วันที่ 27-04-2011 | อ่าน : 28086
ห่วงใย...ใส่ใจ...พิชิตมะเร็ง
(ผู้พิชิตมะเร็งต่อมน้ำเหลือง)
โดย นฤทัย พิริยะเกียรติสกุล
ตอนที่ 7 หนูก็แค่เป็นมะเร็ง
รู้สึกเกรงใจคนในบ้านมาก
ที่ตัวเองคอยแต่เป็นภาระให้คนอื่นอยู่เสมอ
หนูไม่ได้ป่วย แค่เป็นมะเร็ง ทำอะไรเองได้
หลังจากรับยาคีโมครั้งแรกเสร็จ หนูกลับบ้านไปไม่มีอาการใดๆ เลย หนูกับแม่ก็ดีใจ นี่สงสัยไม่แพ้คีโมแหงๆ วันต่อมาก็เหมือนกัน สามารถคุยเล่นกินได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่พอตกกลางคืนเท่านั้นล่ะ ประมาณห้าทุ่ม อยู่ๆ ก็รู้สึกไม่ค่อยดี อึดอัด ปวดหัว ปวดท้อง เริ่มคลื่นไส้แล้วก็อาเจียน อาเจียนเยอะมากตลอดคืน พ่อกับแม่ต้องตื่นมาดูแลกันวุ่นวาย วิ่งเข้า-ออก ห้องน้ำ จนในที่สุดก็อยู่แต่ในห้องน้ำ อาเจียน ท้องเสีย อาเจียน ท้องเสีย สลับกันจนเหนื่อย เหนื่อยมาก ง่วงมาก แต่นอนไม่ได้ อาการเริ่มหนักขึ้น อาเจียนบ่อยขึ้นถี่ขึ้น จนเริ่มไม่มีแรง ตัวเหม็นไปด้วยกลิ่นอาเจียนตลบอบอวล อาเจียนทีนึง แม่ก็ให้กินน้ำตามเข้าไป กินเยอะๆ จะได้ล้างออกมาให้หมด เป็นอย่างนี้จนถึงเช้า อาการถึงเริ่มจะดีขึ้น มีอาเจียนบ้างนิดหน่อย แต่ไม่ได้ติดต่อกันเหมือนเมื่อคืน
วันนั้นหนูหลับตลอดครึ่งเช้า ทานข้าวไม่ลง พ่อจึงชงโปรตีนเสริมให้ทานแทน ไร้เรี่ยวแรง ทรมานมาก รู้สึกปั่นป่วนในท้องตลอดเวลา ไม่สนุกเลยค่ะขอบอก ไม่ชอบเลย และยังมีอาเจียนบ้างต่อจากนั้นอีกวันสองวัน หลังจากนั้นก็ไม่มีแล้วค่ะ และอาการก็ดีขึ้นบ้าง จะมีส่วนใหญ่ก็ หน้ามืด ปวดหัว ปวดตัว ที่ทรมานสุด คือ ปวดแขนข้างที่ให้ยา ปวดมาก และยังไม่ค่อยมีแรง
ไม่มีแรงนี่ประเด็นเลยค่ะ เป็นแทบจะทั้งสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ในอาทิตย์แรกแม่จึงเป็นคนพาหนูไปอาบน้ำและคอยดูแลในทุกๆ ด้าน แทบจะทุกเวลา แม่อาบน้ำให้หนูอายก็อาย แต่แรงก็ไม่มี หนูอายุ 18 แล้วนะ โตแล้ว เขิน อาย โอ้ยยย แต่ถึงเป็นอย่างนั้นแต่ความรู้สึกลึกๆ กลับดีใจซึ้งใจ
ด้านการกิน คีโมทำให้ความอยากอาหารลดลงมาก น้ำหนักลง 5 กิโลอย่างฉับพลัน ดีใจมากๆ ที่ผอมลง แต่แม่หาว่าบ้า
ด้านจิตใจ หนูโชคดีที่หนูมีคนรอบข้างดี มีสิ่งแวดล้อมดีๆ ทำให้กำลังใจในการอยู่ก็เลยดีไปด้วย รอบตัวมีแต่ญาติๆ ที่คอยเอาใจใส่ คอยดูแลตลอดเวลาไม่ห่าง คอยชวนพูดชวนคุยไม่ให้หนูเหงา อาจมีบ้างที่อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แต่ก็ส่วนน้อยค่ะ ส่วนใหญ่มีความสุขกับชีวิตดี คนรอบข้างยิ้มหัวเราะให้เห็นตลอดเวลา ไม่มีการร้องไห้ค่ะ แม่บอกให้ทุกคนเข้มแข็ง ไม่ใช่แค่หนูคนเดียว แต่ต้องเข้มแข็งทั้งบ้านค่ะ
สัปดาห์ที่สอง เริ่มมีอาการขมปากขมคอ แรงยังไม่มีเหมือนเดิม แต่อะไรๆเริ่มลงตัวมากขึ้นแล้ว ทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น เริ่มอาบน้ำเองได้ ไม่ลื่นไม่หน้ามืดมากเท่าที่ควร แต่แขนยังเจ็บอยู่มาก ปวดอยู่เรื่อยๆแทบจะตลอดเวลา เริ่มกินอาหารอย่างอื่นนอกจากโจ๊กได้บ้างแล้ว
