วันที่ 29-06-2011 | อ่าน : 39356
มะเร็งโพรงมดลูก
อวัยวะเพศของผู้หญิงประกอบด้วย ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รังไข่ และท่อรังไข่ ทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์และให้กำเนิดทารก กระเพาะปัสสาวะอยู่ข้างหน้าของมดลูกและมีท่อปัสสาวะมาเปิดเหนือช่องคลอด ด้านหลังของมดลูกเป็นกระดูกก้นกบเว้นด้านข้างขวาเป็นลำไส้ใหญ่ขวา ส่วนด้านซ้ายจะเป็นลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้ตรง
มดลูกทำหน้าที่เป็นเกาะของรกและเป็นที่อยู่ของทารกในครรภ์ มดลูกอยู่ในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง โดยมีผนังหนาขึ้นตามรอบเดือน และมีขนาดโตขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ ผนังมดลูกเป็นกล้ามเนื้อและชั้นในเป็นเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งโพรงมดลูกเกิดจากเซลล์เยื่อมดลูกส่วนชั้นกล้ามเนื้อของมดลูก ซึ่งสามารถกลายเป็นเนื้องอกได้ทั้งเนื้องอกร้ายแรงและไม่ร้ายแรง ที่พบบ่อยเรียกว่าเนื้องอกมายโอมายูเทอไร (myoma uteri) หรือมะเร็งมดลูกที่เกิดจากกล้ามเนื้อ (sarcoma) ในที่นี้กล่าวถึงเฉพาะมะเร็งที่เกิดภายในโพรงมดลูกซึ่งเกิดจากเซลล์บุโพรงมดลูกเรียกว่ามะเร็งโพรงมดลูก (endometrial cancer)
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มะเร็งโพรงมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ส่วนในประเทศไทยมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบมากที่สุด คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งโพรงมดลูกพบบ่อยในผู้หญิงอายุ 60-70 ปี และร้อยละ 80 ของผู้ป่วยพบในวัยหมดประจำเดือน พบว่าผู้ป่วยมะเร็งโพรงมดลูกที่อายุน้อยกว่า 40 ปี มีน้อยกว่าร้อยละ 5 เท่านั้น
พยาธิวิทยา
ร้อยละ 95 ของ มะเร็งโพรงมดลูกเกิดจากเซลล์บุโพรงมดลูก และชนิดที่พบมากที่สุดคือ เกิดจากเซลล์ของต่อมที่โพรงมดลูก (endometrioid adenocarcinoma) ส่วนพยาธิสภาพแบบอื่น เช่น เซลล์ใส (clear cell) เซลล์ชนิดสะแคว์มัส เซลล์ชนิดแป๊บปิลารีซีรัส พบน้อยว่าร้อยละ 10
การวินิจฉัยโรคมะเร็งโพรงมดลูก
การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการตรวจทางรังสีวินิจฉัยหรืออัลตราซาวน์อาจพบว่ามดลูกโต อาจตรวจโดยตรวจอัลตราซาวด์ในช่องคลอดตรวจความหนาของผนังโพรงมดลูก แต่การตรวจที่แน่นอนต้องตัดชิ้นเนื้อมะเร็งมาตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งทำได้หลายวิธี ได้แก่ การขูดมดลูกตรวจ โดยการตรวจแป๊บสเมียร์ให้ผลการตรวจไม่ดีเท่าการขูดมดลูกตรวจ
การแบ่งระยะของโรค
ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่ที่ตัวมดลูก พบร้อยละ 70-95 ของผู้ป่วย มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ร้อยละ 85
ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปถึงปากมดลูก แต่ยังไม่ลุกลามออกไปนอกตัวมดลูก พบร้อยละ 11 ของผู้ป่วย มีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี ร้อยละ 60
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามออกไปนอกมดลูกแต่ยังอยู่ในอุ้งเชิงกราน พบร้อยละ 11 ของผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี ร้อยละ 30
ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามหรือแพร่กระจายออกไปนอกอุ้งเชิงกราน พบร้อยละ 3 ของผู้ป่วย และมีอัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี เหลือเพียงร้อยละ 10
การรักษา
• การรักษามะเร็งโพรงมดลูกที่รอยโรคยังเป็นเฉพาะที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด
• ระยะที่ 2 รักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับฉายแสงรังสีรักษา หรืออาจรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว
• ระยะที่ 3 ต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นราย ๆ ไป ต้องใช้การรักษาแบบผสมผสาน ของการผ่าตัด และรังสีรักษา
• ระยะที่ 4 ควรรักษาด้วยการรักษาเฉพาะที่ เช่น ผ่าตัด ฉายแสง และรักษาด้วยยาฮอร์โมนบำบัด ถ้าไม่ตอบสนองแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยยาเคมีบำบัด
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งโพรงมดลูก
โพรงมดลูกมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลายประการ ดังนี้
1. ฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนเพศหญิงมี 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (ESTROGEN) หรือ โปรเจสเตอโรน (PROGESTERONE) ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งโพรงมดลูก ถ้าได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนโดยไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งโพรงมดลูกได้สูงถึง 4-8 เท่า ยารักษาโรคมะเร็งเต้านมชื่อทาม๊อกซิเฟน (TAMOXIFEN) ออกฤทธิ์ทั้งต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน (ESTROGEN ANTAGONIST) ซึ่งเป็นฤทธิ์รักษาโรคมะเร็งเต้านม แต่กลับออกฤทธิ์เสริมฤทธิ์ฮอร์โมนเอสโตรเจน (ESTROGEN AGONISH) ที่เนื้อเยื่อมดลูก และทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของดีเอนเอได้ ส่งผลให้ผู้ที่ใช้ยาทาม๊อกซิเฟนมีความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งมดลูกได้ ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาด้วยยาทาม๊อกซิเฟนมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูกได้ จึงควรตรวจภายในปีละครั้งด้วย
2. ภาวะที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น
2.1 โรคถุงน้ำรังไข่ (Polycystic ovarian disease)
2.2 การมีประจำเดือนโดยไม่มีไข่ตก
2.3 ความอ้วน เซลล์ไขมันที่พบมากขึ้นในคนอ้วนจะมีเอ็นไซม์แอมาเตส ซึ่งจะเปลี่ยนฮอร์โมนแอนโดรสตีนไดโอน ให้กลายเป็นโอร์โมนเอสโตรเจน กระตุ้นการเจริญเติบโตของมดลูกและมะเร็งโพรงมดลูกในที่สุด
2.4 เนื้องอกบางชนิดที่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น เนื้อของรังไข่ (granulosa cell tumor)
2.5 ตับเสื่อม ฮอร์โมนเพศหญิงจะถูกทำลายที่ตับ ถ้าตับเสื่อมจะมีฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนตกค้างในร่างกายมากขึ้น ดังนั้น อาจพบว่าผู้ป่วยที่ตับแข็งหรือตับเสื่อม มีหน้าอกโตขึ้นคล้ายหน้าอกของผู้หญิง ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจน
3. ภาวะอื่นๆ ที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งโพรงมดลูก
3.1 เป็นหมัน ไม่มีบุตร ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
3.2 โรคเบาหวาน
3.3 ความดันโลหิตสูง
3.4 ประวัติโรคมะเร็งหลายชนิดในครอบครัว
3.5 ผู้ป่วยที่มีประวัติมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการและอาการแสดงของมะเร็งโพรงมดลูก
• การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด พบถึงร้อยละ 97 ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โดยถ้ามีเลือดออกจากช่องคลอดหนึ่งปีหลังจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ให้สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งโพรงมดลูกได้ ในผู้หญิงวัยทองที่หมดประจำเดือนแล้ว และกำลังรักษาด้วยฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของเลือดออกทางช่องคลอดได้
• มีประจำเดือนผิดปกติ เช่น มีประจำเดือนนานกว่า 1 สัปดาห์ ประจำเดือนมากผิดปกติ หรือมีเลือดประจำเดือนออกบ่อยผิดปกติ
• ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ แต่ตรวจภายในและการตรวจแป๊บสะเมียร์ (PAP SMEAR) และพบว่าเซลล์ผิดปกติจากโพรงมดลูกเพิ่มเติม
• ผู้หญิงอายุเกิน 35 ปี ที่ตรวจภายในและแป๊บสเมียร์พบเซลล์ผิดปกติจากโพรงมดลูก (Atypical glandular cells) รวมทั้งผู้หญิงอายุน้อยที่มีเลือดประจำเดือนผิดปกติที่หาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน ควรมีการตัดชิ้นเนื้อจากโพรงมดลูกตรวจเพิ่มเติมจากการส่องกล้องตัดเนื้อตรวจที่ปากมดลูก (colposcopy)
• ถ้ามะเร็งโพรงมดลูกเป็นมากเฉพาะที่ อาจตรวจพบมดลูกโตผิดปกติจากการตรวจภายใน ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 5 จะมาด้วยอาการโรคระยะที่เป็นมาก แพร่กระจายลุกลามไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย เช่น มีน้ำในท้อง (ท้องมาน) ตัวเหลืองตาเหลือง (ดีซ่าน) ลำไส้อุดตัน หรือหายใจลำบาก เหนื่อย จากการที่มะเร็งแพร่กระจายเข้าปอด
รับข้อมูลมะเร็งโพรงมดลูกและการดูแลอย่างละเอียด คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078-9
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้