มะเร็งปอด

วันที่ 20-01-2011 | อ่าน : 33697


มะเร็งปอด

     “มะเร็งปอด” หมายถึง อุบัติการณ์ที่เซลล์ของเนื้อปอดมีการแบ่งตัวที่มากเกินปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ และมีการเจริญเติบโตลุกลามรวมกันกันเป็นเนื้องอก และยังแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้
 
       มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบได้มากในประเทศไทย โดยพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย อันดับ 4 ในเพศหญิง ตรวจพบในระยะเริ่มแรกได้ยากเพราะอาการจะไม่ปรากฏ คนที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการที่โรคลุกลามแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าระยะใดก็มีหนทางในการดูแลรักษา และส่งผลให้มีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยระยะและมีการรักษาที่ถูกต้อง
 

ปัจจัยเสี่ยง
         ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมี 2 ประเภท คือ ปัจจัยภายในที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น กรรมพันธุ์ หรือพันธุกรรม กับปัจจัยภายนอกซึ่งสามารถควบคุมได้ เช่น บุหรี่ สารพิษทางอากาศ เป็นต้น โดยปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปอดได้แก่

                1. บุหรี่ พบว่าประมาณ 85% หรือมากกว่าของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีประวัติการสูบบุหรี่ สารในบุหรี่นั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อปอด มีประมาณ 60 ชนิดที่เป็นสารพิษและก่อมะเร็ง แม้ว่าหยุดสูบไปแล้วแต่ความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่ พบว่าผู้สูบบรี่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดสูงขึ้น 10 เท่า ยิ่งสูบมาก สูบนาน ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้รวมถึงผู้ได้รับควันบุหรี่ด้วย (ร้อยละ 30 ของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่ตายจากมะเร็งปอด จะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่)

                2. ซิการ์และไปป์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน

                3. แอสเบสทอส (Asbestos) หรือแร่ใยหิน ใช้เป็นวัตถุไวไฟ แผ่นกันความร้อนตามอาคาร ฉนวนบางชนิด อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น การดูดดมแอสเบสทอสเข้าไปจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด

                4. เรดอน (Radon) เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น พบได้ทั่วไปตามแหล่งดินในธรรมชาติ หรือบริเวณที่มีแร่ยูเรเนียม โดยเรดอนจะระเหยขึ้นมาจากพื้นดิน ก๊าซนี้จะทำอันตรายต่อปอด

                5. สารอื่นๆ เช่น โครเมียม นิกเกิล ฝุ่นจากอุตสาหกรรมหนัก ไอสารระเหยน้ำมัน เขม่าควันต่างๆ รวมถึงมลภาวะทางอากาศที่ไม่บริสุทธิ์

                6. โรคเกี่ยวกับปอด ผู้ที่เป็นวัณโรคปอดจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น โดยมะเร็งปอดจะเกิดขึ้นที่ตำแหน่งรอยแผลเป็นจากการเกิดเชื้อวัณโรคปอด
 

อาการและอาการแสดง
           ผู้ป่วยมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักไม่ค่อยแสดงอาการจนกว่าโรคจะลุกลามไปมากแล้ว มีผู้ป่วยประมาณ 10-15% เท่านั้นที่ตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมีโอกาสที่จะหายขาดสูง อาการและอาการแสดงต่างๆของมะเร็งปอดมีดังต่อไปนี้คือ
              
               • ไอเป็นเวลานาน ไม่ทุเลาเหมือนการไอปกติ แต่กลับเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
               • หายใจเหนื่อยหอบ หายใจสั้น เสียงแหบ
               • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
               • ไอ หรือมีเสมหะ ปนเลือด
               • เจ็บหน้าอก  หัวไหล่ หลัง และแขนเป็นประจำ (อาจเป็นเพราะก้อนเนื้อเบียดกดอยู่)
               • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
               • มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลำคอ หรือแขน
               • โรคปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบบ่อย

