วันที่ 14-10-2010 | อ่าน : 159274
การดูแลผู้ป่วยมีทวารเทียมทางหน้าท้อง
การผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายจากปกติให้มาถ่ายออกที่บริเวณหน้าท้อง สามารถทำได้ทั้งช่องขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ โดยนำส่วนของลำไส้มาทำเป็นรูเปิดที่เรียกว่า สโตมา (Stoma) หรือทวารใหม่ ทวารชนิดนี้ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้เนื่องจากไม่มีหูรูด ดังนั้นจึงต้องใช้ถุงรองรับ
การผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง (Fecal diversion)
การผ่าตัดเอาลำไส้มาเปิดออกทางหน้าท้องเพื่อให้เป็นทางออกของอุจจาระ มักทำในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่ลำไส้ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก การติดเชื้อที่ทำให้ลำไส้เกิดเนื้อตาย (Ulcerative colitis and Crohn’s disease) การมีถุงยื่นออกมาร่วมกับมีการอักเสบร่วมกับลำไส้ใหญ่ (Diverticulitis) การมีติ่งเนื้อในลำไส้ (Familial polyposis) การได้รับบาดเจ็บบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนัก การอุดตันของลำไส้ใหญ่จากลำไส้กลืนกัน (Volvulus) การอักเสบของลำไส้ใหญ่จากการได้รับรังสีรักษา เป็นต้น
2. อิลิออสโตมีย์ (Ileostomy) เป็นทวารหนักชนิดลำไส้เล็ก ลำไส้ที่นำมาเปิดเป็นสโตมาจะเป็นส่วนปลายของลำไส้เล็ก (Ileum) อยู่ที่หน้าท้องส่วนล่างด้านขวา มีทั้งชนิดที่เป็นรูเปิดเดียว (end ileostomy) และ 2 รูเปิด (loop ileostomy) ส่วนใหญ่เปิดเป็น loop ileostomy เป็นสโตมาที่เปิดชั่วคราว ลักษณะของอุจจาระที่ออกจะเป็นน้ำ (Watery stool) มีกลิ่นอุจจาระเล็กน้อย แต่มีฤทธิ์ของความเป็นด่างสูงมาก ซึ่งสามารถทำลายผิวหนังได้ นอกจากนี้ผู้ที่มี Ileostomy มักพบว่าเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำและเกลือโซเดียม เพราะร่างกายมีการขับน้ำและเกลือโซเดียมออกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการดูดกลับของน้ำและเกลือโซเดียมที่ลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้บริเวณลำไส้เล็กส่วนปลายยังเป็นบริเวณที่ดูดซึมเกลือน้ำดี (bile salts) และวิตามินบี 12 ทำให้ผู้ป่วยเกิดการดูดซึมไขมันผิดปกติ (fat malabsorbtion) จากการที่มีความผิดปกติของการดูดซึมกลับของน้ำดี และเกิดภาวะซีด (pernicious anemia) จากการดูดซึมวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ
การผ่าตัดเปลี่ยนช่องทางขับถ่ายปัสสาวะ(Urinary diversion)
สโตมาที่ใช้เป็นช่องขับถ่ายปัสสาวะเรียกว่า Ileal conduit หรือ ทวารเบาใหม่ โดยนำเอาลำไส้เล็กส่วนปลายประมาณ 10-15 เซนติเมตร มาทำเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ แล้วนำท่อไต (ureters) ทั้ง 2 ข้าง เย็บต่อเข้ากับลำไส้เล็ก สโตมาจะอยู่ที่หน้าท้องส่วนล่างด้านขวา เป็นสโตมาที่เปิดถาวร มักทำในผู้ป่วยที่เป็น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (cancer of bladder) กระเพาะปัสสาวะหดรัดตัวผิดปกติ มีความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะแต่กำเนิด อุบัติเหตุกระเพาะปัสสาวะแตก มีรูทะลุระหว่างลำไส้ตรงกับช่องคลอด (rectrovagina fistula) จากการได้รับรังสีรักษา เป็นต้น ปกติปัสสาวะจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ (pH 5-6) น้ำปัสสาวะที่ขับออกจากสโตมาจะมีเมือกปนลักษณะสีขาวขุ่นไม่มีกลิ่น เป็นเมือกที่ขับจากลำไส้ที่นำมาเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ถือว่าปกติ
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดเปิดลำไส้ทางหน้าท้อง
• หลังผ่าตัดประมาณ 7-10 วัน แผลที่บริเวณ stoma ก็จะแห้งสนิท และระบบขับถ่ายอุจจาระก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน ผู้ป่วยจึงสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามเหมือนเดิม
• หลังผ่าตัด 6–8 เดือน สามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่หักโหมรุนแรง และ ไม่ควรยกของหนักเพราะอาจเป็นสาเหตุการเกิดไส้เลื่อนได้
• รับประทานอาหารได้ทุกประเภท ยกเว้นบางโรคที่ต้องควบคุมการรับประทานอาหาร เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคตับ โรคไต ความดันโลหิตสูง
• ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สและกลิ่น เช่น ถั่ว สะตอ ชะอม น้ำอัดลม เบียร์ เป็นต้น แต่ผลิตภัณท์บางชนิดมีตัวช่วยเก็บกลิ่นด้วย
• ควรดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 6–8 แก้ว หลีกเลี่ยงปัญหาท้องผูก
• การมีเลือดออกเล็กน้อยไม่ต้องตกใจ เพราะอาจเกิดจากการทำความสะอาดที่บ่อยหรือแรงเกินไป
• การผ่าตัดไม่ได้ลดความต้องการทางเพศแต่อย่างใด ขึ้นกับการแสดงออกและความเข้าใจซึ่งกันและกัน
อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ คือ
1. ผิวหนังรอบทวารเทียมอักเสบหรือเกิดแผลเปื่อยจากอุจจาระสัมผัสบริเวณผิวหนัง สาเหตุจากการปิดถุงที่ไม่พอดีหรือตำแหน่งทวารเทียมไม่เหมาะสม ทำให้เกิดมีรอยรั่วซึมของอุจจาระ หรือ ใช้สบู่ที่มีฤทธิ์แรงทำความสะอาด รวมทั้งการแพ้กาวจากถุงรองรับ อุจจาระ
2. ลำไส้ที่ทำทวารเทียมตีบแคบ บวม หรือ มีสีดำคล้ำ
3. ไส้เลื่อน หรือ ลำไส้ยื่นออกมามากผิดปกติ
4. เลือดออกมาก
5. ท้องเสียรุนแรง อุจจาระเหม็นผิดปกติ
6. ท้องผูก ไม่ถ่ายอุจจาระ ท้องอืด อาเจียน
ในผู้ป่วยที่ต้องทำการผ่าตัดมีทวารเทียม มักมีความเครียดและมีความวิตกกังวลเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตนเอง อาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกิจวัตรประจำวัน การใช้ชีวิตในสังคม และอาจกระทบถึงบทบาทและสัมพันธภาพในครอบครัว แต่ถ้าผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทวารเทียมและการดูแลทวารเทียม อีกทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากบุคคลใกล้ชิดโดยการพูดเชิงบวก การไม่แสดงท่าทีรังเกียจจะสามารถสร้างกำลังใจที่ดีให้แก่ผู้ป่วยให้รับรู้ได้ถึงความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ยังเป็นที่รักและต้องการของบุคคลรอบข้างจะทำให้สามารถปรับตัวยอมรับสถานการณ์และโรคที่กำลังเผชิญอยู่ได้
รับข้อมูลเพิ่มเติมฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้