วันที่ 20-01-2011 | อ่าน : 40501
มะเร็งปากมดลูก
ปากมดลูก คือ ส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่เป็นส่วนปลายสุดของตัวมดลูก ตำแหน่งอยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะทางด้านหน้าและลำไส้ทางด้านหลัง มีโพรงเปิดต่อไปยังช่องคลอดซึ่งต่อกับอวัยวะเพศภายนอก
มะเร็งปากมดลูก คือ เนื้องอกบริเวณปากมดลูกที่ประกอบด้วยเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็วสามารถลุกลามทำลายเนื้อเยื่อปกติและอวัยวะใกล้เคียง รวมทั้งสามารถลุกลามเข้าเส้นเลือด และเส้นน้ำเหลืองทำให้เกิดการกระจายของโรคไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้
โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 1 ในสตรีไทย และเป็นอันดับที่3 ของมะเร็งในสตรีทั่วโลก และพบมากในช่วงอายุ 35 ถึง 60 ปี มีรายงานอุบัติการณ์ผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกถึง 371,000 รายต่อปี ในปี พ.ศ.2542
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
• การมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง
• มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย ช่วงนี้เซลล์ปากมดลูกยังพัฒนาไม่เต็มที่ยังไวต่อสารก่อมะเร็งสูงมาก
• การมีคู่นอนหลายคน
• มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน เริม ซิฟิลิส เป็นต้น
• นิยมสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้ยาเสพติด
• การตั้งครรภ์และการคลอดลูกมากกว่า 4 ครั้ง ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
• การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
• ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น การติดเชื้อเอดส์ การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
• การใช้ยาฮอร์โมน Diethylstillbestrol (DES) กับมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์
• การติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ Human papilloma virus
• มีการฉีกขาดหรือกระทบกระเทือนบริเวณปากมดลูก
• มีการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูกและไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ
• มีสามีที่ไม่ได้รับการขลิบหนังที่ปลายอวัยวะเพศ
อาการและอาการแสดง
• ในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย
• มีเลือดออกหลังหมดประจำเดือน
• มีประจำเดือนไม่ปกติ กะปริบกะปรอย หรือออกมากและมาไม่สม่ำเสมอ
• มีตกขาวออกมากผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่น ตกขาวมีลักษณะคล้ายน้ำคาวปลา
• มีเลือดออกขณะหรือหลังการร่วมเพศ
• มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
• ปวดท้องน้อย หรือปวดบริเวณก้นกบร้าวลงขา
• ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือมีอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายอุจจาระได้ ในกรณีที่เป็นมาก
การตรวจหามะเร็งปากมดลูก
• การตรวจภายใน แพทย์จะทำการตรวจทางช่องคลอดและทวารหนัก เพื่อดูลักษณะปากมดลูก ตัวมดลูก รังไข่ พังผืดข้างปากมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ตรง
• การทำแป๊บสเมียร์ (Pap smear) เป็นการขูดเอาเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจย้อมสีดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการตรวจที่ง่ายและไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด แต่สามารถตรวจหาเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูกได้เป็นอย่างดี โดยการนำเอาแผ่นไม้เล็กๆ (spatula) หรือแปรงอันเล็กๆ ปาดเอาเซลล์ตัวอย่างบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดส่วนบนมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ
แนะนำการตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปีในผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป หรือน้อยกว่าเมื่อเริ่มมีเพสสัมพันธ์ การตรวจควรทำในช่วงหลังการมีประจำเดือนวันแรก 10-20 วัน โดยในระยะ 2 วันก่อนไปตรวจ ควรงดการสวนล้างช่องคลอด หรือการเหน็บยาหรือใส่สารใดๆ เข้าไปในช่องคลอด
ชนิดของเซลล์มะเร็งปากมดลูก
• Squamous cell carcinoma เป็นเซลล์มะเร็งของเยื่อบุผิวปากมดลูกที่พบบ่อยที่สุดพบประมาณ 80-90% ของมะเร็งปากมดลูก
• Adenocarcinoma พบประมาณ 10-20% มักพบเริ่มต้นบริเวณด้านในปากมดลูก
• ชนิดอื่นๆ เช่น พบได้ประมาณ 10%
ระยะของโรค และการรักษา
1. ระยะก่อนเป็นมะเร็ง หมายถึงการตรวจพบเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก แต่ยังไม่ถึงกับลุกลามเป็นมะเร็ง เซลล์เหล่านี้หากปล่อยไว้จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ กลุ่มนี้ยังรวมถึง ความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ที่มีลักษณะเหมือนเซลล์มะเร็งแล้วแต่ยังอยู่เฉพาะชั้นผิวเยื่อบุ เรียกว่า Carcinoma in situ หรือ CIS การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดเอามดลูกออกในรายที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว หรือผ่าตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยที่เรียกว่า Conization ในรายที่ยังต้องการเก็บมดลูกไว้
2. กลุ่มที่เป็นมะเร็ง แบ่งระยะเป็น 4 ระยะ คือ
• ระยะที่ 1: มะเร็งพบเฉพาะในตัวปากมดลูก ยังไม่มีการกระจายหรือลุกลามไปยังส่วนอื่น แบ่งเป็น
I. ระยะ 1a ที่รอยโรคมีขนาดน้อยกว่า 7 มม. รักษาโดยการผ่าตัดเอามดลูก รวมทั้งรังไข่ ปีกมดลูก พังผืดยึดมดลูก บางส่วนของช่องคลอด และ ต่อมน้ำเหลืองออก
II. ระยะ 1b คือรอยโรคที่ปากมดลูกใหญ่กว่า 7 มม. หรือ กินลึกมากกว่า 5 มม. แต่ยังไม่มีการลุกลามออกนอกตัวมดลูก
III. ระยะที่ 1 หากก้อนยังไม่เกิน 4 ซม. รักษาโดยการผ่าตัดเอามดลูก รวมทั้งรังไข่ ปีกมดลูก พังผืดยึดมดลูก บางส่วนของช่องคลอด และ ต่อมน้ำเหลืองออก หากเกิน 4 ซม. นอกจากผ่าตัด อาจต้องให้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษาด้วย
• ระยะที่ 2: แบ่งเป็น
I. ระยะ 2a คือ มะเร็งมีการลุกลามออกไปยังช่องคลอดส่วนบน
II. ระยะ 2b คือ มีการลุกลามไปยังพังผืดที่ยึดอยู่ข้างมดลูก
• ระยะที่ 3: แบ่งเป็น
I. ระยะ 3a ซึ่งมีการลุกลามของโรคลงไปในช่องคลอดมากจนถึงส่วนล่างของช่องคลอด
II. ระยะ 3b ซึ่งมีการลุกลามของมะเร็งจากปากมดลูกไปยังพังผืดที่ยึดอยู่ข้างมดลูกไปจนถึงบริเวณผนังช่องท้อง หรือมีการกระจายของโรคไปที่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หรือพบการบวมของกรวยไตซึ่งมักเกิดจากการที่มะเร็งที่ไปยังต่อมน้ำเหลืองกดเบียดท่อไตจนทำให้ปัสสาวะมีการคั่งในกรวยไต
• ระยะที่ 4:
I. ระยะ 4a คือ มีการลุกลามของมะเร็งไปยังกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ด้านหน้า หรือ ลำไส้ตรงที่อยู่ด้านหลังของปากมดลูก และ ช่องคลอด
II. ระยะ 4b คือระยะที่มีการกระจายของโรคทางกระแสเลือดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่พบบ่อยได้แก่ ปอด ตับ กระดูก หรือ สมอง หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองนอกอุ้งเชิงกราน
III. ระยะ 2b, 3a, 3b, 4a ที่มีการลุกลามไปไม่มาก การรักษาโดยฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานทั้งหมด และบริเวณโดยรอบ รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ร่วมกับฝังแร่ และอาจให้ยาเคมีบำบัดควบคู่กันไป ส่วนระยะ 4a ที่ลุกลามมากแล้ว และ ระยะ 4b การรักษาทำคล้ายกัน แต่มุ่งเพื่อบรรเทา ลดอาการ และยับยั้งการลุกลาม
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติที่ปากมดลูกจนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีๆ การตรวจคัดกรองหาความผิดปกติที่ปากมดลูกแต่เนิ่นๆ ร่วมกับการดูแลรักษาจึงเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก
รับข้อมูลมะเร็งปากมดลูกและการดูแลอย่างละเอียด คลิคที่นี่ หรือโทร 02-6640078-9
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้