          อาการดังกล่าวที่ได้กล่าวมาแล้ว มิใช่อาการของมะเร็งปอดระยะแรก เพราะมะเร็งปอดระยะแรกจริงๆมักไม่มีอาการ แพทย์จะตรวจพบได้โดยบังเอิญจากการตรวจเอ๊กซเรย์ปอด จากการตรวจร่างกายประจำปี
 

วิธีการตรวจวินิจฉัย
              • การซักประวัติ  อาทิ พฤติกรรมการสูบบุหรี่    สิ่งแวดล้อมในการทำงาน    รวมไปถึงประวัติครอบครัว    
              • ตรวจร่างกาย โดยใช้หูฟังเพื่อฟังเสียงของปอด การหายใจ การทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของปอด เป็นต้น
              • การตรวจเสมหะ มักใช้เสมหะใหม่ๆ ตอนตื่นนอน ถ้าไม่มีเสมหะอาจป้ายสิ่งคัดหลั่งบริเวณคอหอยไปตรวจแทน
              • ภาพเอกซเรย์เพิ่มเติม ภาพ x-ray ทรวงอกด้านข้างจะช่วยบอกตำแหน่งของก้อนในปอดว่าอยู่หน้าหรือหลัง ภาพส่วนโทโมแกรม ( tomogram) อาจบอกรายละเอียดว่ามีเม็ดหินปูน (calcification) หรือโพรงเล็กๆที่ไม่เห็นในภาพธรรมดา การทำบรองโคแกรม (bronchogram) จะบอกรายละเอียดของหลอดลม
              • การส่องกล้องดูหลอดลม (bronchoscopy) วิธีนี้สามารถเข้าไปได้ลึกจนถึงหลอดลมแขนงย่อย ทำให้นอกจากจะเห็นลักษณะของหลอดลมแล้ว ยังสามารถตัดชิ้นเนื้อในหลอดลมและเนื้อปอดนอกหลอดลม (transbronchial biopsy) ไปส่งตรวจทางพยาธิ และยังสามารถใช้น้ำฉีดล้างหลอดลม หรือขูดเยื่อหลอดลม เพื่อให้มีเซลล์หลุดออกมาสำหรับส่งตรวจทางเซลล์วิทยาได้อีกด้วย
              • การตัดชิ้นเนื้อบริเวณต่อมน้ำเหลืองไปส่งตรวจทางพยาธิ
              • การทำสแกน (SCAN)  
              • การใช้เข็มขนาดเล็กเจาะก้อน
              • การส่องดูภายในทรวงอก
              • การส่องดูกระดูกสันอก
              • การผ่าตัดเปิดทรวงอก เป็นวิธีสุดท้ายในการวิเคราะห์โรค และเป็นการรักษาไปด้วยถ้าผู้ป่วยเป็นเนื้องอก
 


 

ชนิดของมะเร็งปอด
          โรคมะเร็งปอดมีหลายชนิดตามความแตกต่างของเซลล์ ที่พบบ่อยมีอยู่ 2 ชนิด คือ มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer, NSCLC) และมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer, SCLC) ชนิดของเซลล์มะเร็งนี้ไม่ได้หมายถึงขนาดของก้อนมะเร็ง แต่มีผลกับการพยากรณ์และการรักษาโรค ดังนี้
                • มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer, NSCLC) พบได้ประมาณ 75-80% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด ถ้ามีการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก มะเร็งปอดชนิดนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย คือ

               1. ชนิดอะดิโนคาร์ซิโนม่า (Adenocarcinoma)  เซลล์มะเร็งชนิดนี้พบได้ที่ต่อมสร้างน้ำเมือกของปอด อุบัติการณ์ของมะเร็งปอดชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ 20 ปีมานี้ เนื่องจากมีการพัฒนาเครื่องมือการวินิจฉัยได้ดีขึ้น มะเร็งชนิดนี้พบประมาณ 40% ของมะเร็งปอดทั้งหมด พบบ่อยในผู้หญิงหรือในรายที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย

