วันที่ 29-12-2010 | อ่าน : 18398
ยารักษาแบบมุ่งเป้า
ดร. กมล ไชยสิทธิ์
Pharmacologist
การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันโดยเฉพาะวิธีการให้เคมีบำบัดนั้น ถือว่าเป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียงได้มาก เพราะยาเคมีบำบัดเป็นยาที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์ต่ำ ทำให้เมื่อได้รับเคมีบำบัดเซลล์ใดที่เจริญเติบโตเร็ว ได้แก่ เยื่อบุช่องปาก ผนังลำไส้ เป็นต้น มีผลกระทบมาก เซลล์ที่ดีถูกทำลายไปด้วย ผู้ป่วยจึงเกิดอาการท้อแท้ใจไม่อยากเข้าสู่การรักษา แพทย์และนักเภสัชวิทยาจึงพยายามคิดค้นยาใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพและออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งมากขึ้น ด้วยความรู้ทางด้านพันธุศาสตร์และวิทยาภูมิคุ้มกันที่พัฒนามากขึ้น นักวิทยาศาสตร์จึงเกิดแนวคิดว่า ปกติแล้วการทำงานของร่างกายเรามีการสร้างภูมิคุ้มกันที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อโรคอยู่แล้ว เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้าออกฤทธิ์ต่อการกระตุ้นการต้านพิษสุนัขบ้าเท่านั้น ไม่ได้มีผลต่อเซลล์ปกติ พบว่าการเฉพาะเจาะจงนั้นเกี่ยวเนื่องกับสารที่เรียกว่าแอนตี้บอดี (antibody) ซึ่งปกติจะหลั่งออกมาจาก B-cell แต่ข้อเสีย คือ ในหนึ่งแอนตี้บอดี อาจมีตัวที่จดจำที่จะเข้าไปจับกับเชื้อโรค (epitobe) มากกว่า 1 ตำแหน่ง จึงต้องทำการพัฒนาต่อไป
จนกระทั่งมีการนำความรู้ทางด้านวิทยาภูมิคุ้มกัน (immunology) มาใช้อธิบายการเกิดโรคต่างๆ ได้หลายชนิด มีการประยุกต์เอาความรู้ในสาขานี้ไปใช้ในการวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ โดยมีความไวสูงและแม่นยำ รวมทั้งมีการนำเทคนิคทางวิทยาภูมิคุ้มกันใหม่ๆ ไปประยุกต์ใช้ในวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Science) แทบทุกสาขา ระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมามีการคิดค้นวิธีการผลิตโมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibodies, Mabs) ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อวงการวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้ค้นพบ คือ George Kohler และ Caesar Milstein ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1984 ในสาขาการแพทย์ด้านวิทยาภูมิคุ้มกัน โดยการนำเอาแอนติเจน (antigen) มาฉีดเข้าตัวหนู ปล่อยให้หนูสร้างภูมิคุ้มกันมาต้านแอนติเจนที่ฉีดเข้าไป จากนั้นนำ B-cell ที่พัฒนาเป็นพลาสมาเซลล์ พร้อมที่จะหลั่งแอนติบอดี แล้วแยกออกจากกายของหนูมาไว้ในจานเพาะเลี้ยงที่มีเซลล์มะเร็ง myeloma อยู่เพราะเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตได้มากไมหยุดยั้ง จึงให้ plasma cell มา fuse รวมกับ myeloma เพื่อหวังผลในการสร้างแอนติบอดีที่เราต้องการศึกษาให้มากขึ้น จากนั้นนำเซลล์มาแยกประเภท เลือกเอาเฉพาะเซลล์ที่มีแอนติบอดีที่เฉพาะเจาะจงกับแอนติเจนที่เราต้องการเท่านั้น มาทำการตัดต่อส่วนของแอนติบอดีหนูเพื่อรวมกับแอนติบอดีที่มาจากคนต่อไป
โมโนโคลนอล แอนติบอดี จึงถือเป็นสารที่พัฒนาด้วยวิธีการทางวิศวพันธุศาสตร์ แบ่งเป็น
1. chimeric antibody ซึ่งเกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม DNA ของมนุษย์และหนู (murine) โดยมีสัดส่วนที่มาจากมนุษย์ 65-90%
2. humanized antibody ซึ่งมีสัดส่วนที่มาจากมนุษย์ 95%
3. fully human antibody เป็นส่วนของมนุษย์ทั้งหมด
ซึ่งการยิ่งทำให้แอนติบอดีที่ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากเท่าใด ก็จะลดปัญหาการเกิดปฏิกิริยาการแพ้ได้มากเท่านั้น โมโนโคลนอล แอนติบอดี เหล่านี้ จะเห็น epitobe เดียวเท่านั้น จะไม่ไปจับกับเซลล์อื่นที่ไม่ต้องการอีก ทำให้เกิดความจำเพาะเจาะจงต่อการออกฤทธิ์ของยามากขึ้น จึงถือเป็นกลุ่มโมเลกุลาทาร์เก็ต (molecular target) คือ ออกฤทธิ์จำเพาะต่อโมเลกุล ซึ่งโมเลกุลาทาร์เก็ตที่ดีในการรักษามะเร็งนั้น ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ดังนั้นควรศึกษาให้ทราบถึงเฉพาะเซลล์มะเร็งจะพบตัวรับแบบนี้เท่านั้น ซึ่งหาไม่เจอในเซลล์ปกติ
2. มีผลตอบสนองต่อการรักษาเมื่อนำมาใช้จริง
3. เมื่อยาเข้าไปยับยั้งที่ตัวรับ ให้ผลการรักษาเฉพาะในกลุ่มที่ express molecular target นั้น แต่ไม่ให้ผลตอบสนองใดๆ ในผู้ป่วยที่ไม่ express molecular target นั้น
ตัวอย่างเช่นเราทราบว่า epidermal growth factor (EGF) เมื่อมาจับกับ epidermal growth factor receptor (EGFR) ทำให้กระตุ้นการเติบโตของเซลล์ได้มาก จึงพยายามหาทางยับยั้งตัวรับสารดังกล่าว ยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้แก่ cetuximab (Erbitux®) หรือสารที่ยับยั้งเอนไซม์ tyrosine kinase ทำให้เกิดการตายของเซลล์ ลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ gefitinib (Iressa®), erlotinib (Tarceva®) ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ การเกิดผื่นคล้ายสิว (acne-like rash) และท้องเสีย (diarrhea) เป็นต้น
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้