้น  กลุ่มอาการจะเกิดจากการสูญเสียหน้าที่ของระบบประสาทส่วนนั้น

การวินิจฉัยโรค
     - โดยการซักประวัติและตรวจร่างกาย
     - การตรวจขั้วประสาทจอตา  และ visual  field
     - การเจาะเลือดตรวจค่า CBC, LFT
     - การเอ็กซเรย์ปอด  เพื่อดูว่ามีหลักฐานของมะเร็งที่อยู่นอกระบบประสาทส่วนกลางเข้าไปสู่ระบบประสาทส่วนกลาง
     - ถ้าสงสัยเนื้องอกบริเวณ pineal  gland  ควรเจาะ tumor  marker  บางตัวไว้  ได้แก่  AFP, HCG
     - เอ็กซเรย์กะโหลกศีรษะ  อาจจะพบความผิดปกติ ดังนี้
             (1) เนื้องอกที่มี calcification
             (2) pineal  glanal  ที่มี  calcification  ถูกเบียดไปจากตำแหน่งที่อยู่ตรงกลาง

พยากรณ์ของโรค
     พยากรณ์ของโรคขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก  ดังต่อไปนี้คือ
     1. สถานะภาพทั่วๆ ไปของผู้ป่วย  ได้แก่
            • อายุ :  โดยทั่วๆ ไปผู้สูงอายุและเด็กที่มีอายุน้อยมากๆ ก็จะทนต่อการรักษาไม่ได้  และธรรมชาติของเนื้องอกที่เกิดในกลุ่มอายุนี้มักจะมีลักษณะที่รุนแรง
            • ระยะเวลาของอาการที่มีก่อนที่จะเริ่มรักษา
            • ลักษณะทั่วๆ ไปของผู้ป่วย ได้แก่ ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่  ช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่
     2. ปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวโรค  ได้แก่ จุลพยาธิวิทยา  ระดับของเนื้องอกและการตายของเซลล์  ระยะของโรค  บริเวณที่เกิดเนื้องอก
     3. ปัจจัยที่เกี่ยวกับการรักษา  หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ย่อมจะมีพยากรณ์ของโรคดีกว่าคนไข้ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

การรักษา
      ในการรักษาเนื้องอกระบบประสาทส่วนกลางนั้น  จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเสมอ  ทั้งในด้านการวินิจฉัยโรคตลอดจนถึงการรักษาที่ถูกต้อง โดยการรักษาแบ่งทั่วๆ ไปเป็นดังนี้

การใช้ยา
    โดยหลักทั่วๆ ไปแล้วการใช้ยาประเภท corticosteroid จะช่วยลดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะได้อย่างรวดเร็ว ในระหว่างที่รอผลจากการรักษาอื่น  และในผู้ป่วยที่มีอาการชักหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะชัก  เนื่องจากตำแหน่งของเนื้องอกอยู่ที่ผิวของสมองก็ต้องให้ยากันชักไว้ด้วย

การผ่าตัด
     เป็นการรักษาเริ่มต้นของเนื้องอกระบบประสาทส่วนกลางเกือบทั้งหมด แต่ทั้งนี้เอาเนื้องอกออกได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะการลุกล้ำเข้าไปในเนื้อสมองของเนื้องอกอันนั้น  ในบางตำแหน่งอาจจะทำได้เพียงแค่ตัดเอาชิ้นเนื้อเล็กๆ ออกมาเพื่อให้รู้พยาธิสภาพของเนื้องอกเท่านั้น 
     ปัจจุบันการผ่าตัดปลอดภัยขึ้นมาก อัตราการตายจากการผ่าตัดได้ลดลงเหลือต่ำกว่า  2–3%  เนื่องจากมีการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็วขึ้นโดยใช้ CT scan หรือ MRI  มีการใช้ corticosteroid ลดการบวมรอบเนื้องอกก่อนผ่าตัด  การให้ยาสลบแก่ผู้ป่วยที่ดีขึ้นตลอดจนถึงวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก

รังสีรักษา
     รังสีเป็นการรักษาที่สำคัญมากในเนื้องอกระบบประสาทส่วนกลาง สามารถทำให้หายขาดได้ในเนื้องอกบางชนิด หรือสามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตยืนยาวขึ้นได้อีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เคมีบำบัด
     เคมีบำบัดในเนื้องอกระบบประสาทส่วนกลางยังค่อนข้างจะมีบทบาทน้อยในปัจจุบัน  อาจใช้ได้สำหรับเนื้องอกที่เกิดขึ้นมาใหม่และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาหลายตัวร่วมกันระหว่าง อัตราการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดประมาณ 48 – 51% และช่วงเวลาการตอบสนองต่อยาประมาณ 3 – 12 เดือน นอกจากนี้อาจใช้เป็นการรักษาเสริมร่วมกับการผ่าตัดและการใช้รังสี ซึ่งสามารถเพิ่มอัตราการมีชีวิตรอดได้ในเนื้องอกบางชนิด


รับข้อมูลมะเร็งและเนื้องอกในสมองและการดูแลอย่างละเอียดได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้