               2. ชนิดสแควร์มัส คาร์ซิโนม่า (Squamous carcinoma) หรือ epidermoid carcinoma จะพบที่เยื่อบุผิวของหลอดลม  พบมากในเพศชายและผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง เกี่ยวข้องอย่างมากกับการสูบบุหรี่ มักมีจุดเริ่มต้นที่ท่อทางเดินหายใจขนาดใหญ่ ทำให้มีอาการไอมาก อาจไอเป็นเลือด หรือมีอาการปอดบวม เพราะก้อนเนื้อมะเร็งไปอุดท่อของหลอดลม จนทำให้ไม่สามารถไอเอาเสมหะออกมาได้ พบประมาณ 30-35% ของมะเร็งปอดทั้งหมด

               3. ชนิดเซลล์ตัวใหญ่ (Large cell carcinoma) เซลล์ชนิดนี้จะพบที่ผิวนอกของเนื้อปอด มักจะเป็นบริเวณขอบริมๆ มีการแพร่กระจายได้เร็วมาก จนการตรวจ วินิจฉัยโรคทำได้ไม่ทันกับการเจริญของโรค พบประมาณ 5-15% ของมะเร็งปอดทั้งหมด

                • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer,SCLC) พบได้ประมาณร้อยละ 15 ของโรคมะเร็งปอดทั้งหมด เซลล์จะมีรูปร่างเล็กกลม จนบางครั้งเรียกว่า Oat cell เริ่มเกิดขึ้นภายในหลอดลมของปอดที่มีขนาดเล็กก่อน แพร่กระจายได้เร็ว แต่ตอบสนองต่อเคมีบำบัดและการฉายรังสีได้ดี พบในผู้ที่สูบบุหรี่หรือผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

                • มะเร็งปอดชนิดเซลล์อื่นๆ
                      -    Carcinoid Tumor พบน้อยประมาณ 1-5% ของผู้ป่วยมะเร็งปอด
                      -    Malignant Mesothelioma แร่ใยหินหรือแอสเบสตอสเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งชนิดนี้ พบมากในผู้สูงอายุ มักเกิดที่เยื่อหุ้มปอดด้านในทำให้ยากต่อการวินิจฉัย
 

การรักษามะเร็งปอด

1. การผ่าตัด (surgery)
         ควรทำเฉพาะในรายที่คาดว่ายังมีหวังตัดมะเร็งออกได้หมด  และปอดที่เหลืออยู่ยังเพียงพอสำหรับการหายใจ  ขนาดของปอดที่ตัดออกขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง และสมรรถภาพของปอดที่เหลือไว้  ซึ่งอาจจะเป็นเพียงบางกลีบหรือตัดออกทั้งกลีบ (lobectomy) หรือปอดทั้งข้าง (pneumonectomy) ในบางครั้งต้องตัดส่วนที่มีมะเร็งลุกลามออกไปด้วย ถ้าผ่าตัดเปิดทรวงอกแล้ว  พบว่ามีมะเร็งกระจายไปบริเวณเยื่อที่กั้นกลางช่องอก การรักษาขั้นต่อไปยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ วิธีหนึ่งคือปิดทรวงอกโดยไม่ตัดปอดและฉายรังสีหลังผ่าตัด อีกวิธี คือ ตัดปอดหรือกลีบปอดร่วมกับมะเร็งในเยื่อที่กั้นกลางช่องอกให้มากที่สุด และตามด้วยรังสีหลังผ่าตัด
 

