มะเร็งกระดูก

วันที่ 01-07-2011 | อ่าน : 21053


มะเร็งกระดูก
 

             
 

มะเร็งกระดูก เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แบ่งแบบง่ายๆ ได้เป็น 2 ชนิด คือ
       1. มะเร็งที่เกิดที่อวัยวะอื่นแพร่กระจายมาที่กระดูก  พบได้บ่อยกว่าชนิดที่ 2  มักพบในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวดในตำแหน่งของกระดูกนั้นๆ หรือมีการเกิดกระดูกหักทั้งๆ ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง การรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมุ่งเน้นในการรักษามะเร็งของอวัยวะที่เป็นต้นกำเนิด รวมทั้งรักษาและป้องกันกระดูกที่หัก
       2. มะเร็งที่เกิดที่กระดูกเอง พบได้น้อยกว่า ผู้ป่วย มักให้ประวัติสัมพันธ์กับอุบัติเหตูหรือได้รับบาดเจ็บ ณ ตำแหน่งนั้นๆ มาก่อน ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ กระดูกต้นขาที่เหนือเข่า กระดูกหน้าแข้งที่อยู่ใต้เข่า กระดูกต้นแขนที่ติดกับข้อไหล่ฯ พบได้ในผู้ป่วยอายุระหว่าง 10 ถึง 40 ปี จะสังเกตเห็นว่ามะเร็งของกระดูกเองนั้น สามารถเกิดในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่ามะเร็งของอวัยวะอื่น การรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมุ่งเน้นในการกำจัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกาย ป้องกันและกำจัดมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น รวมทั้งซ่อมสร้างกระดูกของอวัยวะนั้น หากสามารถทำได้

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการวินิจฉัย การรักษา และการดูแลตนเองหลังได้รับการรักษา เฉพาะมะเร็งที่เกิดที่กระดูกเอง (ชนิดที่ 2)

การวินิจฉัย 
       แพทย์จะซักประวัติ โดยพบว่าผู้ป่วยมักมีประวัติมีก้อนที่โตเร็ว โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนหลัง อาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ หากมีอาการปวดมากให้สงสัยว่าอาจมีกระดูกหักร่วมด้วย การตรวจร่างกายจะพบตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ กระดูกต้นขาที่เหนือเข่า กระดูกหน้าแข้งที่อยู่ใต้เข่า กระดูกต้นแขนที่ติดกับข้อไหล่ฯ และลักษณะของก้อนจะติดอยู่กับกระดูก ไม่สามารถกลิ้งหรือขยับไปมาได้ ขอบเขตของก้อนมักไม่ชัดเจน นอกจากนี้แล้ว ภาพถ่ายเอกซเรย์ ภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และภาพถ่ายคลื่นแม่เหล็ก จะให้รายละเอียดและช่วยในการวินิจฉัยอย่างมาก และบ่อยครั้งที่ต้องมีการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนนั้นส่งตรวจทางพยาธิ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน

การรักษา
       ดังที่กล่าวแล้วว่าจะมุ่งเน้นในการกำจัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกาย ป้องกันและกำจัดมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น รวมทั้งซ่อมสร้างกระดูกของอวัยวะนั้น หากสามารถทำได้ ในการกำจัดก้อนมะเร็งนั้น มักจะทำด้วยการผ่าตัด อาจเป็นการผ่าตัดเอาเฉพาะกระดูกส่วนนั้นออก หรือเป็นการตัดแขนหรือขานั้นออกเลยก็ได้หากมะเร็งนั้นเป็นระยะท้ายๆ ในการผ่าตัดเอาเฉพาะกระดูกส่วนนั้นออก จะต้องมีการนำกระดูกจากตำแหน่งอื่น หรืออาจเป็นกระดูกของคนอื่นมาแทนที่กระดูกส่วนที่ตัดออกไป
       หลังการผ่าตัด มักให้การรักษาเสริมด้วยการฉายรังสีรักษาและการให้เคมีบำบัด ซึ่งเป็นการลดโอกาสเกิดมะเร็งกระดูกซ้ำและลดโอกาสการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ส่วนในรายที่ได้รับการตัดแขนหรือขาออกไปนั้น หลังจากระยะพักฟื้นประมาณ 3 เดือน จะมีการฝึกใช้แขนขาเทียมต่อไป
       หลังจากผ่านขั้นตอนการผ่าตัด การให้รังสีรักษา และการให้เคมีบำบัดแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูการใช้งานอวัยวะนั้นๆ เพื่อให้ใช้งานได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เป็นต้นว่า การหัดเดิน การหัดใช้แขนเทียม ขาเทียม การทำกายภาพบำบัด การทำกิจกรรมบำบัด เป็นต้น การมาตรวจเป็นระยะตามแพทย์นัดมีความสำคัญมาก นอกจากแพทย์จะตรวจดูว่ามีการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งหรือไม่แล้ว ยังเป็นการตรวจการหายและสภาพการใช้งานของแขนหรือขาที่ไดรับการซ่อมสร้างไป โดยทั่วไปแล้วการตรวจติดตามอาการนี้จะทำต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาตรวจตามนัดทุกครั้งอย่างเคร่งครัด

การปฏิบัติตนหลังการรักษามะเร็งกระดูก
       การปฏิบัติเพื่อการดูแลตนเองนั้น ในเรื่องอาหารการกิน แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องได้รับอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ยาเสพติดต่างๆ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย อบอุ่น สงบและเป็นสุข ซึ่งจะต้องได้รับจากคนในครอบครัว รวมทั้งการทำจิตใจให้เข้มแข็ง การสร้างแรงจูงใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป รวมถึงความเชื่อมั่นว่าโรคที่เป็นอยู่นั้นสามารถรักษาให้หายได้ ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

รับข้อมูลมะเร็งกระดูกและการดูแลอย่างละเอียด คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078-9

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้