มะเร็งกระเพาะอาหาร

วันที่ 13-12-2010 | อ่าน : 38989


มะเร็งกระเพาะอาหาร


     มะเร็งกระเพาะอาหาร พบมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยพบร้อยละ 8.7 ของโรคมะเร็งทั้งหมด คิดเป็น 876.3 คนต่อประชากร 100,000 คน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากถึง 646.6 คน ต่อประชากร 100,000 คน ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่มีอัตราการเกิดโรคและอัตราตายใกล้เคียงกัน แสดงว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงและยังไม่มีวิธี
       ประเทศที่พบมะเร็งกระเพาะอาหารมากคือประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี ในยุโรปพบน้อย เช่น ในประเทศอังกฤษ พบผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารใหม่ 10,000 คนต่อปี และในจำนวนนี้ผู้ป่วยจำนวนถึง 6,360 ราย เสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะอาหาร
      มะเร็งกระเพาะอาหาร พบมากในช่วงอายุ 60 ปี ถึง 70 ปี พบน้อยในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีลงมา ผู้ป่วยเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ผ่าตัดได้ และถึงแม้ว่าจะผ่าตัดได้ ผู้ป่วยเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้นที่มีชีวิตรอดถึง 5 ปี ภายหลังการผ่าตัดรักษา ส่วนผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ จะมีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี น้อยกว่าร้อยละ 5
 

ปัจจัยเสี่ยง
     สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารไม่ทราบชัดเจน อย่างไรก็ตาม พบว่ามีปัจจัยหลายชนิดที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนี้

     1. อาหาร การรับประทานอาหารที่เค็มจัด อาหารปิ้งย่าง การไม่รับประทานผักสด และผลไม้สด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีนิยมรับประทาน เนื้อย่าง ผักดอง เช่น กิมจิ เป็นประจำ ทำให้พบผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจำนวนมาก เมื่อคนญี่ปุ่นอพยพไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารลดน้อยลง แสดงว่าปัจจัยสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
     2. พันธุกรรม โรคทางพันธุกรรมบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเกิด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น โรค Li-Fraumeni syndrome และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิด hereditary non-polyposis colorectal cancer
     3. กรุ๊ปเลือด ผู้ป่วยที่มีเลือดกรุ๊ปเอ มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนทั่วไป
     4. ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ผู้ที่มีติ่งเนื้องอกในกระเพาะอาหารชนิด adenomatous polyp มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ร้อยละ 10-20 โดยเฉพาะถ้ามีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร
     5. การติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ เฮอลิโดแบคเตอร์ ไพรอไล ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารและกระเพาะอาหารอักเสบมีการสร้างสารก่อมะเร็งกลุ่มไนโตรโส ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 3-5 เท่าสูงกว่าคนปกติ
     6. ภาวะโลหิตจางชนิด pernicious จะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนทั่วไป
     7. การไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (achlorhydria) ผู้ป่วยที่ไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้สูงขึ้น
     8. ประวัติการผ่าตัดกระเพาะอาหารบางส่วน (partial gastrectomy) ผู้ป่วยที่มีประวัติผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าคนปกติ

อาการและอาการแสดง
     อาการที่พบบ่อยของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร คือ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง ปวดท้องด้านบน ท้องอืดผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด กลืนอาหารลำบาก และถ่ายดำ บางครั้งอาจคลำพบก้อนที่ลิ้นปี่ หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้ายซ้ายโต ตับโต บางรายที่มะเร็งกระจายไปที่ปอดอาจเกิดอาการหอบเหนื่อยได้ ในผู้ป่วยหญิงบางราย มะเร็งกระเพาะอาหารอาจหลุดไปในช่องท้อง ไปเกาะเป็นก้อนที่รังไข่คล้ายมะเร็งรังไข่ได้

พยาธิสภาพ
มะเร็งกระเพาะอาหารมีรักษาทางพยาธิสภาพหลายชนิด ชนิดที่สำคัญมีดังนี้
     1. มะเร็งกระเพาะอาหารชนิดที่เกิดจากต่อม (adenocarcinoma) พบมากที่สุดถึงร้อยละ 95 ของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารทั้งหมด มีลักษณะคล้ายเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นถ้าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร รักษาไม่ดีขึ้น ต้องตรวจว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารหรือไม่
     2. มะเร็งกระเพาะอาหารที่เกิดจากต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) มีหลายชนิดเช่น mucosa associated lymphomatoid tissue (MAL) และ diffuse large B-cell lymphoma
     3. มะเร็งจีสต์ (gastrointestinal stromal tumors) ร้อยละ 60 ของมะเร็งชนิดนี้เกิดที่กระเพาะอาหาร วินิจฉัยโดยการย้อมพิเศษ เรียกว่าการย้อม c-kit หรือ CD117 ตอบสนองดีต่อยาต้านยีนมะเร็ง kit เรียกว่ายาก imatinib เป็นยารับประทาน

การแบ่งระยะของโรค
เราอาจแบ่งระยะของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

     ระยะที่ 1 มะเร็งกระเพาะอาหารที่อยู่ที่ผิวด้านในของผนังกระเพาะอาหาร (T1) และอาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 6 ต่อม (N1) หรือลุกลามไปถึงขั้นกล้ามเนื้อของผนังกระเพาะอาหาร แต่ยังไม่เข้าต่อมน้ำเหลือง (T3)