2. รังสีรักษา หรือการฉายแสง (Radiation therapy)
          ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ผ่าตัดไม่ได้ และในรายที่ผ่าตัดแล้วแต่ตัดมะเร็งออกไม่หมดหรือคาดว่ามะเร็งจะงอกขึ้นมาอีก การฉายรังสียังมีประโยชน์สำหรับการบรรเทาอาการ เช่น เมื่อมีการอุดกั้นของหลอดเลือดดำใหญ่ มีอาการปวดกระดูกหรืออาการทางสมอง ปัจจุบันการฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด เป็นวิธีรักษาหลักสำหรับมะเร็งชนิด oat cell
เทคนิคทางรังสีรักษาแบบใหม่ มีหลายวิธี เช่น  การฉายรังสีแบบ 3 มิติ , เทคนิคการใช้รังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด,  Fractionation,  Radiation modifiers เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการฉายรังสีแบบใหม่ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ หรือเพื่อการรักษาแบบประคับประคองผู้ป่วย อีกด้วย
 

3. เคมีบำบัด ( Chemotherapy)
           มีบทบาทสำคัญในการรักษามะเร็งปอด ในปัจจุบันนิยมใช้ยาหลายตัวสลับกันเป็นระยะ (cyclical treatment) เพราะได้ผลดีกว่าการใช้ยาตัวเดียว ผลการรักษามักจะดีในผู้ป่วยที่สภาพร่างกายสมบูรณ์ และมีมะเร็งในร่างกายน้อย ยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง
                • ยาในกลุ่มยับยั้งการทำงานของ epidermal growth factor receptor (EGFR inhibitors) ยากลุ่มนี้จะไปยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์ในก้อนมะเร็ง มีความเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการแสดงออกของ EGFR สูง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งที่ศีรษะและคอ มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น ในการศึกษาทางคลีนิคพบว่า สามารถทำให้ก้อนมะเร็งหดตัวเล็กลง หรือทำให้โรคไม่ลุกลามต่อไปได้ และมีผู้ป่วยหลายรายได้ประโยชน์จากอาการต่าง ๆ ของโรคลดลงด้วย
                • ยาเคมีบำบัดใหม่ๆ ในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาทางคลินิคทั้งการใช้เดี่ยวๆ หรือการใช้ร่วมกันหลายๆ ตัว
                • ยาในกลุ่มยับยั้งการสร้างหลอดเลือดของก้อนมะเร็ง เพราะเซลล์ในก้อนมะเร็งจะมีชีวิตอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยอาหาร และออกซิเจนจากหลอดเลือด โดยก้อนมะเร็งสามารถสร้างหลอดเลือดของตัวเองขึ้นมาแล้วเชื่อมต่อกับหลอดเลือดของร่างกาย ถ้าสามารถทำลายหรือยับยั้งไม่ให้ก้อนมะเร็งสร้างหลอดเลือดเหล่านี้ได้ เซลล์มะเร็งก็จะขาดอาหารและออกซิเจนทำให้เซลล์มะเร็งตายในที่สุด ยาในกลุ่มนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาทางคลินิค
                • Gene Therapy เป็นการใช้สารทางกรรมพันธุ์ (Genetic material) ใส่เข้าไปในเซลล์มะเร็ง เพื่อให้เซลล์สามารถควบคุมการทำงานได้เป็นปกติ วิธีการเช่นนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งการรักษาและป้องกันการเกิดมะเร็งได้
                • Monoclonal antibodies เป็นแอนตี้บอดี้ต่อเซลล์มะเร็งที่สร้างจากห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งเท่านั้น
 

             อย่างไรก็ตามไม่มีวิธีการรักษาใดที่รับรองได้ว่าจะได้ผลดีสำหรับผู้ป่วยทุกราย เพราะมะเร็งปอดในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความแตกต่างกัน นอกจากนั้น เซลล์มะเร็งเองก็มีความไวในการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกันด้วย ในปัจจุบันจึงมักใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ครอบคลุมโอกาสที่น่าจะเป็นไปได้ทั้งหมด
 

 รับข้อมูลมะเร็งปอดและการดูแลอย่างละเอียด คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078-9

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้