วันที่ 25-08-2010 | อ่าน : 56100
การตรวจเอ๊กซเรย์ปอด
จากสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่า คนไทยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น และเพศหญิงเป็นมะเร็งปอดมากขึ้นกว่าเดิมโดยมากเป็นหญิงในวัยกลางคน แม้ว่าเป็นคนไม่สูบบุหรี่ มะเร็งปอดมักตรวจพบโดยการตรวจสุขภาพประจำปี คือ ถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด ซึ่งการ X-rays (Radiography) เป็นการตรวจทางรังสีโดยใช้ x-ray ซึ่งจัดเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic waves) ที่มีคุณสมบัติทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปยังอวัยวะภายในแตกต่างกัน จึงนำมาใช้เพื่อช่วยตรวจหารอยโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายในระยะเริ่มต้น (early stage) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวินิจฉัยโรคและการพยากรณ์โรค (prognosis)
การเตรียมตัวผู้ป่วยเพื่อการตรวจทางรังสี
(Preparation of the patients for general x-rays examination)
การเอ็กซเรย์ปอดไม่มีการเตรียมตัวเป็นกรณีพิเศษ เหมือนกับการตรวจโดย PET (Position Emission Tomography) เพียงแต่ผู้ป่วยต้องถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะต่างๆ ออกจากร่างกายก่อน เช่น สร้อยคอ เข็มกลัด และเปลี่ยนเป็นชุดที่จัดไว้
การถ่ายภาพรังสีปอดจะทำในขณะที่หายใจเข้าเต็มที่ โดยผู้ป่วยต้องยืนตรงให้บริเวณหน้าอกชิดกับกล่องฟิล์ม เครื่องฉายเอกซเรย์อยู่ทางด้านหลังห่างออกไปประมาณ 2 เมตร เพื่อให้ลำแสงเอกซเรย์ผ่านเข้าสู่ร่างกายทางด้านหลัง (posterior) และทะลุออกไปทางด้านหน้า (anterior) ซึ่งเป็นท่าปกติที่ใช้ในการถ่ายภาพเอกซเรย์ของปอด
ภาพของอวัยวะที่ปรากฎบนฟิล์ม จะเป็นเงาสีขาว สีดำ หรือสีเทา ขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดกลืนรังสีของอวัยวะเมื่อรังสีฉายผ่านอวัยวะของร่างกายไปถึงฟิล์ม ซึ่งความขาว-ดำ ที่ปรากฏบนฟิล์มมีลักษณะต่าง ๆ ได้แก่
1. อากาศหรือแก๊ส รังสีเอ็กซจะทะลุผ่านอากาศได้ดีที่สุด ซึ่งเงาของเนื้อเยื่อปอดจะเป็นเงาดำมากหรือน้อยขึ้นกับอากาศที่บรรจุอยู่ภายในหลอดลมและถุงลม ตามปกติปอดซ้ายและขวามักจะดำใกล้เคียงกัน
2. ไขมัน จะเห็นเป็นเงาสีเทาค่อนข้างดำ
3. เนื้อเยื่อ (solf-tissue) ได้แก่ กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นน้ำเหลือง จะเห็นเป็นเงาสีเทา และเนื่องจากเนื้อเยื่อต่าง ๆ เหล่านี้ดูดกลืนรังสีเอ็กซในปริมาณค่อนข้างเท่ากัน ดังนั้นจึงไม่สามารถแยกอวัยวะที่เป็นเนื้อเยื่อออกจากกันได้
4. อวัยวะที่มีแคลเซียมมาเกาะ เช่น กระดูกซี่โครง กระดูกสะบัก กระดูกสันหลัง รังสีเอ็กซจะทะลุผ่านได้น้อยที่สุด อวัยวะเหล่านี้จึงดูดกลืนรังสีไว้มากที่สุดจึงเห็นเป็นเงาสีขาว
โดยสรุปภาพเอกซเรย์ทรวงอกจะต้องเห็นเนื้อเยื่อปอด ขอบเขตของหัวใจและกระบังลม ซึ่งภาพเอกซเรย์มีส่วนสำคัญต่อการวินิจฉัยโรค ถ้าเป็นมะเร็งปอดจะพบเงาเป็นก้อนเล็กๆ ในปอด โดยไม่มีอาการไอ หรือไอเป็นเลือด หรือน้ำหนักลด การรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่มะเร็งจะเติบโตแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ จะมีโอกาสหายได้มาก
ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ฟรี คลิกที่นี่ หรือโทร 02-6640078
หากมีปัญหาสุขภาพผู้ป่วยมะเร็ง เราคืออีกหนึ่งทางออก ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อีกครั้ง ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โปรดคลิก inbox Facebook ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย 213/5 อาคารอโศกทาวเวอร์ ชั้น 6 ถ.สุขุมวิท 21(อโศก) แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 1011
Copyright © 2021 www.siamca.com ขอสงวนสิทธิ์ ในการนำรูปภาพ หรือ ข้อความในเว็บไซต์ ไปเผยแพร่ หรือ ทำซ้ำ จะต้องได้รับการอนุญาตก่อนจึงจะกระทำได้