     ระยะที่ 2 มะเร็งกระเพาะอาหารอยู่ที่ผิวด้านในของกระเพาะอาหาร (T1) และเข้าต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 15 ต่อม (N2) หรือลุกลามเข้าถึงชั้นกล้ามเนื้อของผนังกระเพาะอาหาร (T2) และเข้าต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 6 ต่อม (N1) หรือมะเร็งกระเพาะอาหารลุกลามถึงผิวนอกของผนังกระเพาะอาหาร (T3) แต่ยังไม่เข้าต่อมน้ำเหลือง (N0)

     ระยะที่ 3 มะเร็งกระเพาะอาหารอยู่ที่ชั้นกล้ามเนื้อ (T2) และเข้าต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 15 ต่อม หรือมะเร็งลุกลามถึงผิวนอกของกระเพาะอาหาร (T3) และเข้าต่อมน้ำเหลืองไม่เกิน 15 ต่อม หรือลุกลามไปถึงอวัยวะใกล้เคียง (T4) แต่ไม่เข้าต่อมน้ำเหลือง (N0)

     ระยะที่ 4 มะเร็งกระเพาะอาหารแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ (M1) หรือเข้าต่อมน้ำเหลือง มากกว่า 15 ต่อม หรือมะเร็งกระเพาะอาหารที่ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง (T4) และเข้าต่อมน้ำเหลือง (N1-3)

การวินิจฉัย
     การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารทำได้โดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การเจาะเลือดตรวจ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร และการตรวจทางรังสีวินิจฉัย ได้แก่ การตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของปอดและช่องท้องเป็นต้น ในรายที่สงสัยว่ามะเร็งเข้ากระดูกอาจตรวจได้โดยการสแกนกระดูก การวินิจฉัยที่ถูกต้อง ต้องตัดหรือเจาะชินเนื้อมะเร็งมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ บางรายอาจต้องมีการย้อมพิเศษเพิ่มเติม

การรักษา
1.การผ่าตัด
     เป็นวิธีการรักษาหลักสำหรับการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่เป็นเฉพาะที่ซึ่งยังอยู่ในระยะที่ผ่าตัดได้ ศัลยแพทย์มีความสำคัญมากต่อผลของการรักษาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารมาก หมอผ่าตัดมีความชำนาญในการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีผู้ป่วยน้อยกว่า ส่งผลให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาที่ดีกว่าหลายๆ  ประเทศ
     ในยุโรปมีการศึกษาว่าศัลยแพทย์เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือไม่ โดยส่งศัลยแพทย์จากยุโรปไปฝึกฝนการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารที่ประเทศญี่ปุ่น และกลับไปประเทศของตนเอง พบว่าผลการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหาดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหารด้วยวิธีการผ่าตัด ถ้าผ่าตัดโดยแพทย์ที่ชำนาญจะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น

               มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 1   มีอัตรารอดชีวิตที่ 5 หลังการผ่าตัดร้อยละ 70
               มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 2   มีอัตรารอดชีวิตที่ 5 หลังการผ่าตัดร้อยละ 30-40
               มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 3   ผ่าตัดได้หมด มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี เพียงร้อยละ 15 เท่านั้น
               มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ 4   ผ่าตัดไม่ได้ มีอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี น้อยกว่าร้อยละ 5

2.รังสีรักษา
      ปัจจุบันนี้รังสีรักษามีข้อบ่งชี้ในการให้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเสริมภายหลังการผ่าตัด มะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่เป็นเฉพาะที่ โดยสามารถลดการกลับเป็นซ้ำของโรคภายหลังการผ่าตัดและยืดชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่าผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

3.เคมีบำบัด
     การวิเคราะห์ผลจากการวิจัยต่างๆ (meta-analysis) พบว่ายาเคมีบำบัดเสริมพลังการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหาร มีประโยชน์ในการป้องกันการกลับเห็นซ้ำของโรค   การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาภายหลังการผ่าตัดสามรถป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่เป็นมาก เช่น มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง (N1)หรือลุกลามไปถึงผิวนอกของกระเพาะอาหาร(T3)

     มีการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พบว่าถ้าไห้ยาเคมีบำบัดก่อนผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหาร มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคดีกว่าการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว (Magic Trial)

     การศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นโดยนายแพทย์ชินอิจิ สาคูราโมโต พบว่าถ้าให้ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน(ยาS-1) ภายหลังการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารระยะที่ II และII I จำนวน 529 คน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเสริมภายหลังการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ผ่าตัดอย่างเดียว

     เคมีบำบัด ซึ่งมีทั้งยาเคมีบำบัดแบบรับประทานและแบบฉีด ถ้าใช้ยาเคมีบำบัด 3 ชนิดร่วมกัน เช่น ยา cisplstin, 5-FU, docetaxel จะเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาดีกว่าการใช้ยาเพิ่ม 2 ชนิด แต่จะมีผลข้างเคียงสูงกว่าโดยเฉพาะผลต่อไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำติดเชื้อง่าย หรือเกล็ดเลือดทำให้เลือดออกง่าย ยาชนิดรับประทานมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาฉีด แต่จะมีอัตราการตอบสนองต่ำกว่า
 

รับข้อมูลมะเร็งกระเพาะอาหารและการดูแลอย่างละเอียด คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078-9

 

หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ความรู้มะเร็ง
การดูแลผู้ป่วย
การรักษามะเร็ง

ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011

Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้