หลังจากนั้นสองอาทิตย์ก็ได้ฤกษ์ให้เคมีบำบัดครั้งที่ 2 ก่อนให้ก็ทำการเจาะ CBC (Complete Blood Count : ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด) ซึ่งก็คือ การเจาะเลือดธรรมดาๆ เพื่อเช็คเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ สรุปแล้วครั้งนี้เม็ดเลือดขาวผ่านฉลุย เข้าไปห้องเดย์แคร์ให้ยาตามปกติ พี่พยาบาลแนะนำให้สลับแขนข้างที่ให้ยาทุกครั้ง เพื่อช่วยให้เส้นเลือดแขนทั้งสองข้างไม่เจ็บช้ำจนเกินไป การให้ตัวยาสุดท้ายก็ยังคงปวดแสบปวดร้อนเหมือนเดิม แต่ครั้งที่ 2 ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะอดทน ไม่ขี้แยไม่ร้องไห้แล้ว นั่งคุยกับแม่เรื่อยเปื่อย จนกระทั่งให้ยาเสร็จ อย่างที่ทุกคนคงทราบ อาการที่เกิดจากผลข้างเคียงของการให้คีโมคงจะไม่เหมือนกันทุกอาทิตย์และทุกครั้งไป มาให้ยาเข็มนี้กลับไปไม่มีการอาเจียนเหมือนอย่างครั้งแรกแล้วค่ะ จะมีก็เพียงความรู้สึกคลื่นไส้ พะอืดพะอมเหมือนอยากจะอาเจียนเพียงเท่านั้น ซึ่งเพียงเท่านี้ก็ทำให้ความอยากอาหารของหนูลดลงอย่างมาก ช่วงวันแรกๆ ที่ให้ยา ได้กินแต่โจ๊กและโปรตีนเสริมเท่านั้น อย่างอื่นกินไม่ลง นอกจากอาการกินข้าวไม่ลงแล้ว ส่วนใหญ่ที่เจอ คือ ไม่มีแรงและปวดตามตัวตามแขน และเวลาส่วนใหญ่ในสัปดาห์แรกจะหมดไปกับการนอนค่ะ ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย เหนื่อยเพลียทั้งสัปดาห์
เนื่องจากช่วงแรกที่ให้ยา คนรอบข้างต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หนูเริ่มเกรงใจและสงสารทุกคนมาก คนที่ลำบากมากที่สุดเห็นจะเป็น คุณแม่ คุณป้า คุณน้าและคุณยาย เนื่องจากตอนที่หนูเป็นปกติดี แม่จะเป็นคนที่ยุ่งมาก ไม่ค่อยมีเวลามากสักเท่าไหร่ และหนูก็พอจะทราบดีถึงจุดนี้อยู่แล้วว่าทุกสิ่งที่แม่ทำ แม่ก็ทำเพื่อลูกๆ ทั้งนั้น แต่กระนั้นหนูก็ยังอดที่จะน้อยใจแม่ไม่ได้อยู่ดี แต่ในตอนนี้เวลานี้ หนูมีความสุขมากขึ้นที่เห็นแม่เริ่มหันกลับมามอง มาดูแลมาใส่ใจหนูมากขึ้น ขณะเดียวกันก็กลับรู้สึกแย่ จิตตก เหมือนตัวเองไม่มีค่า คอยแต่เป็นภาระให้คนอื่นอยู่เสมอ ส่วนคุณป้ากับคุณน้า จะคอยดูแลใส่ใจเรื่องความสะอาดและความเป็นอยู่ ท่านทั้งสองคนนี้จะคอยอยู่เป็นเพื่อนคุยยามเหงาตลอดเวลา ซึ่งก็ช่วยได้มากเพราะช่วงนี้หนูว่างจัด พออยู่เฉยๆ คนเดียวก็คิดอะไรๆ คนเดียวเรื่อยเปื่อยไปไกลทุกที ส่วนคุณยายท่านจะน่ารักที่สุด ท่านคอยดูแลเรื่องการกินอาหารและมักกังวลใจทุกครั้งที่ทำอาหาร กลัวว่าหนูจะกินร่วมด้วยไม่ได้ ดังนั้นอาหารทุกอย่างที่อยู่บนโต๊ะ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นแต่อาหารสุขภาพที่คุณยายตั้งใจทำมาด้วยใจทุกจานให้หนูได้กิน จนบางทีพี่ๆ น้องๆ ในบ้านที่ไม่ได้ป่วยเริ่มโวย ฮ่าๆๆ
หลังจากที่อะไรๆ ลงตัวขึ้นมาก การง่วงน้อยลง เริ่มที่จะมีแรงและช่วยเหลือตัวเองทำอะไรด้วยตัวเองมากขึ้น พยายามขอร้องให้คนรอบข้างเลิกมองว่าเราเป็นคนป่วยสักที หนูไม่ได้ป่วย แค่เป็นมะเร็ง ทำอะไรเองได้ เวลาว่างมากขึ้น เริ่มหาอะไรทำ อะไรเล่น เพื่อหลีกเลี่ยงจะอยู่คนเดียว เลี่ยงที่จะคิดเองเออเอง เดี๋ยวจิตตก ร่างกายก็จะทรุดโทรมไปด้วย และสิ่งที่น่าสนใจ คือ ผมเริ่มมีการร่วงแล้ว ผมร่วงเยอะขึ้น จับติดมืออกมาได้ง่ายๆ ลมมาก็หลุดปลิวไปกับสายลม ผมตกหล่นเต็มพื้นเรี่ยราดเลยค่ะ สงสารคนในบ้าน ต้องคอยไล่ตามเก็บกันให้วุ่นวาย
โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ...
ห่วงใย...ใส่ใจ...พิชิตมะเร็ง ตอนที่ 8 แม่ที่ทุ่มเทเพื่อลูก
ห่วงใย...ใส่ใจ...พิชิตมะเร็ง ตอนที่ 9 สิ่งดีๆ ที่ได้รับจากมะเร็ง
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้